นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) ไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะ (เฟส) ที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 356 กิโลเมตร (กม.) วงเงินประมาณ 3 แสนล้านบาทว่า ได้รับข้อมูลจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เบื้องต้นว่า ขณะนี้ออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จ อยู่ในขั้นตอนการยื่นขอพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ (สผ.) ซึ่งขณะนี้ทางคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ได้ให้จัดทำข้อมูลเพิ่มเติม และ รฟท.ได้ส่งข้อมูลกลับไปอีกครั้งแล้ว

นายพิเชฐ กล่าวต่อว่า ทาง รฟท. จะรอดูแนวโน้มการพิจารณาอีไอเอก่อนว่าจะเป็นอย่างไร หากมีแนวโน้มราบรื่นดี คาดว่าจะเสนอโครงการฯ ให้คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. พิจารณาอนุมัติได้ประมาณเดือน ต.ค.65 ก่อนเสนอให้กระทรวงคมนาคม และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ในปลายปี 65 ต่อไป อย่างไรก็ตาม สำหรับโครงการรถไฟไทย-จีน เฟสที่ 2 มีเส้นทางครอบคลุม 4 จังหวัด ประกอบด้วย จ.นครราชสีมา, จ.ขอนแก่น, จ.อุดรธานี และ จ.หนองคาย เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะช่วยอำนวยความสะดวกด้านการเดินทางที่มีความรวดเร็ว และความปลอดภัยให้ประชาชน รวมทั้งยังเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์เชื่อมต่อการค้าการลงทุนของไทยกับ สปป.ลาว และประเทศจีนด้วย

ด้านนายกำพล บุญชม รองวิศวกรใหญ่ด้านโครงการพิเศษ รฟท. กล่าวว่า หากในช่วงปลายปี 65 ครม. เห็นชอบโครงการฯ ทาง รฟท. จะใช้เวลาหลังจากนั้นในการดำเนินการขั้นตอนการประกวดราคา (ประมูล) ประมาณ 7 เดือน และคาดว่าน่าจะเริ่มก่อสร้างได้ประมาณเดือน ส.ค.-ก.ย.66 โดยจะใช้เวลาก่อสร้าง และติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ ประมาณ 4 ปี และสามารถเปิดให้บริการได้ประมาณปี 71 อย่างไรก็ตามเบื้องต้นโครงการดังกล่าวจะแบ่งเป็นไม่เกิน 10 สัญญา ซึ่งโครงการนี้หากผ่านความเห็นชอบจาก ครม. จะสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วเพราะพื้นที่ที่ใช้ในการก่อสร้างส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ของการ รฟท. โดยใช้เขตรถไฟเดิมเกือบทั้งหมด เป็นพื้นที่เวนคืนน้อยมาก

นายกำพล กล่าวต่อว่า สำหรับแนวเส้นทางตลอดระยะทาง 356 กม.นั้น แบ่งเป็น ทางรถไฟระดับพื้นดิน185 กม. และทางรถไฟยกระดับ 171 กม. มีทั้งสิ้น 5 สถานี ได้แก่ สถานีบัวใหญ่, สถานีบ้านไผ่, สถานีขอนแก่น, สถานีอุดรธานี และสถานีหนองคาย โดยจะมีสถานีขนถ่ายสินค้า 1 แห่ง บริเวณสถานีรถไฟนาทา จ.หนองคาย รวมทั้งจะมีการก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงที่เชียงรากน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา และสถานีนาทา จ.หนองคาย ส่วนการออกแบบรางมีขนาด 1.435 เมตร โดยรถไฟสามารถใช้ความเร็วได้สูงสุด 250 กม.ต่อชั่วโมง (ชม.) ใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังหนองคาย ระยะทางรวม 609 กม. ประมาณ 3 ชั่วโมง 15 นาที.