เชื่อว่าการมีบ้านเป็นความฝันของใครหลายคน แต่กว่าจะได้บ้านมาสักหลังนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมักเจอปัญหาการสร้างบ้านบ่อยครั้ง ส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาที่พบในระยะยาว เนื่องจากวัสดุที่เลือกไม่ได้ทนต่อการใช้งานในระยะยาว ทำให้เกิดปัญหาให้ต้องตามแก้ภายหลัง ซึ่งไม่ได้เป็นการแก้ที่ต้นเหตุ


เช่นเดียวกับเจ้าของบ้านรายนี้ ที่ทางเพจผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งได้นำเรื่องราวมาเผยแพร่ กรณีที่ได้สร้างบ้านกับผู้รับเหมาซึ่งเป็นวิศวกรบริษัทแห่งหนึ่ง ดูแลการก่อสร้างทั้งหมด แต่ยิ่งทำให้เจ้าของบ้านหนักใจ เมื่อวิศวกรคนดังกล่าวใช้อิฐถึง 3 ชนิดในการก่อสร้างบ้านทั้งหลัง และวิธีแก้ก็คือต้องทุบทิ้งอย่างเดียว

โดยต้นโพสต์มีข้อความระบุว่า ‘ปัญหาของ ผนังก่ออิฐ ฉาบปูน ที่จุกจิกและกวนใจสุดคือ อาการแตกร้าว เพราะการแตกร้าวหลาย ๆชนิด มันไม่สามารถแก้ให้หายขาดได้ คือแก้แล้ว เดี๋ยวก็กลับมาแตกที่เดิม แล้วเมื่อผนังมีการแตกร้าว จะมีปัญหาอีกหลายอย่างตามมา เช่น เกิดการรั่วซึม เกิดความชื้น เกิดรา มีเห็ดขึ้น และอาจจะลามไปถึงขั้น เกิดการระเบิด หรือแตกร้าวขนาดใหญ่ จนทำให้เกิดปัญหาบ้านเสียหายรุนแรง

ปัญหาผนังแตกร้าว จะมี 2 เรื่องใหญ่ๆ คือ 1. แตกร้าวจากการทรุดตัว และการทำงานไม่ได้มาตรฐาน 2.การยึดหดตัวของวัสดุ จากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ

ซึ่งจากรูป ที่ต้อง REJECT ผนังตามที่เห็น (และเกือบทั้งบ้านนี้) มันเป็นต้นเหตุของการเกิดปัญหาข้อที่ 2 ลองสังเกตดี ๆ จะเห็นว่าในผนัง 1 แผงนี้เอง มีการใช้อิฐ 3 ชนิดมาก่อเป็นผนัง คือ อิฐเซรามิก (อิฐพันปี), อิฐมอญชนิดมีรู และอิฐมอญโบราณ ชนิดตัน ซึ่งอิฐทั้งสามชนิดนี้ มีขนาดก้อนที่ต่างกันมาก ๆ และมีอัตราการสะสมความร้อนที่ต่างกันด้วย ที่สำคัญ อิฐทั้งสาม มีอัตราการยืด-หดตัว เมื่ออุณหภูมิเปลี่ยนแปลงไม่เท่ากันและ 3 อย่างนี้ นี่คือเหตุผลของต้นเหตุปัญหาผนังแตกร้าว จากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ

เพราะเมื่อผนังโดนความร้อน จะเกิดการสะสมความร้อนเข้ามาในอิฐ ขนาดก้อนที่ต่างกัน จะทำให้ความสามารถในการสะสมความร้อนต่างกัน ก้อนใหญ่ ก็มีความร้อนได้มากกว่า ก้อนที่เล็กก็สะสมน้อย และเมื่อสะสมความร้อนแล้ว วัสดุทุกชนิดจะเกิดการขยายตัว ทีนี้ ด้วยความที่วัสดุแต่ละชนิด ก็จะมีอัตราการขยายตัวได้ต่างกันอีก มันจึงเกิดมีอิฐที่ขยายตัวมาก และอิฐที่ขยายตัวน้อยในแผงเดียวกัน

ปัญหาเลยเกิดขึ้นจากตรงนี้ เพราะการที่ขยายตัวไม่สม่ำเสมอ มันจะทำให้แต่ละจุดของผนัง มีการยืด หด ที่ไม่เท่ากัน และทำให้เกิดการแตกร้าว กระจายไปทั่ว และการแตกร้าวนี้ แม้จะทำการแก้ไข ด้วยการสกัดผิวฉาบออก ฉาบใหม่ทั้งหมด แล้วลงทับด้วยสกิมโค้ทอย่างดีที่สุด จากนั้นก็ใช้สียืดหยุ่น 7 แสนเท่าเข้ามาทาปิดรอย สุดท้ายผนังก็จะแตกอีกอยู่ดี เพราะต้นเหตุของปัญหาไม่ได้ถูกแก้ไขไปด้วย การแก้ไขต้นเหตุนี้ ทำได้อย่างเดียวคือ พัง…ทิ้งให้หมด แล้วก่อผนังใหม่ทั้งหมด ด้วยอิฐชนิดเดียวกัน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการยืดหดที่ไม่เท่ากันของวัสดุก่อ ดังนั้น จุดนี้จึงเลี่ยงไม่ได้ ที่จะต้องทุบทิ้งทำใหม่หมด และนั่นก็เป็นเหตุผลที่ต้องรีจอยซ์ งานนี้ไป

น่าตลกคือ โครงการนี้ ออกแบบ ควบคุมและรับเหมาก่อสร้างโดยวิศวกร (คนเดียวทั้งระบบ) แต่ข้อแก้ตัวของวิศวกรคนนี้ ในการใช้อิฐผสมเป็นรวมมิตร คือการสั่งอิฐพันปี ต้องสั่งจำนวนมาก ไม่งั้นจะมีค่าส่ง และไม่ได้คำนวณจำนวนที่ใช้ก่อนสั่ง จึงทำให้ลอตสองมีจำนวนไม่พอได้ส่งฟรี ถ้าสั่งก็จะเสียเงินค่าขนส่งเยอะ ทำให้อาจจะขาดทุนกำไร เลยสั่งเอาอิฐแถวนั้นมาใช้งาน ซึ่ง “ขอเจ้าบ้านแล้ว”

ถามหน่อยซิครับ คุณเจ้าบ้าน ถ้าวิศวกร มาบอกว่า จะขอเปลี่ยนอิฐก่อ ถ้าเค้าบอกว่า ราคาไม่ต่างกัน ความแข็งแรงมากกว่าเดิม โครงสร้างก็รับน้ำหนักได้ คุณจะให้เค้าเปลี่ยนมั้ย? ถ้าคำตอบคือ ให้เปลี่ยน ผมแนะนำว่า คุณต้องมีที่ปรึกษาการก่อสร้างแล้วแหละ

ตอนนี้วิศวกรคนดังกล่าว งอนและแกล้งบอกเลิกทำงานไปแล้ว เพราะไม่พอใจคอนเซาท์ ซึ่งคอนเซาท์ก็ต้องบอกว่า เรื่องของ…แหละ งานห่วยเกินอภัย เลิกทำอาชีพนี้ไปเลยได้ “ยิ่งดี”
เดี๋ยวเอาความห่วยของวิศวกรคนนี้มาให้ดูกันอีก จะได้ระวังกันไว้ว่า วิศวกร ก็ไมใช่จะเชื่อใจได้ไปทุกคน ยังไงก็ต้องระวังนะจ๊ะ