รายงานข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แจ้งว่า รฟม. ได้รับมอบหมายจากกระทรวงคมนาคม ให้ดำเนินโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้ประชาชน และนักท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต มีสถานีทั้งหมด 21 สถานี มีระยะทางประมาณ 42 กิโลเมตร (กม.) แต่เนื่องจากปัจจุบัน จ.ภูเก็ต อยู่ระหว่างเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงาน Specialised Expo 2028 ช่วงเดือน มี.ค.-พ.ค.71 ทาง รฟม. จึงได้ดำเนินการศึกษาเส้นทางส่วนต่อขยายโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 เพิ่มเติมไปยังท่าฉัตรไชย เพิ่มอีกจำนวน 2 สถานี ซึ่งมีระยะทางประมาณ 16.2 กม. เพื่อรองรับการเดินทาง เข้าร่วมชมงาน Specialised Expo 2028

รายงานข่าวแจ้งต่อว่า ขณะนี้ รฟม. อยู่ระหว่างจัดทำแบบสอบถามความคิดเห็นต่ออัตราค่าโดยสาร และการขยายเส้นทางโครงการไปท่าฉัตรไชย ในโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 เพื่อสำรวจความความคิดเห็นของประชาชนใน จ.ภูเก็ต เกี่ยวกับการดำเนินโครงการดังกล่าว โดยมีประเด็นความคิดเห็นที่ รฟม. มีความประสงค์สอบถาม 2 ประเด็น คือ 1.ความคิดเห็นเกี่ยวกับอัตราค่าโดยสารของโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 และ 2.ความคิดเห็นเกี่ยวกับการต่อขยายแนวเส้นทางโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 ไปยังท่าฉัตรไชย เพื่อรองรับการเดินทางเข้าร่วมงาน Specialised Expo 2028 ที่ จ.ภูเก็ต อยู่ระหว่างเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงาน 

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า สำหรับประเด็นความคิดเห็นของอัตราค่าโดยสารนั้น รฟม. ได้กำหนดอัตราค่าโดยสารเป็นแบบอัตราคงที่ (Flat Fare) โดยแบ่งตามเขตพื้นที่ดังนี้ เดินทางพื้นที่นอกเมือง อัตราค่าโดยสารคงที่ 50 บาท ตั้งแต่สถานีขนส่ง ถึงสถานีท่าฉัตรไชย และเดินทางพื้นที่ในเมือง ตั้งแต่สถานีขนส่ง ถึงสถานีฉลอง ไม่เกิน 8 สถานี อัตราค่าโดยสารคงที่ 15 บาท และ 9-14 สถานี อัตราค่าโดยสารคงที่ 20 บาท ทั้งนี้หากใช้บริการเดินทางตลอดเส้น ทั้งพื้นที่ในเมือง และนอกเมือง คิดอัตราค่าโดยสารตลอดเส้นทางสูงสุดไม่เกิน 50 บาท

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ส่วนประเด็นการต่อขยายแนวเส้นทางไปยังท่าฉัตรไชยนั้น หากประชาชนเห็นด้วยก็จะทำให้โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 จะมีระยะทางเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 58.2 กม. 23 สถานีประกอบด้วย สถานีฉลอง, สถานีโคกโตนด, สถานีป่าหล่าย, สถานีเจ้าฟ้าตะวันออก, สถานีวิชิต, สถานีดาวรุ่ง, สถานีศักดิเดช, สถานีสะพานหิน, สถานีห้องสมุดประชาชน, สถานีบางเหนียว, สถานีหอนาฬิกา, สถานีเมืองเก่า, สถานีทุ่งคา, สถานีมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต, สถานีขนส่ง, สถานีเกาะแก้ว, สถานีอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทร, สถานีถลาง, สถานีโรงเรียนเมืองถลาง, สถานีเมืองใหม่, สถานีท่าอากาศยานภูเก็ต, สถานีประตูเมืองภูเก็ต และสถานีท่าฉัตรไชย 

รายงานข่าวแจ้งต่อว่า รฟม. จะเปิดให้ประชาชนนที่มีภูมิลำเนา หรือพำนักอาศัยใน จ.ภูเก็ต แสดงความคิดเห็น ผ่านทางเว็บไซต์ https://www.mrta.co.th/phuket-form/index.html ได้จนถึงวันที่ 24 มิ.ย.65 โดย รฟม. จะนำผลการสำรวจความคิดเห็นดังกล่าวไปใช้เป็นแนวทางในการดำเนินโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 ให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับความคิดเห็นของประชาชนใน จ.ภูเก็ต และดำเนินการโครงการให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง ระยะทาง 41.7 กม. วงเงิน 3.5 หมื่นล้านบาท ก่อนหน้านี้จะเป็นรูปแบบแทรม แต่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบรมว.คมนาคม มีนโยบายให้ปรับรูปแบบเป็นรถไฟฟ้าล้อยาง (Automated Rapid Transit : ART) เพื่อช่วยลดต้นทุนการก่อสร้างเหลือประมาณ 2 หมื่นล้านบาท โดยล่าสุด รฟม. อยู่ระหว่างปรับลดวงเงินโครงการลงอีกตามนโยบายกระทรวงคมนาคม และลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ และสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในจังหวัดภูเก็ต เกี่ยวกับอัตราค่าโดยสารของโครงการฯ แบบอัตราคงที่ (Flat Fare) และการต่อขยายแนวเส้นทางโครงการฯ ไปยังท่าฉัตรไชย.