สัปดาห์นี้คอลัมน์ “ว่ายทวนน้ำ” ยังคงทำหน้าที่นำเสนอบทความที่เกี่ยวข้องกับการล่วงละเมิดสิกขาบทของภิกษุทุศีลต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่แล้ว โดยนำข้อความจากพระสุตตันตปิฎกและพระวินัยปิฎก ซึ่งเป็นพระธรรมวินัยที่พระบรมศาสดา พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ในเมื่อครั้งพุทธกาลเพื่อให้พุทธบริษัทได้ศึกษาและทำความเข้าใจให้ถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภิกษุผู้ซึ่งมีหน้าที่ศึกษาพระธรรมและอบรมเจริญปัญญาจะได้มีวัตรปฏิบัติอันงดงาม เพื่อมิให้ล่วงละเมิดสิกขาบทด้วยความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องโดยไม่คลาดเคลื่อนไปจากพระธรรมวินัย

การล่วงละเมิดสิกขาบทของภิกษุทุศีลที่ไม่เลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา เป็นการกระทำย่ำยีต่อพระพุทธศาสนาและไม่เคารพยำเกรงต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาด้วยความไม่รู้ (อวิชชา) ที่มีความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ) จึงมีการกระทำทุจริตทั้งทางกาย วาจา ไม่มีความละอายชั่วกลัวบาป หากภิกษุทุศีลรูปใดรู้ตัวว่ามีพฤติการณ์ไม่เหมาะไม่ควรแก่เพศบรรพชิต ควรลาสิกขาจากสมณเพศโดยเร็วพลัน นอกจากจะไม่เป็นที่เคารพของอุบากสกอุบาสิกาแล้ว ยังจะถูกตำหนิติเตียน (โลกวัชชะ) อีกด้วย แม้นจะดื้อดึงไม่ยอมลาสิกขา เป็นอลัชชีผู้ซึ่งไม่มีความละอาย ขอให้รู้ว่าหากสิ้นชีวิตแล้ว จะไปเกิดในทุคติภูมิหรืออบายภูมิอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค มณิจูฬกสูตร มีข้อความดังนี้ “ทองและเงินไม่ควรแก่สมณศากยบุตร สมณศากยบุตร ย่อมไม่ยินดีทองและเงิน สมณศากยบุตรห้ามแก้วและทอง ปราศจากทองและเงิน เรามิได้กล่าวว่า สมณศากยบุตร พึงยินดี พึงแสวงหาทองและเงิน โดยปริยายอะไรเลย”

ภิกษุรูปใด รับเงินและทอง ย่อมผิดพระวินัย ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ สิกขาบทที่ 8 แห่งโกสิยวรรค มีดังนี้ “อนึ่ง ภิกษุใด รับก็ดี ให้รับก็ดี ซึ่งทอง เงิน หรือ ยินดีทอง เงิน อันเขาเก็บไว้ให้ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์”

ความละเอียดที่จะได้พิจารณาตามพระวินัยบัญญัติในสิกขาบทนี้ มีดังนี้

รูปิยะ ภิกษุสำคัญว่าเป็นรูปิยะ รับรูปิยะ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์

รูปิยะ ภิกษุสงสัย รับรูปิยะ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์

รูปิยะ ภิกษุสำคัญว่ามิใช่รูปิยะ รับรูปิยะ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์

คำว่า รูปิยะ ไม่ได้หมายถึงเฉพาะเงินที่จับจ่ายใช้สอยกันได้เท่านั้น ยังหมายรวมถึงสิ่งที่ใช้แทนเงินได้ทั้งหมด ในปัจจุบันนี้ก็จะหลากหลายมาก เช่น เช็ค คูปอง บัตรแทนเงินสด เป็นต้น

ไม่ใช่แต่เฉพาะภิกษุรับเองเท่านั้นที่ผิดพระวินัย แม้ให้ผู้อื่นรับแทน หรือแม้ยินดีเงินทองที่ผู้อื่นเก็บไว้ให้เพื่อตน ก็ผิดพระวินัยด้วย พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ มีข้อความดังนี้ “บทว่า หรือยินดีทองเงินอันเขาเก็บไว้ให้ (อุปนิกฺขิตฺตํ วา สาทิเยยฺย) ความว่า หรือยินดีทองเงินที่เขาเก็บไว้ให้ ด้วยบอกว่า ของนี้ จงเป็นของพระคุณเจ้า ดังนี้ เป็นต้น เป็นนิสสัคคีย์(สิ่งที่จะต้องสละ) ทอง เงินที่เป็นนิสสัคคีย์ ต้องเสียสละในท่ามกลางสงฆ์”

สมันตปาสาทิกา อรรถถาพระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ แสดงไว้ชัดเจนว่า ภิกษุรับเงินทอง เพื่อตนเอง หรือ รับเพื่อผู้อื่น หรือ รับเพื่อสิ่งอื่น ก็ผิดพระวินัยทั้งนั้น มีดังนี้ “ภิกษุจะรับนิสสัคคิยวัตถุ เพื่อประโยชน์ตนเอง หรือเพื่อประโยชน์แก่สงฆ์ คณะบุคคลและเจดีย์ เป็นต้น ย่อมไม่ควร เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้รับเพื่อประโยชน์แก่ตนเอง เป็นทุกกฎแก่ภิกษุผู้รับเพื่อประโยชน์แก่สิ่งที่เหลือ”

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา โรหิณีเถรีคาถา แสดงชัดเจนว่า ภิกษุที่ประพฤติตามพระวินัย ขัดเกลากิเลส ไม่รับเงินทอง ย่อมเป็นที่เคารพเลื่อมใสของพุทธบริษัท มีข้อความดังนี้ “สมณะเหล่านั้น ไม่รับเงิน ไม่รับทอง ไม่รับรูปิยะ ยังชีวิตให้เป็นไปด้วยปัจจัยที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า เพราะเหตุนั้น เหล่าสมณะจึงเป็นที่รักของลูก”

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ มีข้อความดังนี้ “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย มีอยู่ พวกมนุษย์ที่มีศรัทธาเลื่อมใส มนุษย์เหล่านั้น ย่อมมอบเงินและทองไว้ในมือแห่งกัปปิยการกทั้งหลาย สั่งว่า พวกท่านจงจัดของที่ควรถวายแก่พระผู้เป็นเจ้า ด้วยเงินและทองนี้ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ยินดีสิ่งของซึ่งเป็นกัปปิยะ(สมควร)จากเงินและทองนั้น ดูกร ภิกษุทั้งหลาย แต่เราหากล่าวไม่เลยว่า ภิกษุพึงยินดี พึงแสวงหาทองและเงิน โดยปริยายไรๆ”

สมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ มีข้อความดังนี้ “ถ้าใครๆ นำเอาทองและเงินมากล่าวว่า ข้าพเจ้าถวายทองและเงินนี้แก่สงฆ์ ท่านทั้งหลาย จงสร้างอาราม วิหาร เจดีย์ หรือหอฉันเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม ภิกษุจะรับทองและเงินแม้นี้ไม่ควร ในมหาปัจจรี ท่านกล่าวไว้ว่า ด้วยว่า เป็นทุกกฎ แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งผู้รับเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น ก็ถ้าเมื่อภิกษุปฏิเสธว่า ภิกษุทั้งหลายจะรับทองและเงินนี้ ไม่สมควร เขากล่าวว่า ทองและเงินจักอยู่ในมือของพวกช่างไม้หรือพวกกรรมกร ท่านทั้งหลายจงรับทราบการงานที่เขาทำดีและไม่ดีอย่างเดียว ดังนี้แล้ว มอบไว้ในมือพวกช่างไม้หรือพวกกรรมกรเหล่านั้น จึงหลีกไป อย่างนี้ ก็ควร ถ้าแม้เขากล่าวว่า ทองและเงินจักอยู่ในมือของพวกคนของผมเอง หรือว่าจักอยู่ในมือของผมเอง ท่านพึงส่งข่าวไปเพื่อประโยชน์แก่บุคคลผู้ที่เราจะต้องให้ทองและเงินแก่เขาอย่างเดียว แม้อย่างนี้ ก็ควร”

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ โฆฏมุขสูตร มีข้อความที่แสดงว่า เมื่อโฆฏมุขพราหมณ์ได้ฟังคำจริงที่พระอุเทนได้กล่าวแล้ว เกิดเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง ได้กล่าวกับพระอุเทนว่าพระเจ้าอังคราชโปรดพระราชทานกหาปณะ ๕๐๐ เป็นเบี้ยเลี้ยงประจำ จะขอถวายส่วนหนึ่งจากเบี้ยเลี้ยงประจำแก่พระอุเทน พระอุเทนได้กล่าวว่า “การรับทองและเงิน ไม่สมควรแก่อาตมาทั้งหลาย” โฆฏมุขพราหมณ์พอได้ฟังแล้ว ก็กล่าวว่า “ถ้าทองและเงินนั้นไม่สมควร ข้าพเจ้าจะให้สร้างวิหารถวายท่านพระอุเทน” พระอุเทนได้กล่าวว่า “ถ้าท่านปรารถนาจะให้สร้างวิหารถวายอาตมา ก็ขอให้สร้างโรงเลี้ยงถวายแก่สงฆ์ในเมืองปาตลีบุตรเถิด” เมื่อได้ฟังดังนี้ โฆฏมุขพราหมณ์จึงให้สร้างโรงเลี้ยงถวายแก่สงฆ์ในเมืองปาตลีบุตร ด้วยเบี้ยเลี้ยงประจำส่วนนี้ด้วย ด้วยเบี้ยเลี้ยงประจำส่วนอื่นด้วย

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ตายนสูตร มีข้อความดังนี้ “หญ้าคาอันบุคคลจับไม่ดี ย่อมบาดมือนั่นเอง ฉันใด ความเป็นสมณะ อันบุคคลปฏิบัติไม่ดี ย่อมฉุดเข้าไปในนรก ฉันนั้น”

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ มีข้อความดังนี้ “ดูกร โมฆบุรุษ(ผู้ว่างเปล่าจากประโยชน์) การกระทำของเธอนั่น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ไฉน เธอจึงได้รับรูปิยะเล่า การกระทำของเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือ เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว โดยที่แท้ การกระทำของเธอนั่น เป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่างอื่นของชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว”

มหาสมุทเทอัฏฐัจฉริยะ ว่าด้วยความอัศจรรย์ของมหาสมุทร 8 ประการ

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลายในมหาสมุทร มีสิ่งที่น่าอัศจรรย์ไม่เคยปรากฏ 8 ประการ ที่พวกอสูรพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในมหาสมุทร”

อิมัสมิงธัมมวินเยอัฏฐัจฉริยะว่าด้วยความมหัศจรรย์ในพระธรรมวินัย 8 ประการ

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ในธรรมวินัยนี้ มีธรรมที่น่าอัศจรรย์ไม่เคยปรากฏ 8 ประการ ที่พวกภิกษุพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในธรรมวินัยนี้เหมือนกัน”

ใจความสำคัญใน มหาสมุทเทอัฏฐัจฉริยะ ว่าด้วยความอัศจรรย์ของมหาสมุทร และ อิมัสมิงธัมมวินเยอัฏฐัจฉริยะว่าด้วยความมหัศจรรย์ในพระธรรมวินัย ขอสรุปโดยย่อเป็นดังนี้

น้ำในมหาสมุทรมีปกติคงที่ ไม่ล้นฝั่ง ฉันใด สาวกทั้งหลายของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมไม่ละเมิดสิกขาบทที่ทรงบัญญัติไว้ แม้เพราะเหตุแห่งชีวิต นี้เป็นสิ่งและเป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ฉันนั้น

มหาสมุทรเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ขนาดใหญ่ คือ ปลาติมิ ปลาติมิงคละ ปลาติมิติมิงคละ ปลามหาติมิงคละ อสูร นาค คนธรรพ์มีลำตัว 100 โยชน์บ้าง 200 โยชน์บ้าง 300 โยชน์บ้าง 400 โยชน์บ้าง 500 โยชน์บ้าง ธรรมวินัยนี้ก็เป็นที่อยู่ของผู้ใหญ่ คือ พระโสดาบัน บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุโสดาปัตติผล พระสกิทาคามี บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุสกิทาคามิผล พระอนาคามี บุคคคลผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุอนาคามิผล พระอรหันต์ บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุอรหัตตผล เหมือนมหาสมุทรเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ขนาดใหญ่ นี้เป็นสิ่งและเป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ฉันนั้น

มหาสมุทรไม่อยู่ร่วมกับซากศพ ย่อมซัดซากศพขึ้นฝั่งจนถึงบนบกทันที ฉันใด บุคคลใดทุศีลมีบาปธรรม ประพฤติไม่สะอาด น่ารังเกียจ ปกปิดพฤติกรรม ไม่ใช่สมณะแต่ปฏิญญาว่าเป็นสมณะ ไม่ใช่พรหมจารี แต่ปฏิญญาว่าเป็นพรหมจารี เน่าภายใน เปียกชุ่ม เป็นดุจหยากเยื่อ สงฆ์ก็ไม่อยู่ร่วมกับบุคคลนั้น สงฆ์ย่อมประชุมกันนำบุคคลนั้นออกไปทันที แม้บุคคลนั้นจะนั่งอยู่ในท่ามกลางภิกษุสงฆ์ ก็ยังห่างไกลจากสงฆ์ และสงฆ์ก็ห่างไกลจากบุคคลนั้น เหมือนมหาสมุทรไม่อยู่ ร่วมกับซากศพ ย่อมซัดซากศพขึ้นฝั่งจนถึงบนบกทันที นี้เป็นสิ่งและเป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ฉันนั้น

พระธรรมซึ่งเป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีความลึกซึ้ง เห็นยาก เข้าใจยาก เพื่อเป็นการเกื้อกูลต่อพุทธบริษัทให้ได้รับประโยชน์ในการมีความรู้ความเข้าใจในพระธรรมอย่างถูกต้อง ขอแนะนำให้อ่านในเฟสบุ๊คแฟนเพจ : สาระจากพระธรรม ซึ่งมีการโพสท์ข้อความเป็นประจำทุกวัน เพื่อให้ผู้อ่านจะได้สะสมความรู้ความเข้าใจในพระธรรมทีละเล็กทีละน้อย ซึ่งจะส่งผลให้สามารถดำเนินชีวิตประจำวันอย่างเป็นปรกติสุขตามอัตภาพของแต่ละบุคคล

…………………………………..
คอลัมน์ : ว่ายทวนน้ำ
โดย “ทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล”
ภาพจาก : วิกิพีเดีย และ เดลินิวส์
อ่านเพิ่มเติมที่.. แฟนเพจ : สาระจากพระธรรม