เมื่อวันที่ 22 พ.ค. นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค.57 ว่าการรัฐประหารของคณะนายทหารกลุ่มหนึ่ง เมื่อปี 49 และปี 57 นับเป็นความเสียของทั้ง 2 ครั้ง และไม่คุ้มค่าต่อการสูญเสียประชาธิปไตยของประเทศ วันนี้เป็นวันครบรอบ 8 ปี การทำรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะนายทหารกลุ่มหนึ่ง จากวิกฤติการณ์ทางการเมืองของประเทศ ที่การเมืองเจอทางตัน ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้น คือ 1.รัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลุแก่อำนาจออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) นิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง เพื่อล้างผิดให้คนโกง ท่ามกลางการต่อต้านของทุกฝ่าย 2.การชุมนุมของกลุ่ม กปปส.ขับไล่รัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จากการออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรม เป็นการชุมนุมที่ยืดเยื้อยาวนาน จนเกิดการเผชิญหน้ากับการชุมนุมของกลุ่ม นปช.ที่สนับสนุนรัฐบาล 3.รัฐบาลรักษาการ ที่มีนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รักษาการนายกรัฐมนตรี ไม่ยอมลาออกจากการเป็นรัฐบาลรักษาการ  4.พล.อ.ประยุทธ์ นำคณะนายทหารเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลรักษาการ เพื่อควบคุมการบริหารประเทศ

นายเทพไท ระบุอีกว่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์ ทำการรัฐประหาร และเป็นรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 57 จนมีการสืบทอดอำนาจผ่านรัฐธรรมนูญปี 2560 รวมระยะเวลา 8 ปี ซึ่งเท่ากับวาระของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง 2 สมัย ยาวนานเพียงพอที่จะปฏิรูปประเทศและพัฒนาประเทศให้สำเร็จ แต่ตลอดระยะเวลา 8 ปีดังกล่าว เกิดความล้มเหลวในหลายด้าน อาทิ 1.ด้านประชาธิปไตย มีแต่ถอยหลังเข้าคลอง ไม่มีการแก้ใขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยตามหลักสากล 2.ด้านการปฏิรูปประเทศในทุกด้าน ไม่มีความคืบหน้า และประสบความสำเร็จ ให้เห็นเป็นรูปธรรมเลย  3.ด้านการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น มีความล้มเหลว การทุจริตยังเกิดขึ้นในทุกหน่วยงานและทุกระดับ  4.ด้านการเมือง มีการซื้อสิทธิขายเสียง ในการเลือกตั้งทุกระดับมากที่สุด 

5.ด้านเศรษฐกิจ ใช้นโยบายแบบประชานิยม แจกเงินให้กับประชาชน ไม่ต่างกับรัฐบาลระบอบทักษิณ ก่อหนี้ให้กับประเทศมากที่สุด และประชาชนยากจนเพิ่ม 6.ด้านสังคม ยาเสพติดระบาด คนติดยาก่อปัญหาทำร้ายคนในครอบครัว มีการฆ่าตัวตายรายวัน 7.ด้านความสงบเรียบร้อยของประเทศ ยังมีความขัดแย้งทางการเมือง การสลายสีเสื้อล้มเหลว การเมืองยังแบ่งฝ่าย และเป็นยุคที่มีสถาบันเบื้องสูงถูกนำมาเคลื่อนไหวทางการเมืองมากที่สุด ทั้งนี้ ตนขอประกาศจุดยืนทางการเมืองอีกครั้งหนึ่งว่าตนไม่เห็นด้วย และไม่สนับสนุนการรัฐประหาร จะขอยืนหยัดต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยต่อไป

ทางด้าน นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง โฆษกพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ให้สัมภาษณ์กรณีวันครบรอบ 8 ปีรัฐประหาร ว่า ตนมองว่ามันเป็นบทเรียนให้สังคมไทยว่า การแก้ปัญหาทางการเมืองโดยการรัฐประหารไม่ใช่คำตอบ แม้อาจจะแก้ไขปัญหาได้ แต่ก็แค่ชั่วคราว เฉพาะหน้า แต่หลังจากความสงบแบบชั่วคราวที่เกิดขึ้นโดยการรัฐประหาร เราจะเห็นว่ามันเกิดปัญหามากมายขึ้นในสังคม ทั้งนี้ มีการทำรัฐประหารมีข้ออ้างที่ว่าการเมืองขัดแย้ง สุดท้ายการเมืองไม่ได้รับการแก้ไขเหมือนที่เป็นเหตุผลของการทำรัฐประหาร ตนเชื่อว่าตอนนี้สังคมได้เรียนรู้มากขึ้นพอสมควรและหวังว่าสังคมจะเรียนรู้มากขึ้นจากการเกิดรัฐประหารล่าสุดว่า ผลของการรัฐประหารนั้นทำให้บ้านเมืองบอบซ้ำและถอยหลังไปหลาย 10 ปีอย่างไรบ้าง

เมื่อถามว่า มองว่าในอนาคตจะมีการเกิดรัฐประหารอีกหรือไม่ นายภราดร กล่าวว่าหลังจากการรัฐประหารในปี 34 เราก็คิดว่าเป็นรัฐประหารครั้งสุดท้าย และยิ่งเห็นรัฐธรรมนูญที่เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนปี 40 ออกมาแล้ว ฝ่ายประชาธิปไตยไม่มีใครคิดว่าจะมีรัฐธรรมนูญ และมีการเกิดรัฐประหารขึ้นมาอีกในปี 49 และปี 57 ซึ่งมีข้ออ้างให้คนที่อยากทำรัฐประหารได้ใช้เป็นข้ออ้าง ฉะนั้น ตนมองว่าทุกส่วนต้องช่วยกันลดเงื่อนไขที่จะนำพาไปสู่ข้ออ้างที่ฝ่ายรัฐประหารเขาจะสามารถนำมาใช้ได้ 

“ที่สำคัญผมมองว่าการยอมรับจากสังคมต้องไม่เฉยๆ เหมือนเมื่อก่อน ซึ่งเมื่อก่อนเมื่อเกิดรัฐประหารต่างคนก็ต่างยอม ถือว่าเป็นเรื่องปกติ ซึ่งจริงๆ แล้วผิดกฎหมายและไม่ถูกต้องตามหลักสากล ผมมองว่าสังคมต้องแสดงออกให้ชัดเจนว่า ปัญหาทางการเมืองต้องใช้การเมืองแก้ไข และการรัฐประหารไม่ใช่ทางออก” นายภราดร กล่าว

เมื่อถามถึง การเตรียมความพร้อมอภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 นายภราดร กล่าวว่า จะมีการพูดคุยกันในพรรควันที่ 24 พ.ค.นี้ ว่าจะเอาประเด็นอะไรเป็นหลักหรือไม่ เนื่องจากอยู่ในช่วงปิดสมัยประชุม จึงยังไม่ได้มีการพูดคุยกัน