เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายบัญชา ศรีชาหลวง นายก อบต.พิมาน อ.นาแก จ.นครพนม พร้อมด้วย นายยงยุทธ ไชยต้นเทือก วิทยากรฐานเรียนรู้น้ำมันยางนา และผู้บริหาร นับเป็น อบต.ต้นแบบความพอเพียง นำสู่ชุมชนเข้มแข็ง อีกทั้งยังเป็นศูนย์จัดการเครือข่ายรู้รับปรับตัวของ สสส. ต้นแบบการนำชุมชนปรับตัวสู้วิกฤติทุกด้าน ได้โชว์ความสำเร็จในการทดลองวิจัย การลดต้นทุนช่วยเหลือเกษตรกร ใช้พลังงานทดแทน ในการนำน้ำมันยางนา มาใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องจักรกลการเกษตร รถไถนา เครื่องสูบน้ำ ที่ใช้น้ำมันดีเซล โดยมีการทดลองวิจัย ร่วมกับหลายหน่วยงาน มานานเกือบ 10 ปี จนประสบความสำเร็จ สามารถนำน้ำมันยางนา 100 เปอร์เซ็นต์ มาเติมเครื่องจักรกลการเกษตรรถไถนาเดินตาม เป็นพลังงานทดแทนน้ำมันดีเซล ประหยัดค่าใช้จ่าย สู้วิกฤติช่วงน้ำมันแพง

โดยมีการตั้งศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง บ้านพิมาน ต.พิมาน อ.นาแก จ.นครพนม เพื่อให้เกษตรกร ได้มาศึกษาเยี่ยมชม พร้อมส่งเสริมสนับสนุนให้เกษตรกรในพื้นที่ หันมาใช้นำมันยางนา เป็นพลังงานทดแทน รวมถึงการเพาะพันธุ์กล้ายางนาแจกจ่ายให้เกษตรกร ไปปลูกเพิ่มพื้นที่ป่า เพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน ในปีที่ผ่านมา ได้ร่วมกับ สำนักทรัพยากรป่าไม้ที่ 6 สาขานครพนม เร่งแจกจ่ายต้นกล้ายางนาให้เกษตรกรไปปลูก มากกกว่า 1.5 แสนต้น

นายบัญชา เปิดเผยว่า โครงการวิจัยทดลองเจาะน้ำมันยางนาเพื่อเป็นพลังงานทดแทน สู้วิกฤติน้ำมันแพง ทาง อบต.พิมาน ได้ร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐเอกชน และเกษตรกรในพื้นที่ ทดลองใช้มานานเกือบ 10 ปี นำร่องจากเกษตรกรในพื้นที่ มาศึกษาเรียนรู้ที่ ศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง บ้านพิมาน ที่เป็นจุดที่มีต้นยางนาธรรมชาติมากกว่า 30 ต้น อายุหลาย 10 ปี เป็นทางเลือกสำหรับเกษตรกรนำน้ำมันยางนา ไปใช้แทนน้ำมันดีเซล ยิ่งในช่วงวิกฤติน้ำมันแพง ถือว่าเป็นการลดต้นทุน สามารถนำไปผสมตามอัตราส่วน 50 ต่อ 50 หรือนำน้ำมันยางนาเติมได้ 100 เปอร์เซ็นต์ มีการทดลองแล้ว เครื่องจักรกลการเกษตรรถไถนาเดินตาม สามารถทำงานได้ตามปกติ เครื่องยนต์ไม่สะดุด ประหยัด 100 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งเพิ่มระยะเวลาการทำงานได้อีกเท่าตัว ในอัตราระหว่าง น้ำมันดีเซล กับน้ำมันยางนา ต่อลิตรเท่ากัน ซึ่งได้ส่งเสริมให้เกษตรกรมาศึกษาเรียนรู้และนำไปทดลองใช้งานจริง เป็นการลดต้นทุนการเกษตรอีกทาง

สำหรับขั้นตอนการเจาะ จากการศึกษาสามารถเจาะต้นยางนาอายุ ประมาณ 10-15 ปี ขึ้นไป โดยนำสว่านเจาะเข้าไปที่โคลนต้นห่างจากพื้นดิน ประมาณ 30 ซม. เจาะความลึกประมาณ 10-20 ซม. ให้ทะลุเปลือกเข้าไปถึงเนื้อต้นยางนา จากนั้นนำอุปกรณ์รองรับน้ำมัน ที่ทำจากขวดพลาสติก ต่อสายยางไปเสียบเข้ารูที่เจาะ อุดด้วยดินน้ำมัน ไม่ให้น้ำมันยางนาไหลออกจากสายยาง ทิ้งไว้ประมาณ 1-2 คืน จะได้น้ำมันยางนา มาใช้งาน โดยจะตกตะกอนตามธรรมชาติ เราสามารถนำน้ำมันส่วนที่เหลือจากตกตะกอน มาเติมเครื่องจักรกลการเกษตรได้เลย ส่วนปริมาณมากน้อยแล้วแต่ต้น ซึ่งในการเติมน้ำมันยางนา สามารถผสมน้ำมันดีเซล ครึ่งต่อครึ่ง หรือสามารถเติมน้ำมันยางนา 100 เปอร์เซ็นต์ได้เลย ไม่มีผลต่อการทำงานของเครื่องยนต์ หลายคนที่สงสัยว่า จะส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของต้นยานาหรือไม่ ยืนยันจากการทดลองมานานเกือบ 10 ปี ไม่มีผล เพราะเลือกเจาะเป็นจุด และมีการพักเพื่อให้ต้นยางนารักษาแผลตามธรรมชาติ ยังเจริญเติบโตตามปกติ

นอกจากนี้สิ่งสำคัญคือการขยายพันธุ์เบี้ยต้นกล้ายางนาเพิ่มทุกปี เพื่อแจกจ่ายให้เกษตรกร ปีละเกือบ 2 แสนต้น เชื่อว่าในอนาคต พื้นที่ ต.พิมาน อ.นาแก จะเป็นพื้นที่ต้นแบบที่มีต้นยางนามากที่สุดของ จ.นครพนม และเป็นตำบลต้นแบบที่เกษตรกรสามารถลดต้นทุน นำน้ำมันยางนามาเป็นพลังงานทดแทน ทางเลือก ลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ ควบคู่กับโครงการปลูกป่าอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังสามารถนำตะกอนน้ำมันยางนาที่เหลือจากน้ำมัน ไปแปรรูปเป็นเวชภัณฑ์ต่างๆ เพิ่มมูลค่าสร้างรายได้

ด้านนายบัญชา วงค์สุวรรณ เกษตรกรชาว ต.พิมาน อ.นาแก จ.นครพนม เปิดเผยว่า ตนเป็นคนที่เรียนรู้ทดลองนำน้ำมันยางนามาใช้เติมรถไถนาเดินตาม แทนน้ำมันดีเซล โดยเริ่มจากทดลองผสมอัตราส่วน 50 ต่อ 50 และทดลองมาเป็นเติมน้ำมันยางนาแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ พบว่าเครื่องยนต์สามารถใช้งานได้ตามปกติ ไม่กระทบต่อเครื่องยนต์ ใช้งานมาหลายปี ประหยัดลดต้นทุนได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่หากเราไม่สามารถเจาะน้ำมันยางนาได้ปริมาณมาก สามารถนำมาผสมในอัตราส่วนที่เหมาะสม แต่เป็นการประหยัดลดต้นทุนได้เช่นกัน นอกจากนี้ยังสามารถเพิ่มระยะเวลาการทำงานได้มากขึ้น เช่น การใช้เครื่องรถไถนาเดินตามสูบน้ำ หรือไถนา จากปกติใช้น้ำมันดีเซล 1 ลิตร ปัจจุบันประมาณ ลิตรละ 35 บาท ใช้งานได้ประมาณ 4-5 ชั่วโมง แต่หากเติมยางนา สามารถเดินเครื่องได้ 8-10 ชั่วโมง ถือว่าเป็นพลังงานทดแทนที่ประหยัดมาก ปกติต้องมีค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่าวันละ 400-500 บาท หากใช้น้ำมันยางนาไม่มีต้นทุน ในอนาคตหากเกษตรกรมีการศึกษาเรียนรู้นำน้ำมันยางนาไปใช้ในการเกษตร เชื่อว่าจะสามารถเพิ่มรายได้เป็นอย่างดี ไม่ต้องแบกภาระต้นทุน