สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 13 พ.ค. ว่า สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (โอซีเอชเอ) ออกรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์ของไซโคลนโมคา ว่าเป็นพายุลูกแรกที่จะขึ้นฝั่งเมียนมา ในฤดูมรสุมปีนี้ ประชาชนประมาณ 6 ล้านคน อาศัยอยู่บนเส้นทางผ่านของพายุ ในรัฐยะไข่ รัฐชิน ภูมิภาคมะเกว และภูมิภาคสะกาย ซึ่งล้วนเป็นพื้นที่ต้องได้รับความสนับสนุนด้านมนุษยธรรมจากหลายฝ่ายเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว


ขณะที่เฉพาะในรัฐยะไข่ ประชาชนมากกว่า 230,000 คน อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำ ซึ่งเป็นแนวพื้นที่เสี่ยงได้รับอันตรายจากคลื่นพายุซัดฝั่ง ซึ่งมีการประเมินว่า อาจมีความสูงถึง 4 เมตร แม้มีรายงานว่า รัฐบาลทหารเมียนมาอพยพประชาชนตามแนวพื้นที่เสี่ยง แต่ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า มีการอพยพแล้วจำนวนเท่าใด

ชาวบังกลาเทศรวมตัวที่ชายหาดแห่งหนึ่ง ในเมืองค็อกซ์ บาซาร์ ก่อนไซโคลน “โมคา” ขึ้นฝั่ง


ย้อนกลับไปเมื่อปี 2551 เมียนมาเผชิญกับอิทธิพลรุนแรงของไซโคลน “นาร์กิส” ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 130,000 ราย และความเสียหายซึ่งเกิดขึ้นเป็นวงกว้าง กดดันรัฐบาลทหารเมียนมา ให้ต้องประกาศขอรับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากประชาคมโลก


ทั้งนี้ ไซโคลนโมคามีแนวโน้มขึ้นฝั่งในวันอาทิตย์ที่ 14 พ.ค. นี้ ระหว่างเมืองค็อกซ์ บาซาร์ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของบังกลาเทศ กับเมืองซิตตเว เมืองเอกของรัฐยะไข่ ที่อยู่ทางตะวันตกของเมียนมา

ด้านรัฐบาลบังกลาเทศอพยพชาวโรฮีนจาซึ่งอาศัยอยู่ใน “พื้นที่เสี่ยง” ท่ามกลางความวิตกกังวลของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ว่าอิทธิพลของไซโคลนโมคา อาจรุนแรงยิ่งกว่าเมื่อครั้งไซโคลน “ซิดร์” พาดผ่าน เมื่อเดือน พ.ย. 2550 คร่าชีวิตประชาชนมากกว่า 3,000 ราย.

เครดิตภาพ : AFP