เมื่อวันที่ 31 พ.ค. ผู้สื่อข่าวได้รับการได้รับการร้องเรียนจากนักเรียนและผู้ปกครอง โรงเรียนแห่งหนึ่งใน ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช เกี่ยวกับปัญหาโครงการอาหารกลางวันนักเรียน ซึ่งมีการจัดซื้อจัดจ้างไม่ถูกต้องตามระเบียบของทางราชการ ทำให้ได้อาหารกลางวันที่ไม่มีคุณภาพเน่าเสีย ผลไม้และขนมปังเน่าเสีย หมดอายุและมีเชื้อราขึ้นเกาะเต็มไปหมด ส่งผลต่อสุขภาพของนักเรียนได้

ล่าสุดนายสิริพงศ์ รัตนะ รอง ผอ.โรงเรียนวัดพระมหาธาตุ ซึ่งดูแลรับผิดชอบโครงการอาหารกลางวันนักเรียน โรงเรียนวัดพระมหาธาตุ ได้ลงมาควบคุมตรวจสอบโครงการด้วยตัวเอง และพบว่าอาหารไม่ได้คุณภาพ ตามที่ทางราชการกำหนดจึงเสนอให้นายประยูร เจริญวรรณ ผอ.โรงเนียนวัดพระมหาธาตุ แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบการดำเนินการในโครงการดังกล่าว

นายสิริพงศ์ กล่าวว่า โรงเรียนวัดพระมหาธาตุ เป็นโรงเรียนขยายโอกาสสังกัดการศึกษาขั้นพื้นฐานขนาดใหญ่พิเศษ มีนักเรียนกว่า 2,000 คน แต่ในขณะนี้เปิดเรียนแบบออนไซต์ ในระดับ ป.4-6 ซึ่งมีนักเรียนมาเรียนที่โรงเรียนแค่ 500 คนเศษ ซึ่งปัญหาอาหารกลางวันไม่ได้คุณภาพเกิดขึ้นจริง หลังจากที่คุณครูที่ดูแลรับผิดชอบในเรื่องนี้ ทำรายงานให้ตนทราบ ตนจึงลงไปตรวจสอบด้วยตนเองพบว่าคุณภาพอาหารไม่เป็นไปตามที่ทางราชการกำหนด เพราะตามปกติทางโรงเรียนจะดำเนินการตามโปรแกรม Thai School Lunch โดยงบประมาณหัวละ 21 บาท เพียงพอที่จะได้ปริมาณและคุณภาพ ตรงตามที่ สสส.กำหนด 

นายสิริพงศ์ กล่าวว่า แต่ในครั้งนี้ไม่ได้ดำเนินการตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างตามที่กำหนด แทนที่จะเป็นอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ ตามที่กำหนด กลับเป็นอาหารกล่องที่น่าจะผลิตมาตั้งแต่เมื่อกลางคืนแล้ว ก่อนนำบรรจุกล่อง นำมาส่งให้กับทางโรงเรียนทำให้อาหารจึงเย็นชืด และจากการตรวจ 3 ครั้งพบว่าผลไม้ เช่น เงาะก็คุณภาพต่ำ มีรอยดำเน่าเสีย แตงโมก็เป็นแตงโมที่ไม่สุกเต็มที่ เมื่อหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ พบว่ามีส่วนที่ยังเป็นสีขาวอยู่ไร้รสชาติ ส่วนขนมปังสำเร็จรูป ตรวจวันแรกวันที่ 18 พ.ค. 2565 ตรวจพบ 1 ชิ้น ขึ้นราดำ 4 จุด ครั้งที่ 2 วันที่ 19 พ.ค. 2565 ตรวจขนมปังหมดอายุ 520 ชิ้น

“เรื่องนี้ผมให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก จึงได้รวบรวมหลักฐานการตรวจสอบ พร้อมทำหนังสือเสนอต่อ ผอ.โรงเนียนวัดพระมหาธาตุ เพื่อให้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบใน 4 ประเด็น 1.เป็นไปตามโภชนาการโปรแกรม Thai School Lunch 2. เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างเป็นไปตามระเบียบหรือไม่ 3. กรรมการตรวจรับได้ดำเนินการตามคำสั่งซื้อหรือไม่และ 4. กรรมการตรวจรับได้ดำเนินการตรวจสอบคุณภาพอาหารกลางวันหรือไม่ ส่วนการบริหารจัดการในเรื่องอื่นๆ ตามที่สื่อได้รับการร้องเรียนตนไม่ขอวิพากษ์วิจารณ์” นายสิริพงศ์ กล่าว

รอง ผอ.โรงเรียน กล่าวอีกว่า ความจริงงบประมาณที่ทางราชการสนับสนุนเป็นค่าอาหารกลางวันให้นักเรียนหัวละ 21 บาทนั้น สามารถที่จะนำมาจัดเป็นโครงการอาหารกลางวันได้อย่างเพียงพอ ทั้งปริมาณและคุณภาพอาหารปรุงสุกร้อน ๆ หรือปรุงเสร็จใหม่ ๆ ซึ่งตนเคยทำมาแล้วตอนที่เป็นรักษาการโรงเรียนบ้านทุ่งโชน ต.เขาพระทอง อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช โดยงบจำนวนดังกล่าวเมื่อผลิตอาหารขึ้นมาแล้ว สามารถเอื้อให้นักเรียนในระดับมัธยมมารับประทานได้และเพียงพอ สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายให้กับพ่อแม่ผู้ปกครองได้ด้วย โดยหากคิดค่าใช้จ่ายจากปริมาณอาหารกลางวันนักเรียนจะตกกล่องละ 9-12 บาทเท่านั้น ที่ได้รับหัวละ 21 บาท เพียงพอไม่มีปัญหาใดๆ