นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้ประชุมติดตามความคืบหน้าการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน และโครงการรถไฟสายสีแดง (ส่วนต่อขยาย) ว่า ได้สั่งการให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เร่งเปิดประกวดราคา (ประมูล) หาผู้รับจ้างสายสีแดง (ส่วนต่อขยาย) 3 เส้นทาง ได้แก่ ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 4,694.36 ล้านบาท, ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. วงเงิน 6,468.69 ล้านบาท เปิดประมูลในเดือน ธ.ค.65 และช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.8 กม. วงเงิน 10,670.27 ล้านบาท เปิดประมูลในเดือน ม.ค.66 โดยทั้ง 3 เส้นทาง จะเริ่มก่อสร้างในเดือน พ.ค.66 คาดว่าจะแล้วเสร็จ และสามารถเปิดให้บริการต่อขยายเส้นทางจากรถไฟสายสีแดงในปี 69

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า สำหรับการเปิดให้บริการต่อขยายดังกล่าว จะขยายจากที่เปิดให้บริการในปัจจุบัน ไปยังพื้นที่ชานเมืองทางทิศเหนือและทิศตะวันตกของกรุงเทพฯ รองรับการเดินทางของประชาชน และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา รวมถึงประชาชนที่ใช้บริการโรงพยาบาลศิริราช ให้ได้รับความสะดวกสบายในการเดินทางได้อย่างตรงเวลายิ่งขึ้น สำหรับช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง (Missing Link) ระยะทาง 25.9 กม. อยู่ระหว่างปรับปรุงแบบสถานีราชวิถีใหม่ให้ผู้โดยสารเดินเชื่อมเข้าสู่อาคารโรงพยาบาลรามาธิบดีได้สะดวก และเป็นการบูรณาการการใช้ประโยชน์เส้นทางรถไฟสายสีแดงช่วง Missing Link ให้เกิดประโยชน์กับประชาชนสูงสุดในการเดินทางเชื่อมต่อ คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในปี 71

นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการดังนี้ 1. ให้คณะกรรมการกำหนดราคากลางโดยพิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามข้อกฎหมาย มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เกี่ยวข้อง และปฏิบัติตามหลักธรรมาธิบาลอย่างเคร่งครัดก่อนเสนอต่อ ครม. และ 2. ให้ รฟท. เสนอรูปแบบของสัญญาการประมูลแบบปรับราคาได้ ซึ่งจะทำให้กรอบวงเงินโครงการลดลงตามค่า k อันจะช่วยประหยัดวงเงินลงทุนโครงการได้ ในกรณีที่มีการลดลงของราคาวัสดุหรือต้นทุนทางพลังงาน

พร้อมกันนี้ได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งดำเนินโครงการให้เป็นไปตามแผนงาน เพื่อผลักดันให้ระบบรางเป็นระบบหลักในการเดินทาง สอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลในการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ที่จะสนับสนุนการขยายตัวของเมือง และพื้นที่เศรษฐกิจโดยรอบเส้นทางที่จะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทาง ที่จะส่งเสริมให้เกิดการจ้างงาน การท่องเที่ยวนำมาสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจในท้ายที่สุด.