สัปดาห์นี้ย้อนรอยปฏิบัติการ“ผสานพลัง”จาก“เบาะแส”สู่รวบ“คารัง”แก๊งคอลเซ็นเตอร์จีน-ไทย เกือบร้อยชีวิตในพื้นที่จ.นครศรีธรรมราช ที่ปักหลักหลอกหลายเชื้อชาติทั้งไทย จีน ญี่ปุ่น ไปจนถึงรัสเซีย

ทีมข่าวอาชญากรรม”มีโอกาสสอบถามที่มาที่ไปจาก ...ยุทธนา แพรดำ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) เผยเบื้องหลังปฏิบัติการว่าเป็นการบูรณาการร่วมกันหลายหน่วย จากจุดเริ่มต้นช่วงเดือนพ.ย.66 ดีเอสไอรับแจ้งเบาะแสมีชาวจีนหายออกไปจากพื้นที่จ.ชลบุรี และมีญาติตามหา สันนิษฐานว่าอาจถูกหลอกลวง หรือสมัครใจร่วมแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งหลังแกะรอยมีสายข่าวชี้ว่าอาจย้ายฐานไปอ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช จึงลงพื้นที่ไปตรวจสอบพบจุดต้องสงสัยที่โรงแรมจินเฮงจันดี แม้ปิดทำการไปแล้ว แต่กลับพบชาวจีนเข้า-ออกต่อเนื่อง

จากนั้นมอบหมายกองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ นำโดย ...เขมชาติ ประกายหงษ์มณี ผอ.กองคดีเทคโนโลยีฯ ใช้เครื่องมือพิเศษตรวจสอบความเคลื่อนไหวและนำมาสู่การเข้าปฏิบัติการ ซึ่งต้องย้ำว่าเป็นความพยายามร่วมกันหลายฝ่ายทั้งตำรวจไซเบอร์ , กสทช. , สภ.ฉวาง ในการหยุดยั้งการกระทำผิด ยกตัวอย่าง เมื่อรู้พิกัดแน่ชัด ตำรวจไซเบอร์ก็เข้าขอหมายค้น ส่วนดีเอสไอเข้าปฏิบัติการจับกุมร่วมกับตำรวจ ส่วนกสทช.สนับสนุนข้อมูลจนทราบแผนประทุษกรรม

ในวันจับกุมน่าตกใจเพราะมีผู้ต้องหาเกือบ 100 ชีวิต (จีน 55 คน ไทย 35 คน)ซึ่งเชื่อว่าอาจมีมากกว่าที่เห็น เพราะมีการผลัดเวร บางส่วนจึงไม่ได้เข้าเวรรวันนั้น นอกจากนี้ยังพบบัญชีรายชื่อคนไทยและต่างชาตินับแสนรายชื่อที่เตรียมไว้หลอกลวง

คอลเซ็นเตอร์แก๊งนี้มีความเคลื่อนไหวหลัก 4 จุด ที่แบ่งบทบาทชัดเจน ประกอบด้วย จุดแรก โรงแรมจินเฮงจันดี ใช้เป็นสถานที่ฝึกและอบรม(Training) ผู้ปฏิบัติงานรายใหม่ เพื่อให้เข้าใจวิธีและขั้นตอนการใช้เครื่องมือ โดยการหลอกจะมี 3 ประเภท คือ

คนจีนหลอกจีน” ด้วยการสร้างเพจโรงแรมปลอม การท่องเที่ยว การสมัครงาน และแชทสนทนาผ่านคิวคิว(QQ) เพื่อหลอกให้กดลิงก์

หลอกคนรัสเซีย” การแชทส่วนใหญ่เป็นการหลอกให้ลงทุนทางเทเลแกรม(Telegram) เมื่อเหยื่อกดลิงก์จะดูดเงินทันที

หลอกคนญี่ปุ่นและคนไทย” ผ่านการแชทสนทนาทางไลน์ (Line) แล้วหลอกให้ลงทุน

ทั้งนี้ เมื่อเข้าใจวิธีการแล้วจะถูกย้ายไปจุดที่ 2 บริษัท ฟ่านยา การค้าระหว่างประเทศ จำกัด ซึ่งเป็นเสมือนสำนักงานแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ผ่านการฝึกมาแล้ว ลักษณะสถานที่เป็นอาคารพาณิชย์ ด้านล่างประกอบธุรกิจขายสินค้าออนไลน์บังหน้า โดยมีคนไทยทำงานแพคสินค้าอยู่หน้าร้านตบตา

จุดที่ 3 บ้านพักแห่งหนึ่งในพื้นที่ ถูกใช้เป็นที่พักหัวหน้ากลุ่มที่จะมีความรู้ สำหรับหลอกคนญี่ปุ่นและคนจีนมาลงทุน จุดนี้ผู้ต้องหาให้การซัดทอดไปยังจุดที่ 4 คือ ร้านขายสินค้ามือสองจากญี่ปุ่น ที่เปิดไว้บังหน้า

พ.ต.ต.ยุทธนา ชี้ทั้ง 4 จุดน่าจะมีจุดเชื่อมโยงผู้ให้เช่าที่เป็นกลุ่มเดียวกัน เนื่องจากทั้งหมดเป็นคนไทย ขณะที่คอมพิวเตอร์ของกลางแต่ละจุดมี Serial number เรียงกัน น่าจะมาจากลอตเดียวกัน แก๊งนี้คนจีนกับคนไทยจะรับ“บทบาท”แตกต่างกัน โดย“คนจีน” จะทำหน้าที่เป็น“ตัวการหลัก” หรือ หัวหน้า เป็นผู้วางแผน ชักชวน ไปจนถึงจัดหาพนักงาน โดยเฉพาะกลุ่มที่นั่งอยู่หน้าจอ ต้องเปิดเว็บไซต์หรือแพลตฟอร์ม เพื่อชักชวนให้นักธุรกิจต่างชาติมาร่วมลงทุนสกุลเงินดิจิทัล หรือเล่นพนันออนไลน์

ส่วน“คนไทย”รับหน้าที่“ให้คำแนะนำและอำนวยความสะดวก”เรื่องสถานที่ตั้ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่และมีงานประจำ แต่ในส่วนนี้เป็นการทำงานที่ได้เงินเพิ่ม

คนที่มองหางานในตัวเมืองก็มีทางเลือกเพิ่มเข้ามา เพราะแก๊งคอลเซ็นเตอร์อยู่ในพื้นที่จึงค่อนข้างประหยัดค่าใช้จ่าย เข้าคอนเซ็ป“งานใกล้บ้าน รายได้ดี” 90% สมัครใจทำ และเป็นแบบบอกกันปากต่อปาก ชักชวนกันมา

สำหรับเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์บางส่วนเป็น“กลุ่มเกษียณราชการ”แผนประทุษกรรมที่ใช้มักอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่แจ้งเตือนเหยื่อว่ามีข้อมูลรั่วไหล หากต้องการให้บัญชีธนาคารปลอดภัยต้องโอนทุกบัญชีมาให้ตรวจสอบ ซึ่งเหยื่อหลงเชื่อเพราะประโยคคำพูดและเอกสารที่ตัดต่อมาอย่างแนบเนียน

รายได้เฉลี่ยจะได้รับเดือนละประมาณ 20,000 บาท อีกส่วนเป็นค่าคอมมิชชัน การได้เงินทำได้ค่อนข้างง่าย เพียงส่งข้อความหาเหยื่อแล้วตอบโต้พูดคุยก็ได้เงินหลักสิบบาท ยิ่งหลอกให้โอนเงินก็จะยิ่งได้ค่าคอมมิชชัน จึงสร้างแรงจูงใจให้คนขยันหลอก ขยันคุย

...ยุทธนา ทิ้งท้ายคาดการณ์ข้อห่วงใยในอนาคตว่า สิ่งที่น่ากังวลของแก๊งคอลเซ็นเตอร์คือการพัฒนาเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย และคาดว่าในอนาคตระบบ AI โดยเฉพาะการเลียนแบบเสียงพูดของมนุษย์จะมีบทบาทมากขึ้น สามารถใช้ไปหลอกเหยื่อให้หลงเชื่อ รวมถึงการโอนเงินข้ามประเทศผ่านการแปลงสกุลเงินบาทให้เป็นดิจิทัลที่สะดวกขึ้น จะยิ่งทำให้เจ้าหน้าที่ติดตามเงินที่ออกนอกระบบยากขึ้นไปด้วย.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]