ร่าง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต ฉบับที่ … พ.ศ. …. หรือที่เรียกกันติดปากว่า “ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า” ตามที่ นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล พยายามผลักดันให้ผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้มีการผลิตสุรา เบียร์ ได้อย่างเสรีและถูกกฎหมาย โดยภาครัฐควรยกเลิกข้อจำกัดในเรื่อง 5 แรงม้า 7 แรงคน รวมทั้งเงื่อนไขเรื่องทุนจดทะเบียน และกำลังการผลิตต่อปี เพื่อกระตุ้นให้มีการสร้างงาน สร้างรายได้ ให้คนที่มีทุนรอนน้อยได้มีช่องทางลืมตาอ้าปาก และรัฐจะเก็บภาษีได้มากขึ้น

วันนี้ทีมข่าว Special Report มีโอกาสคุยต่อเนื่องกับ ผศ.ดร.เจริญ เจริญชัย อาจารย์ประจำสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กล่าวว่า ตลาดสุรา เบียร์ประเทศไทย ถือว่ามีมูลค่าใหญ่มาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของผู้ประกอบการรายใหญ่เพียงไม่กี่ยี่ห้อที่เราทราบกันดีอยู่แล้ว ส่วนรายย่อย ๆ รายเล็ก ๆ หรือสุราชุมชน รวมกันทั่วประเทศน่าจะมีประมาณ 4,000 ราย

ตลาดใหญ่คือสุราขาว-สาโทเหลือน้อย

โดยตลาด “สุราขาว” มีขนาดใหญ่ที่สุด คนทั่วไปอาจจะนึกว่าตลาดใหญ่คือ “เบียร์” แต่จริง ๆ แล้วคือสุราขาว เพราะชาวบ้านและผู้ใช้แรงงานดื่มสุราขาวกันมากกว่า ดังนั้นผู้ประกอบการในบ้านเราจึงผลิตสุราขาว (สุราขาวกลั่น) กันเป็นส่วนใหญ่ ส่วน “สาโท” ยังพอมีบ้าง แต่เหลือน้อยลง เนื่องจากขายไม่ค่อยได้ และเสียเร็ว

ส่วนในเรื่องของ “ไวน์” นั้นเข้ามาตอนหลัง และไวน์ไม่ถือว่าเป็นภูมิปัญหาท้องถิ่น แต่มีนักวิชาการเข้าไปสอน เข้าไปแนะนำ จึงเริ่มมีการผลิตไวน์ชุมชนออกมาบ้าง ซึ่งอันที่จริงไวน์ต้องทำจากองุ่น แต่ไวน์ที่เราเห็นทำจากผลไม้อื่น ๆ มากมายไปหมด ซึ่งมันไม่ใช่ เพราะเป็นแค่ไวน์เติมกรด เติมน้ำ และน้ำตาล กลายเป็นน้ำตาลละลายน้ำผสมกรด คนดื่มก็คาดหวังสูงว่านี่คือไวน์ แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่ เพราะไวน์ต้องทำจากองุ่น ซึ่งต้องใช้เวลาในการหมักพอสมควร

สำหรับ “เบียร์” ที่ผลิตในบ้านเรา นอกจากเป็นโรงงานผลิตเบียร์ของนายทุนใหญ่ ๆ แล้ว ยังมีร้านอาหารขนาดใหญ่ (โรงเบียร์)  ที่สามารถขออนุญาตผลิตเบียร์ได้ เพื่อใช้สำหรับดื่ม-ขาย ภายในบริเวณร้าน และในร้านที่เป็นสาขาเท่านั้น จะผลิตออกไปขายทั่วไป หรือขายให้ร้านอื่นไม่ได้ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องมีทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท และมีกำลังผลิต 100,000 ลิตรต่อปี

โดยเงื่อนไขแบบนี้ คนที่ไม่มีเงินทุนจึงลำบาก เพราะนอกจากต้องมีทุนจดทะเบียนแล้ว ยังต้องมีเงินลงทุนซื้อถังหมักเบียร์กับวัตถุดิบ ถ้าผลิต 100,000 ลิตรต่อปี จะเอาไปที่ไหน ถ้าไม่เปิดร้านอาหาร (โรงเบียร์) ขนาดใหญ่ เพราะจริง ๆ แล้ว การขายเบียร์ไม่ใช่ว่ามีกำไรมากมาย แต่ตัวทำกำไรให้ร้านอาหารคือการขายอาหาร ดังนั้นจึงต้องขายเบียร์พ่วงไปกับอาหารจึงจะอยู่ได้ ซึ่งคงมีไม่กี่แห่ง

สรรพสามิตตั้งขั้นตอนไว้มากมาย

ผศ.ดร.เจริญ กล่าวต่อไปว่า สำหรับผู้ผลิตรายย่อย รายเล็ก จะมีข้อจำกัดในเรื่องของขนาดเครื่องจักรการผลิตที่ 5 แรงม้า ถ้าเกินจาก 5 แรงม้า ต้องไปขอเป็นใบอนุญาตโรงงาน ซึ่งกรณีนี้ เงื่อนไขของหน่วยงานรัฐก็ขัดแย้งในตัวเอง คือตามกฎหมายของกรมโรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม ถ้าไม่ถึง 50 แรงม้า ยังไม่ต้องขอใบอนุญาตเป็นโรงงาน แต่กรมสรรพสามิตยังไม่ให้ ถ้าเกินจาก 5 แรงม้าเมื่อไหร่ ถือว่าผิด ตรงนี้คือปัญหาของผู้ผลิตรายย่อย และรายเล็ก

ที่สำคัญคือรายย่อย หรือพวกสุราขาวชุมชน มักจะเจอปัญหาการเอารัดเอาเปรียบ ถูกตัดช่องทางการจำหน่าย และมีเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจบ่อย ๆ ถ้าผิดต้องเสียค่าปรับสูง ประเภทที่ว่าการทำบัญชีต้องตรงระหว่างปริมาณการผลิต กับปริมาณการขาย ถ้าไม่ตรงกันอาจจะมีข้อครหาว่าเป็นสุราเถื่อน โดยเรื่องเหล่านี้เป็นปัญหาใหญ่มาก เพราะชาวบ้านไม่รู้เรื่องบัญชี สุดท้ายก็ต้องถูกจับและเสียค่าปรับสูง ๆ

ดังนั้นจึงถึงเวลาที่คนไทยสามารถผลิตสุรา เบียร์ ได้อย่างเสรีและถูกกฎหมาย ผ่านร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว และหน่วยงานรัฐต้องปลดล็อคเงื่อนไขต่าง ๆ ออกไป ทั้งเรื่องแรงม้า กำลังการผลิต และทุนจดทะเบียน เมื่อปลดล็อกแล้วคนที่สนใจก้าวมาสู่ธุรกิจนี้ เขาจะเป็นผู้กำหนดขนาดการลงทุนของเขาเอง ว่าจะเป็นรายเล็ก-กลาง หรือว่าจะเป็นรายใหญ่

“ที่ผ่านมาคนทำสุราชุมชน คนทำคราฟต์เบียร์ พยายามออกมาเรียกร้องให้มีการแก้กฎกระทรวงต่าง ๆ มานานแล้ว แต่ไม่สำเร็จ เพราะสรรพสามิตตั้งขั้นตอนไว้มากมาย ก็ไม่รู้ว่าเพราะอะไร ทั้งที่มีผู้ประกอบการระดับกลาง ๆ และรายย่อย สามารถผลิตสุรา เบียร์ที่มีคุณภาพได้ แต่เมื่อบ้านเรามีเงื่อนไข มีข้อจำกัดมาก เขาก็ต้องออกไปผลิตที่เวียดนาม และกัมพูชา แล้วส่งเป็นเบียร์นำเข้า เพราะหน่วยงานราชการไม่อำนวยความสะดวกให้เขา จึงต้องออกไปผลิตกันในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งที่เรื่องเหล่านี้ควรส่งเสริมให้มีการผลิตในบ้านเรา และการเก็บภาษีจะทำได้อย่างไม่ยากเย็น” ผศ.ดร.เจริญ กล่าว

ปลดล็อกใส่ “ขวด-ถัง” ออกไปขายได้!

ทางด้าน นายณัฐชัย อึ๊งศรีวงศ์ ผู้ร่วมก่อตั้งโรงเบียร์มิตรสัมพันธ์ ย่านปากเกร็ด จ.นนทบุรี กล่าวว่า ที่ร้านได้ขออนุญาตผลิตคราฟต์เบียร์อย่างถูกต้อง ด้วยการระดมทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท ใช้เงินลงทุนซื้ออุปกรณ์และวัตถุดิบไปอีกเกือบ 10 ล้านบาท แต่ร้านเพิ่งเปิดได้ประมาณ 2 ปี เปิดได้ไม่นานก็เจอล็อกดาวน์โควิด-19 เจอล็อกดาวน์มา 2-3 ครั้งแล้ว มันก็เหนื่อย เนื่องจากคราฟต์เบียร์ที่ผลิตได้ ต้องดื่มและขายอยู่ในร้านเท่านั้น ถ้าไม่มีร้านสาขาของเราเองก็ลำบาก จะเอามาใส่ขวด ใส่ถังขนออกไปส่งร้านข้างนอกก็ไม่ได้ จึงอยากให้ปลดล็อกตรงนี้บ้าง 

นี่คือข้อจำกัดของคนทำเบียร์ จะทำโฆษณาก็ไม่ได้ ตรงนี้จึงอยากให้ภาครัฐเห็นใจคนทำธุรกิจประเภทนี้มีมากพอสมควร ถ้ากฎระเบียบและเงื่อนไขต่าง ๆ มันเอื้ออำนวยช่วยผู้ประกอบการ เพราะถ้าร้านเล็ก ๆ ขายคราฟต์เบียร์อย่างเดียว อยู่ไม่ได้แน่นอน เนื่องจากได้กำไรน้อย ต้องขายเบียร์พ่วงไปกับอาหารถึงจะอยู่ได้ ทุกวันนี้พวกเราจึงหวังร่าง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตฯ ที่ผลักดันโดย ส.ส.เท่าพิภพ จะผ่านการพิจารณาในทุกขั้นตอน.

มุมมองคนทำ “เบียร์” แล้วถูกจับ! ดันร่าง “พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า” (ตอนที่ 1)