วันสำคัญทางพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นวันแรกในปีพุทธศักราช 2565 นี้ คือ วันมาฆบูชา ซึ่งกำลังจะเวียนมาถึงในอีกวาระหนึ่งกลางสัปดาห์หน้า ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ตามปฏิทินจันทรคติ และตรงกับวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2565 ตามปฏิทินสุริยคติ ความสำคัญของวันมาฆบูชาเป็นวันที่ชาวพุทธน้อมระลึกถึงพระบรมศาสดา พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณในความจริงอันถึงที่สุด (อริยสัจธรรม) โดยพระองค์เอง ด้วยพระปัญญาคุณและพระบริสุทธิคุณที่ทรงบำเพ็ญพระบารมีมาเป็นเวลา 4 อสงไขยแสนกัป และทรงมีพระมหากรุณาคุณแสดงพระธรรมตลอด 45 พรรษาหลังการตรัสรู้ เพื่อให้สัตว์โลกพ้นทุกข์จากการเวียนว่ายตายเกิด (สังสารวัฏ)
วันมาฆะในครั้งพุทธกาลเป็นวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 3 เมื่อ 44 ปีก่อนพุทธศักราช เรียกว่า วันจาตุรงคสันนิบาต ซึ่งในวันมาฆะเกิดเหตุการณ์สำคัญ 4 ประการ ได้แก่
1. เป็นวันอุโบสถขึ้น 15 ค่ำ ประกอบด้วยมาฆนักษัตร
2. ภิกษุ 1,250 รูป มาประชุมพร้อมเพรียงกันโดยมิได้นัดหมาย
3. ภิกษุทั้ง 1,250 รูป ที่มาประชุมกันล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้ได้อภิญญา 6
4. ภิกษุทั้ง 1,250 รูป ได้รับการอุปสมบทจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า (เอหิภิกขุอุปสัมปทา)
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า “เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวไว้ดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อกระทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด”
หลักคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นคำสอนอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ได้แก่ พระพุทธพจน์ 3 คาถากึ่ง ที่พระสัมมาพุทธเจ้าตรัสแก่พระอรหันต์ ณ พระเวฬุวนาราม ว่า การไม่ทำความชั่วทั้งปวง 1 การบำเพ็ญแต่ความดี 1 การทำจิตใจให้ผ่องใส 1
พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสว่า นิพพานเป็นบรมธรรม ผู้ทำร้ายคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต ผู้เบียดเบียนคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ การไม่กล่าวร้าย 1 การไม่ทำร้าย 1 ความสำรวมในปาฏิโมกข์ 1 ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร 1 ที่นั่งนอนอันสงัด 1 ความเพียรในอธิจิตต์ 1 นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ขันติ เป็นตบะอย่างยิ่ง
ชาวพุทธพึงทราบว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของผู้มีปัญญา ตรัสรู้ด้วยพระปัญญาคุณและพระบริสุทธิคุณโดยพระองค์เองของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปัญญาของชาวพุทธจะเกิดขึ้นได้นั้นจากการ มีปัญญาด้วยการฟังธรรม (สุตามยปัญญา) ด้วยการพิจารณาไตร่ตรอง (จิตตามยปัญญา) ด้วย การอบรม (ภาวนามยปัญญา) หากเป็นผู้ที่มีการศึกษาพระธรรมและมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องก็จะเป็นผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนาที่ประกอบด้วยปัญญา ในทางกลับกัน หากเป็นชาวพุทธผู้ที่ไม่มีการศึกษาพระธรรมก็เป็นผู้ที่มีความไม่รู้ (อวิชชา) และมีความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ) ในประการต่างๆ ซึ่งในเบื้องต้นมีความเห็นผิดเข้าใจว่า มีตัวตน (อัตตา) แต่แท้ที่จริงแล้วพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาเดียวในโลกที่สอนให้รู้ว่า ไม่มีตัวตน (อนัตตา) เป็นไปตามหลักไตรลักษณ์ ซึ่งมีสามัญลักษณะ 3 ประการ ได้แก่ ไม่เที่ยง (อนิจจัง) เป็นทุกข์ (ทุกขัง) ไม่ใช่ตัวตน (อนัตตา) กล่าวคือ สภาพใดเกิด สภาพนั้นดับ ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน เป็นทุกข์ บังคับบัญชาไม่ได้
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงความจริงอันถึงที่สุดดังพระพุทธพจน์ที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก มีความว่า
“สังขารทั้งหลายทั้งปวง ไม่เที่ยง (สัพเพ สังขารา อนิจจา)
สังขารทั้งหลายทั้งปวง เป็นทุกข์ (สัพเพ สังขารา ทุกขา)
ธรรมะทั้งหลายทั้งปวง เป็นอนัตตา (สัพเพ ธรรมา อนัตตา)”
ขันติเป็นสภาพธรรมฝ่ายดี มีความอดทน อดกลั้น เป็นกุศลธรรมเผาบาป ขณะที่มีขันติ ขณะนั้นเผาอกุศลธรรม เช่น ความโกรธ ถ้าโกรธผู้อื่นก็เป็นผู้ที่ไม่มีความอดทน อดกลั้น เท่ากับตนทำร้ายตนเอง ไม่ใช่ผู้อื่นทำร้ายตน พึงเห็นว่า ขันติเป็นกุศลธรรมที่ควรอบรมให้มีขึ้น ด้วยการเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะมีปัญญาเข้าใจความจริง จึงเป็นผู้ไม่มักโกรธ อดทนต่ออารมณ์ที่มากระทบ อดทนต่ออกุศลธรรมของผู้อื่น อดทนทั้งต่อผลของกุศลกรรม คือ เมื่อได้สิ่งที่น่าปรารถนา น่าพอใจ ก็อดทนได้ ไม่เพลิดเพลินมัวเมาด้วยความโลภ และอดทนต่อผลของอกุศลกรรม คือ เมื่อประสบกับสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าพอใจ ก็อดทนได้ ไม่หวั่นไหวไปด้วยความโกรธ บุคคลผู้ที่อดทนอดกลั้นได้อย่างแท้จริง ก็เพราะมีปัญญานั่นเอง
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุปมาความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องซึ่งเป็นปัญญาของบุคคล ๔ จำพวกกับดอกบัว ๔ เหล่า ดังนี้
๑. บุคคลที่มีความเห็นถูก มีความเฉลียวฉลาด เมื่อได้ฟังธรรมก็มีความเข้าใจอย่างรวดเร็วเพราะมีการสะสมความรู้ความเข้าใจในพระธรรมที่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน การสะสมความเข้าใจซึ่งเป็นปัญญาที่มีกำลังมากก็จะเข้าใจความจริงอันถึงที่สุดซึ่งเป็นความจริงอันประเสริฐ (อริยสัจ ๔) อย่างรวดเร็ว อุปมาดุจดังดอกบัวที่อยู่พ้นน้ำเมื่อได้รับแสงอาทิตย์ก็เบ่งบานทันที
๒. บุคคลที่มีความเห็นถูก มีความเฉลียวฉลาด เมื่อได้ฟังธรรมก็มีความเข้าใจตามลำดับขั้นของการสะสมความรู้ความเข้าใจในอดีตชาติ เมื่อได้ฟังธรรมตามกาลในปัจจุบันชาติก็มีระดับปัญญาเพิ่มขึ้น และสามารถบรรลุธรรมได้ในกาลไม่นานต่อไป อุปมาดุจดังดอกบัวที่อยู่ปริ่มน้ำซึ่งจะรอคอยวันบานในวันพรุ่ง
๓. บุคคลที่มีการสะสมความรู้ความเข้าใจในพระธรรมมาบ้างในอดีตชาติ เมื่อได้ฟังพระธรรมเพิ่มเติมในปัจจุบันชาติก็มีความสนใจที่จะฟังธรรมต่อเนื่องเพราะเห็นประโยชน์ จนทำให้สามารถบรรลุธรรมได้ในชาตินั้น อุปมาดุจดังดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำรอโอกาสจะขึ้นมาอยู่ในระดับปริ่มน้ำ รอวันพ้นน้ำและเบ่งบานต่อไปไม่ช้า
๔. บุคคลที่สะสมความรู้ความเข้าใจมาน้อย หรือไม่เคยสะสมความรู้ความเข้าใจในพระธรรมมาเลย จึงมีความเห็นผิดมาก สนใจฟังธรรมน้อย หรือไม่เห็นประโยชน์ของการฟังธรรม จึงต้องมีการอบรมปัญญาไปอีกหลายๆ ชาติ อุปมาดุจดังดอกบัวที่จมปรักอยู่ใต้โคลนตมยังไม่มีโอกาสงอกเงยขึ้นมาได้ในระยะเวลาอันใกล้ แม้แต่ในชาตินั้น และหากไม่สะสมปัญญาใดๆ เลย ก็เปรียบดังดอกบัวที่เป็นอาหารของปลาและเต่า ไม่มีโอกาสที่จะพ้นน้ำขึ้นมาได้
บทความที่เกี่ยวข้อง :
ภิกษุทุศีลหากินในคราบห่มเหลือง ชาวบ้านชาวเมืองรู้ดี
ภิกษุทุศีลหากินในคราบห่มเหลือง ชาวเมืองรู้ดี ตอน 2
ภิกษุทุศีลหากินในคราบห่มเหลือง ชาวเมืองรู้ดี ตอน 3
…………………………………..
คอลัมน์ : ว่ายทวนน้ำ
โดย “ทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล”
อ่านเพิ่มเติมที่.. แฟนเพจ : สาระจากพระธรรม
ขอบคุณภาพ : Bit Core Tech