ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นต่อนโยบายนี้ ทั้งผู้ปกครอง นักเรียนนักศึกษา ครู-บุคลากรทางการศึกษา และประชาชนทั่วไป เห็นตรงกันยังมีความเชื่อมั่นต่อ ศธ.ในการแก้ไขปัญหานี้ ภาพรวมประชาชนให้คะแนนความพึงพอใจ 7.4/10 คะแนน

เมื่อวันที่ 11 ก.ค. นายวีระ แข็งกสิการ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะโฆษก ศธ. เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ตระหนักถึงเรื่องความปลอดภัยในสถานศึกษาว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน และมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียน จึงได้มีการกำหนดให้เรื่องดังกล่าวเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของ ศธ. พร้อมทั้งมีการขับเคลื่อนการดำเนินงานรอบด้านภายใต้นโยบาย “MOE Safety Center สถานศึกษาปลอดภัย” ในหน่วยงานทุกระดับมาอย่างต่อเนื่อง โดย “เสมาโพล” ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อนโยบาย “MOE Safety Center สถานศึกษาปลอดภัย” ซึ่งทำการสำรวจจากประชาชนทุกจังหวัดทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 3,378 หน่วยตัวอย่าง โดยเก็บรวบรวมข้อมูลในรูปแบบการสำรวจออนไลน์ ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน-4 กรกฎาคม 2565 ผลการสำรวจพบว่า 1. การรับทราบถึงนโยบาย “MOE Safety Center สถานศึกษาปลอดภัย” ของประชาชน : ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 76.7 ระบุว่า ทราบถึงนโยบาย MOE Safety Center สถานศึกษาปลอดภัย ของกระทรวงศึกษาธิการ โดยร้อยละ 31.20 ได้รับทราบข้อมูลผ่านการประชาสัมพันธ์ของสถานศึกษาหรือหน่วยงานทางการศึกษา เช่น การติดป้ายหน้าหน่วยงาน การอบรม และการรณรงค์ ฯลฯ รองลงมา ร้อยละ 21.55 ได้รับทราบผ่านทางเว็บไซต์ของกระทรวงศึกษาธิการ ร้อยละ 19.66 ได้รับทราบผ่านสื่อออนไลน์ เช่น YouTube, Facebook, Line, Twitter ฯลฯ ร้อยละ 3.08 ได้รับทราบผ่านการบอกต่อระหว่างผู้ใช้งานระบบ MOE Safety Center และร้อยละ 1.21 ได้รับทราบผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ เช่น หนังสือพิมพ์ โปสเตอร์ แผ่นพับ คู่มือ วารสาร ฯลฯ ส่วนประชาชนร้อยละ 23.30 ระบุว่า ไม่ทราบนโยบายดังกล่าว

รองปลัด ศธ. กล่าวต่อไปว่า ส่วน 2 ประสบการณ์เกี่ยวกับ “ความไม่ปลอดภัยในสถานศึกษา” ของประชาชน : ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 70.57 ระบุว่า ในห้วงปีที่ผ่านมา ตนเองหรือบุตรหลานวัยเรียนไม่เคยประสบกับปัญหาด้านความไม่ปลอดภัยในสถานศึกษา ส่วนอีกร้อยละ 29.43 ระบุว่า ตนเองหรือบุตรหลานวัยเรียนเคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับความไม่ปลอดภัยในสถานศึกษา โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 12.29 ระบุว่า เคยประสบภัยที่เกิดจากผลกระทบต่อสุขภาวะทางร่างกายและจิตใจ เช่น การกลั่นแกล้ง รังแก รองลงมาคือ ร้อยละ 8.61 ระบุว่าเคยประสบภัยที่เกิดจากอุบัติเหตุในสถานศึกษา ร้อยละ 5.92 ระบุว่า เคยประสบภัยที่เกิดจากการใช้ความรุนแรงของมนุษย์ เช่น การทะเลาะวิวาท และร้อยละ 2.61 ระบุว่า เคยประสบภัยที่เกิดจากการละเมิดสิทธิ เช่น การคุกคามทางเพศ การลงโทษแบบไร้เหตุผล ตามลำดับ

3.ความคิดเห็นต่อนโยบาย “MOE Safety Center สถานศึกษาปลอดภัย” ของกระทรวงศึกษาธิการ : ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 59.45 มีความเห็นว่าจุดเด่นของการดำเนินงานรอบด้านตามนโยบาย “MOE Safety Center สถานศึกษาปลอดภัย” ของกระทรวงศึกษาธิการ คือ เป็นการช่วยป้องกันความเสี่ยงในสถานศึกษาที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงต่อตัวบุคคลหรือต่ออาคารสถานที่ รองลงมาคือ ร้อยละ 33.45 มีความเห็นว่าจุดเด่นของการดำเนินงานคือ เป็นการช่วยปลูกฝังหรือสอนให้เด็ก ๆ รู้จักวิธีเอาตัวรอดในสถานการณ์ที่ไม่ปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน เน้นการสอนวิชาชีวิตที่มีความสำคัญไม่น้อยกว่าการสอนวิชาการ และร้อยละ 7.10 มีความเห็นว่าจุดเด่นของการดำเนินงานคือ เป็นการปราบปรามการกระทำผิดอย่างจริงจัง เน้นเยียวยาแก่ผู้เสียหายเป็นสำคัญ ตามลำดับ

4.ความเชื่อมั่นต่อนโยบาย “MOE Safety Center สถานศึกษาปลอดภัย” ของกระทรวงศึกษาธิการ : ผลการสำรวจจำแนกตามกลุ่มผู้ให้ข้อมูล พบว่า กลุ่มผู้ปกครองส่วนใหญ่ร้อยละ 56.34 ระบุว่า มีความเชื่อมั่น รองลงมา ร้อยละ 39.98 ระบุว่า ไม่แน่ใจ ส่วนร้อยละ 3.68 ระบุว่า ไม่เชื่อมั่น กลุ่มนักเรียน นักศึกษาส่วนใหญ่ร้อยละ 59.88 ระบุว่า มีความเชื่อมั่น รองลงมา ร้อยละ 36.19 ระบุว่า ไม่แน่ใจ ส่วนร้อยละ 3.93 ระบุว่า ไม่เชื่อมั่น กลุ่มครู อาจารย์ บุคลากรทางการศึกษาส่วนใหญ่ร้อยละ 61.83 ระบุว่ามีความเชื่อมั่น รองลงมา ร้อยละ 31.30 ระบุว่าไม่แน่ใจ ส่วนร้อยละ 6.87 ระบุว่าไม่เชื่อมั่น กลุ่มประชาชนทั่วไปส่วนใหญ่ร้อยละ 49.02 ระบุว่า มีความเชื่อมั่น รองลงมา ร้อยละ 39.22 ระบุว่า ไม่แน่ใจ ส่วนร้อยละ 11.76 ระบุว่า ไม่เชื่อมั่น และ 5.ในภาพรวมของนโยบาย “MOE Safety Center สถานศึกษาปลอดภัย” ของกระทรวงศึกษาธิการ ประชาชนให้คะแนนความพึงพอใจ จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน ได้ 7.40 คะแนน