เมื่อลองได้เริ่มขับรถแล้ว ย่อมีสิ่งหนึ่งที่ผู้ขับขี่หลายๆ คน ต่างพร้อมใจที่ไม่อยากเจอฝันร้ายแบบนี้นั่นคือ “เบรกแตก” ที่แสนจะอันตราย แต่ทราบบ้างหรือไม่ว่า ยังพอมีวิธีบ้างกันอยู่บ้าง วันนี้ “รู้ก่อนเหยียบ” พามาหาคำตอบครับ

สำหรับ “เบรกแตก” หมายถึงอาการที่เกิดขึ้นเมื่อยามที่เราเหยียบแป้นเบรกจนจมสุดแต่ระบบเบรกไม่ทำงานตอบสนอง คือไม่สามารถชะลอรถได้ เหมือนไม่มีเบรก

สาเหตุของอาการ “เบรกแตก”
– เกิดจากมีรอยรั่วในระบบ เช่น ท่อแป๊บเบรกผุกร่อนจนรั่ว สายอ่อนเบรกแตก ผ้าเบรกหมดเป็นเวลานาน จนทำให้ลูกสูบเบรกหลุดออกมา และเมื่อน้ำมันเบรกรั่วออกจากระบบจนหมด ก็จะเกิดอาการ “เบรกแตก”
– เกิดจากความร้อนอันเนื่องมาจากการเบรกกะทันหัน หรือเบรกบ่อยๆ ภายใต้ความเร็วสูง จะส่งผลให้ “น้ำมันเบรก” ซึมซับความร้อนเอาไว้แล้วระบายสู่ส่วนอื่นไม่ทัน จนถึงจุดเดือดสูงสุด “น้ำมันเบรก” ก็จะระเหยกลายเป็นไอในกระบอกสูบเบรกจนไม่มีแรงดันที่จะไปกระทำต่อลูกสูบเบรกให้ไปดันผ้าเบรกได้ ทำให้เกิดอาการ “เบรกแตก”

ข้อปฏิบัติเมื่อ “เบรกแตก”
– เมื่อต้องเผชิญหน้ากับอาการ “เบรกแตก” ต้องตั้งสติจับพวงมาลัยให้มั่น
– เปิดไฟฉุกเฉินเพื่อเป็นสัญญาณบอกเพื่อนร่วมทางให้เว้นระยะห่างจากรถคุณ
– ลดความเร็ว รถยนต์ให้ได้โดยเร็วที่สุด โดยการถอนเท้าออกจากคั่นเร่ง

สำหรับ “เกียร์ออโตเมติก” ให้ดึงคันเกียร์จากตำแหน่ง D ลงมาที่ 3 ไล่ลงไปที่ 2 และ L เมื่อความเร็วลดลงอย่าดึงลงไปในตำแหน่ง 2 หรือ L ในเครั้งเดียวเนื่องจากจะทำให้เกียร์พังและรถยังเสียการทรงตัวด้วย ส่วน “เกียร์ธรรมดา” ให้เหยียบคลัตช์แล้วไล่ลดเกียร์ลงมาเรื่อย ๆ

ทั้งนี้ในเกียร์ทั้ง 2 ระบบเรายังสามารถ ดึงเบรกมือช่วยชลอรถได้ด้วย โดยต้องค่อย ๆ ดึง ห้ามดึงสุดแรงในครั้งเดียว เพราะจะส่งผลให้รถเสียการทรงตัวจนนำมาสู่การเกิดอุบัติเหตุ และเมื่อชะลอรถได้แล้วให้มองหาจุดปลอดภัยเพื่อเข้าจอด

วิธีป้องกัน “เบรกแตก”
– วิธีที่ดีที่สุดคือหมั่นดูแลระบบเบรกให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์พร้อมใช้อยู่เสมอ
– เปลี่ยนถ่าย “น้ำมันเบรก” ปีละ 1 ครั้ง แม้ว่าไม่มีการรั่วซึมก็ตาม เนื่องจาก “น้ำมันเบรก” มีคุณสมบัติอันไม่พึงประสงค์ คือเป็นสารที่ดูดซับความชื้นจากอากาศได้ดี แถมยังสามารถผสมเข้าเป็นเนื้อเดียวกันได้ และเมื่อความชื้นเข้ามาปะปนอยู่ใน “น้ำมันเบรก” ส่งผลให้มีจุดเดือดลดต่ำลง ยิ่งบ้านเราจัดเป็นเขตที่มีความชื้นสูง จึงเป็นที่มาของการแนะนำให้เปลี่ยนถ่าย “น้ำมันเบรก” ทุก 1 ปี เพื่อไล่ความชื้นที่ผสมอยู่ในน้ำมันเบรก และยังเป็นการป้องกันการกัดกร่อนจากสนิมที่เกิดจากความชื้น ซึ่งจะทำให้ลูกยางเบรกรั่วได้ง่าย
– ผ้าเบรก ควรเลือกใช้ชนิดที่ได้คุณภาพ เนื่องจากสามารถทนความร้อนได้ตามมาตรฐาน ทั้งนี้ผ้าเบรกที่ใช้แล้วจะบางลงเรื่อย ๆ ทั้งนี้เมื่อมีความหนาต่ำกว่า 3 มิลลิเมตร ควรเปลี่ยนทันที
– จานเบรก ผ้าเบรกที่มีโลหะผสมอยู่มาก ฝุ่น หิน และการปล่อยให้ผ้าเบรกหมด จะทำให้จานเบรกเป็นรอย การขับรถลุยน้ำขณะที่จานเบรกร้อน จะทำให้จานเบรกคดบิดตัว จนต้องทำการเจียจาน แต่การเจียจะทำให้จานเบรกบางลง และเมืองบางลงต่ำกว่าค่าที่ผู้ผลิตกำหนด ควรเปลี่ยนจานเบรกใหม่ หากไม่เปลี่ยนเมื่อผ้าเบรกบางลง อาจทำให้ลูกสูบเบรกหลุด นำมาสู่อาการ “เบรกแตก” ในที่สุด..

…………………………….
คอลัมน์ : รู้ก่อนเหยียบ 
โดย “ช่างเอก”
ติดต่อสอบถามข้อมูลโดยตรงที่ [email protected]