จากกรณีมีนักท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ รวมทั้งนักเดินป่า เดินทางมาท่องเที่ยวธรรมชาติ บริเวณป่าลึก เขตอุทยานแห่งชาติน้ำตกโยง พื้นที่หมู่ 5 ต.นาหลวงเสน อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ทำให้นักท่องเที่ยวเกิดอาการล้มป่วยโรคทางเดินหายใจแล้วหลายราย ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 ต.ค. นายถิรนาท เอสะนาชาตัง นายอำเภอทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช พร้อมด้วยฝ่ายปกครอง ปลัดอำเภอ ร่วมกับ นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน พร้อมเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, คณะสัตวแพทย์ มทร.ศรีวิชัย, เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลทุ่งสง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบโพรงไม้ในเขตอุทยานแห่งชาติน้ำตกโยง พื้นที่หมู่ 5 ต.นาหลวงเสน อ.ทุ่งสง หลังมีคณะนักท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ เดินทางศึกษาธรรมชาติแล้วเข้าไปในโพรงต้นไม้ดังกล่าวแล้วเกิดอาการล้มป่วยด้วยโรคระบบทางเดินทางหายเกือบ 10 ราย ในจำนวนนี้แพทย์ตัดชิ้นเนื้อไปตรวจวิเคราะห์ห้องแล็บ พบว่า มีเชื้อราเจริญเติบโตในปอด แพทย์จึงต้องทำการรักษาอย่างเร่งด่วนตามอาการ

เอกซเรย์ปอดด่วน! ‘หมอมนูญ’ เตือนมุดโพรงต้นไม้ใหญ่ อาจติดเชื้อรามูลค้างคาว

โดยจากการตรวจสอบโพรงต้นไม้ดังกล่าว เบื้องต้นพบว่า เป็นต้นช้างม่วง อายุกว่า 100 ปี มีความสูงกว่า 40 เมตร ขนาดโพรงสูงประมาณ 3 เมตร ส่วนในโพรงมีมูลค้างคาวจำนวนมาก จึงเก็บตัวอย่างดินและมูลค้างคาวในโพรงต้นไม้ เพื่อตรวจสอบหาเชื้อโรค พร้อมกับนำป้ายปิดห้ามเข้าโพรงต้นไม้เด็ดขาด เบื้องต้นคาดว่านักท่องเที่ยวเข้าไปในโพรง โดยไม่มีการสวมชุด สวมแมสก์ป้องกัน ระหว่างอยู่ในโพรงต้นไม้มีการสูดดมมูลค้างคาว และมูลสัตว์ที่อยู่ในโพรงเป็นเวลานาน ทำให้เกิดการติดเชื้อทางเดินหายใจ และล้มป่วย

ขณะที่ นายถิรนาท นายอำเภอทุ่งสง เผยว่า หลังได้รับแจ้งว่ามีนักท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ เดินป่า มาท่องเที่ยวเส้นทางธรรมชาติที่เขตอุทยานแห่งชาติน้ำตกโยง แล้วเข้าไปในโพรงต้นช้างม่วง หลังจากนั้น 1-2 สัปดาห์ เกิดอาการล้มป่วย อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย แพทย์จึงเก็บชิ้นเนื้อตรวจแล็บ และพบว่าในปอด มีจุดขนาดแตกต่างกันกระจายทั่วปอดไล่ตั้งแต่คนมีจุกเล็กที่สุดในปอดขนาด 3 มิลลิเมตร ไปถึงคนที่มีลักษณะเป็นก้อนขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร กระจายทั่วปอดคนที่มีก้อนในปอดพิสูจน์แล้วว่าเป็นโรคฮิสโตพลาสโนซิส ด้วยการตัดชิ้นเนื้อจากปอดพบเชื้อรา Histoplasma capsulatam เจริญเติบโตแบ่งตัวภายในปอด จนกระทั่งวันนี้ตนจึงร่วมกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตรวจสอบเก็บตัวอย่างดินและมูลสัตว์ในโพรง พร้อมปิดป้ายห้ามเข้าไปในโพรงเด็ดขาด.