ปัจจุบันมีเทคโนโลยีหนึ่งที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ  ในกลุ่มชาวนา  นั่นคือ  อากาศยานไร้คนขับ  หรือที่รู้จักกันว่าโดรน  (Drone)  โดรนเพื่อการเกษตรหากแบ่งตามการใช้งานสามารถแบ่งเป็น  2  รูปแบบ  (1)  โดรนสำรวจพื้นที่  (Data – mapping drone)  โดยทั่วไปใช้สำหรับสำรวจพื้นที่เพาะปลูก  ตรวจสอบสุขภาพพืช  ตลอดจนวางแผนการเพาะปลูก  (2)  โดรนฉีดพ่น  (Spraying  Drone)  นำมาใช้พ่นสารเคมีหรือปุ๋ย  และน้ำในแปลงเกษตรกร  โดยปัจจุบันโดรนชนิดนี้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่มากขึ้นด้วยข้อดีหลายประการ  จากผลงานการวิจัยของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร  ได้ศึกษาวิจัยเรื่องการศึกษาความคุ้มค่าการใช้อากาศยานไร้คนขับ  (โดรน) ช่วยทำนาในภาคกลาง  และภาคเหนือตอนล่าง  เพื่อศึกษาต้นทุนและผลตอบแทนระหว่างการใช้และไม่ใช้อากาศยานไร้คนขับ  (โดรน)  ในการช่วยทำนา จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า  เกษตรกรมีการจ้างบริการโดรนในการพ่นสารกำจัดวัชพืช/แมลงศัตรูพืช  และการพ่นฮอร์โมนบำรุงข้าว  ซึ่งการใช้โดรนพ่นสามารถลดเวลาลงเมื่อเทียบกับการใช้แรงงานคน 3 – 5  เท่า  สามารถลดปริมาณการใช้สารเคมีลงร้อยละ  15 – 20  และไม่มีสารตกค้างในตัวผู้ปฏิบัติงาน  (สศก,2562)  

สำหรับข้อดี  ข้อเสีย  ของการใช้โดรนเพื่อการเกษตร  ดังนี้

                 ข้อดี  1.ประหยัดเวลา  2.ลดการสัมผัสสารเคมีโดยตรงของผู้พ่น  3.ลดปริมาณสารเคมีในการฉีดพ่นแต่ละครั้งเนื่องจากการกระจายน้ำยาดีกว่าการใช้คนพ่น  4.ข้าวไม่เสียหายจากการเหยียบย่ำ  5.สามารถตั้งระบบบินแบบอัตโนมัติได้

ข้อเสีย  1.ราคาลงทุนซื้อเครื่องยังสูงอยู่  2.ต้องเรียนรู้เรื่องระบบต่างๆที่ซับซ้อน  3.แบตเตอรี่มีราคาแพง  4.ผู้ขับต้องมีความชำนาญในการบังคับเพื่อป้องกันความเสียหาย  เช่น  กรณี  เครื่องตก  บินชนต้นไม้  เป็นต้น  5.ต้องเติมน้ำยาบ่อย  6.ต้องมีแบตเตอรี่สำรองเพื่อการฉีดพ่นให้ได้ตลอดทั้งวัน

ผู้เขียนคิดว่า  ถ้ามีการวางแผนในระยะยาว  การใช้โดรนพ่นยา  จะทำให้คุ้มทุนกว่าการจ้างคนไปพ่นยา   อีกทั้งการใช้เทคโนโลยีและราคาจำหน่ายโดรนที่ถูกลงเรื่อย ๆ จะสามารถนำมาใช้ในงานด้านการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อลดต้นทุน  และแทนที่การใช้แรงงานคนมากขึ้นเรื่อย ๆ  แน่นอน
 
ผู้เขียน : น.ส.ฤทัยรัตน์  ยศโชติ นักวิชาการเกษตรปฏิบัติการ
ขอบคุณภาพจาก https://www.google.co.th และ เฟซบุ๊ค : สตรองโดรน โดรนพ่นยา โดรนเพื่อการเกษตร