ทีมข่าว “Special Report” เกาะติดความเคลื่อนไหวการตัดสินชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลไทยกับบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด ผู้ถือหุ้นในเหมืองทองคำอัครา จ.พิจิตร และเพชรบูรณ์ ของบริษัทอัครา รีซอร์สเซส จํากัด (มหาชน) ซึ่งเลื่อนแล้ว เลื่อนอีกมาหลายครั้ง นับตั้งแต่เดือน ต.ค.64 มาถึงครั้งหลังสุดเมื่อวันที่ 31 ม.ค.65 คงจะชี้ขาดการตัดสินของอนุญาโตตุลาการในต่างประเทศอย่างแน่นอน

หลังจากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม โดยคณะกรรมการแร่ได้อนุมัติให้ต่ออายุประทานบัตร เพื่อการทำเหมืองแร่ทองคำและเงิน ด้วยวิธีการทำเหมืองแร่แบบเหมืองเปิด จำนวน 4 แปลง ให้แก่บริษัท อัคราฯ ในพื้นที่ ต.ท้ายดง อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ และพื้นที่ ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ไปอีก 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ 30 ธ.ค.64-29 ธ.ค.74

นอกจากนี้คณะกรรมการแร่ยังอนุญาตการต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมที่ 1/2551 ให้แก่บริษัทอัคราฯ เพื่อประกอบโลหกรรมแร่ทองคำด้วยวิธีการโลหะวิทยาสารละลาย วิธีการโลหะวิทยาไฟฟ้า วิธีการโลหะวิทยาความร้อน ที่ ต.เขาเจ็ดลูก และ ต.ท้ายดง ออกไปอีก 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 19 ม.ค.65-18 ม.ค.70 โดยให้เหตุผลว่าคำขอต่ออายุประทานบัตรทั้งหมด เป็นคำขอที่บริษัทได้ยื่นไว้ตาม พ.ร.บ.แร่ ปี 2510 และ พ.ร.บ.แร่ ปี 2560 ในพื้นที่ประทานบัตรเดิม

แม้จะให้กันมากมายขนาดนี้ แต่กำหนดการวันที่ 31 ม.ค.65 ที่คนไทยลุ้นว่าจะตัดสินชี้ขาดกันเสียที หลังจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจตามมาตรา 44 สั่งปิดเหมืองทองคำอัครา มาเป็นเวลา 5 ปีแล้ว แต่สุดท้ายคือ “เลื่อน” ออกไปอีก และเป็นการ “เลื่อน” การตัดสินชี้ขาดออกไปอย่างไม่มีกำหนดเสียด้วยสิ!

“คิงส์เกต”ต่อรองให้ยุติดำเนินคดี

ทีมข่าว “Special Report” สืบเสาะหาข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ในกระทรวงอุตสาหกรรม และคนในทำเนียบรัฐบาล เพื่อหาเหตุผลของการ “เลื่อน” ตัดสินชี้ขาดข้อพิพาทออกไปแบบไม่มีกำหนด ว่าเพราะอะไรแน่? สุดท้ายแล้วได้ข้อมูลว่าฝ่าย “คิงส์เกต” ได้ร้องขอให้รัฐบาลไทยยกเลิกการจับกุมดำเนินคดีกับผู้บริหารที่เกี่ยวข้องกับเหมืองทองอัคราในพื้นที่ จ.พิจิตร เพชรบูรณ์ ทั้งหมดทุกคดีที่ผ่านมาให้เรียบร้อยก่อน แล้วจึงมาเจรจาความกันใหม่ โดยเฉพาะเรื่องสิทธิประโยชน์และการจ่ายค่าเสียหายต่างๆ ต้องหยุดไว้ชั่วคราว เพราะทางคิงส์เกตรอให้รัฐบาลไทยช่วยชำระสะสางคดีที่เกี่ยวข้องกับเหมืองทองอัคราให้เสร็จสิ้นก่อน

เจ้าหน้าที่คนหนึ่งเปิดเผยว่างานนี้ทำเอา กูรูด้านกฎหมายของรัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ ถึงกับอารมณ์เสีย! เพราะคาดไม่ถึงว่าคิงส์เกตจะเก็บทุกรายละเอียด โดยเฉพาะกรณีคนของฝ่ายเขาถูกดำเนินคดีต่างๆ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เมื่อคิงส์เกตยื่นเงื่อนไขมาแบบนี้ ฝ่ายรัฐบาลไทยซึ่งตกเป็นเป็นฝ่ายเสียเปรียบอยู่แล้ว และพยายามยื้อที่จะไม่จ่ายค่าเสียหายไม่ต่ำกว่า 24,772 ล้านบาท ให้ทางคิงส์เกต ดังนั้นกูรูด้านกฎหมายของรัฐบาลจึงต้องหาทางออกด้วยการให้ผู้เกี่ยวข้องไปตรวจสอบว่าคดีเกี่ยวกับเหมืองทองอัครามีอะไรบ้าง สำนวนคดีเดินไปถึงไหน ยังอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน อัยการ หรือว่าสำนวนคดีมาถึงศาลแล้ว เพื่อเอาข้อมูลเหล่านี้มาประชุมเพื่อหาข้อสรุปกันอีกครั้ง

ถูกจับตามพ.ร.บ.ป่าไม้ 15 แปลง

จากการตรวจสอบทราบว่า เรื่องที่คิงส์เกตร้องขอให้รัฐบาลไทยเลิกดำเนินคดี น่าจะเป็นกรณีที่เกี่ยวข้องกับการบุกรุกป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติ เนื่องจากในช่วงเดือน ต.ค.63 เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) ร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ และหน่วยเฉพาะกิจปราบปรามพิเศษ (พยัคฆ์ไพร) นำกำลังเข้าตรวจสอบเหมืองทองบริษัทอัคราฯ เกี่ยวกับการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ ใน จ.พิจิตร และเพชรบูรณ์ โดยพบว่ามีการบุกรุกพื้นที่ครอบครองการทำประโยชน์โดยไม่ได้รับอนุญาตและทำลายสาธารณประโยชน์ของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน รวมทั้งหมด 15 แปลง บนเนื้อที่กว่า 73 ไร่

โดยก่อนหน้านั้นเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เคยรวบรวมพยานหลักฐานแจ้งความดำเนินคดีบริษัทอัคราฯ และผู้เกี่ยวข้องตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ร.บ.ทางหลวง และส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบการอนุญาตให้บริษัทอัคราฯ เปลี่ยนแปลงผังโครงการเหมืองแร่โดยมิชอบเพื่อเอื้อประโยชน์ให้บริษัทเอกชนซึ่งมีการชี้มูลไปเมื่อปี 59


แต่สำหรับ 15 คดีเมื่อเดือน ต.ค.63 ไม่เกี่ยวกับคดีเดิม ดังนั้นบก.ปทส.จึงเสนอเรื่องไปยังต้นสังกัดคือกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) ให้ตั้งคณะทำงานสอบสวนเพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพราะกรณี 15 คดีนั้น เป็นไปตามพยานหลักฐานที่กรมป่าไม้รวบรวมหลักฐาน เนื่องจากมีประชาชนได้รับความเดือดร้อนและมาแจ้งความไว้ก่อนแล้ว

ปัญหามาก-อาจโบกมือลาประเทศไทย

สำหรับการกระทำผิดเกี่ยวกับที่ดินของบริษัทฯ รวม 15 แปลง แบ่งเป็นการแปลงประทานบัตรใน อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร บุกรุกผืนป่ารวม 35 ไร่ แปลงประทานบัตรใน อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ 16 ไร่ บ่อกักโลหะกรรมที่ 1 พื้นที่บ้านวังทรายพูนใน บุกรุกป่า 4 ไร่ บ่อกักโลหะกรรมที่ 2 พื้นที่เดียวกัน บุกรุกป่า 3 ไร่ เป็นการกระทำผิด 3 ประการคือ 1.ทำลายถนน ทางสาธารณะที่ไม่ได้ขอใช้ประโยชน์กับกรมป่าไม้ 2.ทำเหมืองแร่ออกนอกพื้นที่ได้รับอนุญาต 3.นำพื้นที่ที่อนุญาตใช้ประโยชน์ไปออกเอกสารสิทธิ

ดังนั้นปัญหาพิพาทระหว่างคิงส์เกตกับรัฐบาลไทย จึงน่าจะกลายเป็น “หนังชีวิต” ต้องดูกันยาวๆว่าฝ่ายรัฐบาลไทย จะยอมอ่อนข้อในเรื่องอะไรบ้าง เพราะตอนนี้ถึงอย่างไรเหมืองทองอัคราก็ยังไม่ได้กลับมาเปิดง่ายๆ เนื่องจากยังมีกลุ่มคนต่างๆพยายามออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านการกลับมาเปิดเหมืองทองอัครา ทั้งในพื้นที่พิจิตร เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก

สุดท้ายแล้วถึงขนาดพูดกันว่า เมื่อข้อขัดแย้งเยอะเหลือเกิน เคลียร์ปัญหาจุดโน้นได้แล้ว ปัญหาไปโผล่จุดนี้อีก ดังนั้นเมื่อได้รับการชำระค่าเสียหายในตัวเลขที่เหมาะสมแล้ว ทางคิงส์เกตอาจตัดสินใจโบกมือลาจากประเทศไทย.