ทีมข่าว “Special Report” ยังติดตามปัญหาการสู้รบระหว่าง “รัสเซีย-ยูเครน” หลังจากเมื่อวานนี้ได้นำเสนอ เรื่องราวความวิตกกังวลเกี่ยวกับการรั่วไหลของกัมมันตรังสีในอากาศจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และการรับมือของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ส่วนวันนี้จะมาต่อกันด้วยเรื่องภูมิหลังของสงคราม การเตรียมการบุกเข้ายูเครน และยุทธวิธีการเผด็จศึกของฝ่ายรัสเซีย ซึ่งเป็นข้อมูลจาก “นายพล” ของกองทัพไทย-วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ภายใต้ชื่อ “MAJ Tango Mike”

ภาพรอยเตอร์ส

การบุกยูเครนของกองทัพรัสเซียภายใต้คำบัญชาของประธานาธิบดีวลาดีเมียร์ ปูติน ได้เปิดฉากท่ามกลางประจักษ์พยานเป็นประชากรทั่วโลกที่เห็นภาพสงครามในทศวรรษที่ 2020s ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์แบบวินาทีต่อวินาที ซึ่งคงมิอาจปฏิเสธได้ว่านี่คือ “สงคราม” อย่างแท้จริงตามนิยามทั้งหลาย เมื่อเป็นการใช้กำลังต่อกันระหว่าง “รัฐอธิปไตย” และ “รัฐอธิปไตย”

เมื่อเป็นดังนั้นการจะทำความเข้าใจกับสงครามในครั้งนี้ รวมไปถึงจุดประสงค์หรือจุดมุ่งหมายของรัสเซียในการแก้ปัญหาด้วยการใช้กำลังทหาร คงต้องย้อนกลับไปตั้งต้นกับวรรคทองจากหนังสือที่ถือได้ว่าเป็นตาราพิชัยสงครามของตะวันตกอันได้แก่ On War ของ Carl von Clausewitz ได้กล่าวไว้ว่า “สงครามเป็นความต่อเนื่องของการดำเนินนโยบายทางการเมืองโดยวิธีอื่นๆ” กล่าวให้สรุปลงอย่างชัดเจนกว่านั้นนั่นคือ “สงครามเป็นเครื่องมือของการเมือง” เพราะฉะนั้นสงครามเป็นเพียงวิธีการ แต่ผลลัพธ์สุดท้ายคือการบรรลุวัตถุประสงค์ทางการเมือง หรือการดำเนินนโยบายนั่นเอง การทำความเข้าใจต่อสงครามยูเครน-รัสเซีย ในครั้งนี้ จึงต้องมองหาผลลัพธ์ (Ends) ทางการเมืองให้ได้ว่าเป็นเช่นไร

ภูมิหลังสงครามยูเครน-รัสเซีย

ปี ค.ศ. 2014 เกิดการชุมนุมประท้วงของขบวนการ Euromaidan ภายในยูเครนอันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงจากรัฐบาล “โปรรัสเซีย” เป็นรัฐบาล “โปรตะวันตก” แทน หลังการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล เกิดการลงมติแยกตัวของเป็นรัฐอิสระไครเมีย ดินแดนที่เป็นฐานทัพเรือสาคัญของรัสเซีย ก่อนที่จะผนวกรวมเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียในเวลาต่อมา และเกิดกลุ่มกบฏ แบ่งแยกดินแดนในภูมิภาคดอนบาส ก่อความไม่สงบและเข้ายึดครองพื้นที่จัดตั้งเป็นสาธารณรัฐประชาชนโดเนสก์และสาธารณรัฐประชาชนลูฮานสก์ การเสียดินแดนไครเมีย และการก่อความไม่สงบที่ได้รับการสนับสนุนจากรัสเซีย ยูเครน พิจารณาทางเลือกทางความมั่นคงเมื่อเผชิญกับภัยคุกคามจากมหาอำนาจที่มีขีดความสามารสูงกว่าได้นั้นจำเป็นต้องหาพันธมิตร หรือเข้าร่วมในระบบพนัธมิตรใดๆ ที่มีหลักความมั่นคงร่วมกัน การเข้าเป็นสมาชิก NATO จึงเป็นผลลัพธ์ที่ยูเครนต้องการเพื่อความมั่นของตนเอง

จากถ้อยแถลงของปูตินในวันเปิดฉาก “การปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” ตามที่เขากล่าวนั้นว่าการปฏิบัติการในครั้งนี้ เป็นไปเพื่อปลดกำลังทหารยูเครน ปราบปรามกลุ่มนีโอนาซี คุ้มครองปกป้องกลุ่มชาติพันธุ์รัสเซียและกลุ่มชนใช้ภาษารัสเซีย จากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่เมื่อพิจารณาจากข้อเรียกร้องของรัสเซีย อันได้แก่การให้ยูเครนและโลกตะวันตก ให้หลักประกันทางความมั่นคงต่อรัสเซียว่ายูเครนจะไม่เข้าเป็นสมาชิก NATO รวมไปถึงให้ยูเครนวางตัวเป็นกลาง ไม่เข้าร่วมกับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด

ทั้งหมดทั้งมวลนี้เมื่อนำหลักการที่ Clausewitz ที่เรากล่าวในข้างต้น จะเห็นได้ว่าเป้าหมายที่รัสเซียต้องการในการณ์นี้คือ การที่รัสเซียปลอดจากภัยคุกคามของ NATO และอาจหมายรวมถึงการที่ยูเครนกลับมาอยู่ใต้ “อาณัติ” ของรัสเซียอีกครั้งหนึ่ง โดยใช้การทำสงครามเพื่อเข้าเปลี่ยนแปลง หรือกดดันให้เกิดการเปลี่ยนจากรัฐบาลโปรตะวันตก เป็นรัฐบาลโปรรัสเซีย เพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุดดังกล่าว

การเตรียมสนามรบ-บุกยูเครน

รัสเซียวางกำลังทหารบกล้อมรอบยูเครนทั้งทางทิศเหนือผ่านทางเบลารุส มุ่งสู่การปิดล้อมกรุงเคียฟ ทิศตะวันออก พร้อมการส่งกำลังเข้าไปในภูมิภาคดอนบาส และทางทิศใต้ จากบริเวณแหลมไครเมีย เพื่อเข้ายึดแนวรบในเมืองทางออกสู่ทะเลดำ มาริอูโปล เคียร์สัน และโอเดซา พร้อมกำลังสนับสนุนทางเรือในเขตทะเลดำ นอกจากนั้นยังมีการเตรียมสนามรบให้พร้อมสำหรับการรุกเข้าสู่ยูเครน อันได้แก่การส่งกำลังทหารรับจ้างเข้าสู่เขตดอนบาส คล้ายกับการส่งกำลังเข้าไปในไครเมียในปี 2014 รวมไปถึงสิ่งที่รัสเซียใช้ร่วมกันกับการใช้กำลังทหารตามแบบ คือการใช้สมรภูมิ Cyber ใน Cyber Domainการโจมตีไซเบอร์นั่นเอง

ปี 2008 สงครามจอร์เจีย-รัสเซีย ปะทุขึ้นภายใต้เป้าประสงค์เดียวกัน คือการไม่ให้จอร์เจียเข้าเป็นสมาชิกของ NATO ในการสงครามดังกล่าว รัสเซียผนวกเอาการโจมตีทางไซเบอร์ เข้ากับการใช้กำลังทหารหลัก โดยเข้าโจมตีเว็บไซต์ และฐานข้อมูลของรัฐบาล รัฐสภา และประธานาธิบดีของจอร์เจีย รวมไปถึงในเวลาต่อมา ยังมีการโจมตีทางไซเบอร์ต่อระบบสาธารณูปโภคของจอร์เจีย เช่น ไฟฟ้า ทำให้เกิดไฟฟ้าดับบริเวณกว้างมาแล้ว

ในสงครามยูเครนครั้งนี้ รัสเซียทำการปล่อย Malware ที่สามารถลบข้อมูลในฐานข้อมูลหลักสำคัญของรัฐบาลยูเครน เพื่อหวังผลให้เกิดความปั่นป่วนในการบริหารงานของระบบราชการยูเครน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น รัสเซียกลับไม่ทำลายระบบโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ต และระบบสื่อสังคมออนไลน์ มีความเป็นไปได้ว่า รัสเซียต้องการใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตในการเผยแพร่ผลสำเร็จในการปฏิบัติการทางทหาร เพื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์ และลดทอนขวัญกำลังใจของยูเครน ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบในมุมกลับ ทำให้ยูเครนสามารถใช้ Soft Power ผ่านโซเชียลมีเดีย สร้างขวัญและกำลังใจ จากคลิปภาพ การยึดอาวุธ หรือการทำลายยุทโธปกรณ์ของรัสเซียได้

แผนเผด็จศึกของรัสเซียต่อ “จุดศูนย์ดุล”

ยุทธศาสตร์ทางทหารได้กำหนดจุดที่สำคัญที่เป็นศูนย์รวมขององคพายพในกำลังการรบของชาติที่อาจทำให้เกิดจุดผกผันในสงครามได้ เรียกว่า “จุดศูนย์ดุล” หรือ Center of Gravity เมื่อพิจารณาจากเป้าประสงค์ทางการเมืองของรัสเซีย จุดศูนย์ดุลที่รัสเซียต้องการเข้าโจมตีเพื่อเป้าหมาย นั่นคือ “กรุงเคียฟ” อันเป็นที่ตั้งของรัฐบาลยูเครน ที่รัสเซียต้องการจะเปลี่ยนแปลง การบุกล้อมกรุงเคียฟ จะกระทบต่อการบัญชาการรบ และสถานภาพของรัฐบาลยูเครน จะส่งผลต่อการเจรจาเมื่อจบสงคราม และสามารถกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลยูเครน ไปสู่รัฐบาลที่เกื้อกูลต่อรัสเซียได้อย่างที่ต้องการ

สถานการณ์เมื่อวันที่ 8 มี.ค.65 การรุกทางทิศเหนือเข้าสู่กรุงเคียฟ และทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีเป้าหมายเข้าสู่กรุงเคียฟเช่นกัน โดยผ่านการยึดเมืองคาร์คิฟเสียก่อน แนวการรบที่เป็นความพยายามหลักทั้งสองแนวทางนี้ประสบกับการต่อต้านและความล่าช้าในการเคลื่อนกำลังจากการโดนโจมตีในขบวนส่งกำลังบำรุง ในทางตรงกันข้าม การรุกทางด้านทิศใต้และตะวันออก อันมีเป้าหมายบรรจบกันที่แม่น้ำเดนิเปอร์ เพื่อยึดครองพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำดังกล่าว

เมื่อเป็นเช่นนั้น เป้าหมายรองที่อาจเปลี่ยนไปเนื่องจากสถานการณ์การรบไม่เป็นไปตามแผน จุดศูนย์ดุลที่รัสเซียวางแผนไว้อาจเปลี่ยนเป็นเมือง “มาริอูโปล” อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของยูเครน ความสำคัญอยู่ที่เมื่อรัสเซียได้เมืองนี้ จะทำให้เกิด Land-Bridge เชื่อมระหว่างรัสเซียกับไครเมียได้ โดยไม่ต้องส่งกำลังผ่านทะเลดำเพียงอย่างเดียว และทำให้เกิดการเชื่อมต่อแนวรบและพื้นที่ยึดครองจากแนวรบทางด้านทิศใต้และตะวันออกเข้าหากัน สามารถส่งผลให้รัสเซีย “พอจะได้เปรียบ” ในการเจรจา ในกรณีที่ไม่ประสบความสำเร็จในการยึดกรุงเคียฟได้

สถานการณ์สงครามที่ปรากฏต่อสายตาเราๆ ในวันนี้ เป็นประสบการณ์ร่วมกันของคนทั้งโลก ที่ไม่ว่าผลของสงครามจะเป็นอย่างไร แต่ผลกระทบต่อชีวิตประชาชนในพื้นที่สงคราม ย่อมเป็นฝันร้ายที่อาจจะรุนแรงที่สุดในช่วงชีวิต และไม่ว่าเหตุผลที่มาที่ไปของสงครามจะเป็นอย่างไรนั้น แต่บนโลกของเราที่มีระเบียบระหว่างประเทศบนพื้นฐานของกฎเกณฑ์ต่างๆ การแก้ไขปัญหาด้วยสงคราม อาจจะไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องนัก ท่ามกลางตัวเลือกต่างๆ ที่กระทำได้ เพื่อรักษาทรัพยากรที่มีค่าที่สุดของโลกนี้คือ “ชีวิตมนุษย์” เอวัง!!