เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะกรรมาธิการ(กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 กล่าวว่า วันนี้ได้ส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS ถึง ป.ป.ช. เพื่อขอให้ตรวจสอบ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว พร้อม ส.ส.รายอื่นๆ ที่เห็นชอบให้ปรับลดงบรายจ่ายลงทุน ปี 65 จนต่ำกว่าร้อยละ 20 ว่าเข้าข่ายมีความผิดตามรัฐธรรมนูญ ม.234 (1) หรือไม่

จากกรณีดังกล่าว ถอดความมาจากคลิปหัวข้อ “ประยุทธ์-ชลน่าน” โต้ตัวเลขงบฯรายจ่ายลงทุนที่ไม่ถึง ร้อยละ 20 ซึ่งเป็นคลิปการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 66 วาระแรก เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 65 ที่ นพ.ชลน่าน ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ระบุไว้ส่วนหนึ่งว่า “ผมชี้ให้ท่านประธานเห็นครับ เอกสารงบประมาณสองเล่มนี้นะครับ สีน้ำเงินคือปี 65 ปีนี้ในเอกสารงบประมาณท่านเชียนไว้ให้เห็นเลยครับ ยอมรับสารภาพผิดต่อหน้านี้เลยว่า งบประมาณที่เป็นงบลงทุนปีที่แล้วนะครับ อยู่ในเอกสารนะครับ ขยายภาพอีกสักนิดหนึ่งนะครับ ท่านตั้งไว้ที่ 20.4 พอดูเอกสารงบประมาณเหลือ 19.76 ครับ ผมถามว่าขัด พ.ร.บ.วิน้ยการเงินการคลังมั๊ย จริงอยู่ครับมาตรา 20 บอกว่า ตั้งงบประมาณไม่น้อยกว่า นั่นคือการกระทำแต่แรกคือตั้ง แต่ท่านอย่าเหมารวมว่า กฎหมายเขียนเพียงแค่ตั้งนะ เมื่อปฏิบัติแล้วฉันจะทำยังไงก็ได้ นั้นไม่ใช่ครับท่านประธาน มันหมายถึงว่า ปฏิบัติจริงต้องได้ 20 ด้วย…”

นายเรืองไกร กล่าวต่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ตอบชี้แจงว่า “เฉพาะเรื่องแรก ที่ท่านกล่าวมาว่า มีการใช้จ่ายงบประมาณในการลงทุนนั้นลดลงกว่าที่เสนอไว้ ใช่มั๊ย เมื่อกี้ที่อ่านมา ที่กล่าวมาเมื่อสักครู่นะครับ ในปีงบประมาณดังกล่าวนั้น เราเสนองบประมาณเข้ามา 624,399.8520 ล้านบาท นะครับ ตามเอกสารปี 65 สีน้ำเงินแต่เมื่อถึงขั้นการพิจารณาของฝ่ายนิติบัญญัติ ท่าน กรรมการ กรรมาธิการวิสามัญได้มีการปรับลดรายจ่ายลงทุนทั้งสิ้น 12,466.4041 ล้านบาท ทำให้เหลือรายจ่ายลงทุนทั้งสิ้น 611,933.4479 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 19.74 ของวงเงินงบประมาณใครตัดครับ ผมตั้งออกมาแล้ว ใครตัด…”

นายเรืองไกร กล่าวว่า จากกรณีที่เกิดขึ้น เมื่อย้อนไปตรวจสอบข้อเท็จจรืงแล้วพบว่าการปรับลดงบลงทุนเกิดขึ้นในชั้นอนุกรรมาธิการ โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เป็นผู้รับผิดชอบในแต่ละหน่วยรับงบประมาณให้ความยินยอมด้วย ต่อมา กมธ.เสียงข้างมากให้ความเห็นชอบ ให้ปรับลดและนำไปเพิ่มเป็นงบกลาง และต่อมาวันที่ 18 ส.ค.64 วาระสอง มาตรา 6 งบกลาง ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ลงมติเห็นด้วย 326 คน หนึ่งในนั้นคือ นพ.ชลน่าน เมื่อนำคำพูดของนายชลน่าน ที่ระบุว่า “เมื่อปฏิบัติจริงต้องได้ 20 ด้วย” มาพิจารณากับรัฐธรรมนูญ ม.62 ม. 140 และ ม.142 แล้วอาจทำให้เห็นได้ว่ากรณีที่เกิดขึ้นควรอยู่ในความรับผิดชอบของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ยินยอมให้ปรับลดรายจ่ายลงทุนจนต่ำกว่า ร้อยละ 20

การปรับลดงบลงทุนดังกล่าว จึงเข้าข่ายที่ต้องขอให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบว่า การที่อนุกรรมาธิการปรับลดโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ความยินยอม และ กมธ.เสียงข้างมาก เห็นด้วย ต่อมาในที่ประชุมสภา ส.ส. ให้ความเห็นชอบในวาระสองและวาระสาม ตามมานั้น จะเข้าข่ายฝ่าฝืน พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ ม.20 (1) หรือไม่ และขัดรัฐธรรมนูญ ม.62 ม.140 ม.142 หรือไม่ และจะมีความผิดตามรัฐธรรมนูญ ม.234(1) หรือไม่ ตนแปลกใจที่ นพ.ชลน่าน มาพูดในสภาเมื่อวันที่ 31 พ.ค. 65 ว่าเรื่องการปรับลดรายจ่ายลงทุนดังกล่าวว่า ขัด พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ม.20 (1) หรือไม่ ทั้งที่ น.พ.ชลน่านเคยลงมติเห็นด้วยกับการปรับลดรายจ่ายลงทุนดังกล่าว ในวาระสอง ของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 65 มาตรา 6 เมื่อวันที่ 18 ส.ค.64 ดังนั้น เรื่องนี้จึงควรให้ ป.ป.ช.สอบ น.พ.ชลน่าน ผู้นำฝ่ายค้าน เป็นรายแรก แล้วค่อยสอบ ส.ส. และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องต่อไป