น.ส.พรลัดดา เดชรัตน์วิบูลย์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า จ๊อบส์ ดีบี ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลสถานการณ์ตลาดแรงงานไทยหลังวิกฤตการณ์โควิดระลอกที่ 3 และ 4 ในช่วงครึ่งปีแรก ของปี 64 พบว่า ไตรมาสที่ 1 อัตราการว่างงานรายไตรมาสในประเทศไทยสูงสุดเมื่อเทียบกับ 5 ปีย้อนหลัง และสูงที่สุด ตั้งแต่เกิดวิกฤติโควิด อยู่ที่ 1.96%  จากการลดจำนวนแรงงานและฤดูกาลโยกย้ายประจำปี ในขณะที่จำนวนความต้องการ แรงงานในประเทศไทย ทั้งจากบนแพลตฟอร์มหางาน และช่องทางสื่อกลางออนไลน์อื่น ๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในของ ความต้องการแรงงานทั้งหมดนั้น ในช่วงครึ่งปีแรกฟื้นขึ้นมา 6.7% เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีหลังของปี 63

โดยจากข้อมูลจำนวนประกาศงานบน จ๊อบส์ ดีบี ในช่วงครึ่งปีแรก พบว่า กลุ่มสายงานที่เป็นที่ต้องการมากที่สุด ได้แก่ 1. สายงานขาย บริการลูกค้า และพัฒนาธุรกิจ คิดเป็น 15.3% 2. สายงานไอที คิดเป็น 14.8% 3. สายงานวิศวกรรม คิดเป็น 10.0% ในขณะที่กลุ่มสายงานที่มีจำนวนประกาศงานเติบโตขึ้นมากที่สุด ได้แก่ 1. สายงานการจัดซื้อ เพิ่มขึ้น 43.0% 2. สายงานขนส่ง เพิ่มขึ้น 37.4%  และ 3. สายงานประกันภัย เพิ่มขึ้น 36.4%

น.ส.พรลัดดา  กล่าวต่อว่า ในด้านการฟื้นตัวของภาคธุรกิจโดยพิจารณาจำนวนความต้องการแรงงาน พบว่า ธุรกิจที่มีสัดส่วนจำนวนประกาศงานสูงสุด ได้แก่ 1. กลุ่มธุรกิจไอที คิดเป็น 9.6% 2. กลุ่มธุรกิจการผลิต คิดเป็น 6.2% 3. กลุ่มธุรกิจการค้าปลีก-ส่ง คิดเป็น 5.5% และธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตสูงสุด เมื่อเทียบกับครึ่งปีหลังของปี 63 ได้แก่ 1. กลุ่มธุรกิจอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ คิดเป็น 52.6% 2. กลุ่มธุรกิจประกันภัย คิดเป็น 48.0% 3.กลุ่มธุรกิจการผลิต 41.7% นอกจากนี้ยังพบว่า อัตราการแข่งขันลดลงในเชิงจำนวนอยู่ที่ 80 ใบสมัครต่อ 1 ประกาศงาน และยอดจำนวน ใบสมัครงานเพิ่มขึ้น 12%

นอกจากนี้ ยังได้ร่วมมือกับบริษัท บอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป และ เดอะ เน็ตเวิร์ก ทำสำรวจ เพื่อศึกษาเทรนด์ของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนไปหลังจากที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการณ์โควิด-19 พบว่า หลังวิกฤติโควิด คนทำงานสามารถปรับตัวกับการทำงานระยะไกลได้ดีขึ้น และให้ให้ความสำคัญกับ อัตราเงินเดือนและผลตอบแทน ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงาน และ ความรู้สึกภาคภูมิใจกับงาน ตามลำดับ