รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ประชุมเตรียมพิจารณาวาระที่เกี่ยวข้องกับด้านเศรษฐกิจจากหน่วยงานต่าง ๆ โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ เตรียมเสนอมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน กลุ่มแรงงาน และผู้ประกอบการอันเนื่องมาจากข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 30) เพื่อช่วยเหลือลูกจ้าง และนายจ้างใน 9 กลุ่มอาชีพที่ได้รับผลกระทบจากประกาศฉบับนี้ เพิ่มเติมอีก 16 จังหวัดที่เป็นสีแดงเข้ม ซึ่งจะได้รับเงินเยียวยาจากทางรัฐบาลในลักษณะเดียวกับ 13 จังหวัดก่อนหน้านี้

สำหรับการช่วยเหลือเยียวยาแบ่งเป็นแรงงาน ผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 จะได้รับเงินเยียวยารายละ 2,500 บาท ส่วนแรงงาน ตามมาตรา 39 และมาตรา 40 จะได้รับเยียวยารายละ 5,000 บาท จำนวน 1 เดือน ขณะที่นายจ้างจะได้รับชดเชย แรงงานหัวละ 3,000 บาท สถานประกอบการละไม่เกิน 200 คน หรือสูงสุดไม่เกิน 6 แสนบาท โดย สศช.เตรียมเสนอการขยายกรอบวงเงินที่จะใช้ในการเยียวยาครั้งนี้ เพิ่มเติมจากเดิมที่เคยเสนอขอไว้แล้ว 3 หมื่นล้านบาท

ส่วนวาระอื่น ๆ กระทรวงอุตสาหกรรม เสนอร่างกฎกระทรวงยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องเสียง วีดิทัศน์ และเครื่องใช้ อิเล็กทรอนิกส์ที่คล้ายกัน : คุณลักษณะที่ต้องการด้านความปลอดภัยต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ.2564 พ.ศ. …. กระทรวงดิจิทัลฯ เสนอ ร่างประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่องหลักเกณฑ์การเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ ของผู้ให้บริการ พ.ศ. ….

สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอการขับเคลื่อนการให้บริการประชาชนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) ในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 รวมทั้งมีการขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณี ฉุกเฉินหรือจำเป็นเพื่อดำเนินงานโครงการอบรมและส่งเสริมการพัฒนายกระดับทักษะอาชีพในภาคเกษตรกรรม และรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของไทย (Universal Periodic Review : UPR) รอบที่ 3