เมื่อวันที่ 22 ก.ค. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตามที่ได้มีการพบผู้ป่วยโรคฝีดาษวานร รายแรกในประเทศไทย เป็นชายชาวไนจีเรีย อายุประมาณ 27 ปี เป็นสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก ซึ่งไม่รุนแรง ทั้งนี้ มีการสอบสวนโรคและค้นหากลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง คือเพื่อนของผู้ป่วย 2 ราย เป็นคนไทย 1 คนและเป็นชาวไนจีเรียอีก 1 คน ตรวจแล้วไม่พบการติดเชื้อ แต่ให้สังเกตอาการตัวเอง 21 วัน นอกจากนี้ยังได้ค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกที่สถานบันเทิง 2 แห่งในจังหวัดภูเก็ต ที่ผู้ป่วยเคยไปใช้บริการ มีคนไปใช้บริการ 142 คน พบผู้มีอาการไข้ เจ็บคอ 6 ราย ผลตรวจ 4 ราย ไม่พบเชื้อ แต่ให้เฝ้าระวังตนเอง 21 วัน อีก 2 ราย รอตรวจ นอกจากนี้ ยังค้นหาผู้สัมผัสใกล้ชิดในโรงแรม และสถานบันเทิงแห่งอื่นๆ เพิ่มเติม รวมทั้งการกำตัดเชื้อในห้องพักคอนโดฯของผู้ป่วย ให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวกับสถานบันเทิง และผู้ใช้บริการ

เมื่อถามถึงกรณีมีรายงานผู้ป่วยหลบหนี นพ.โอภาส กล่าวว่า คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดภูเก็ตจะเป็นผู้รายงาน เมื่อถามต่อว่าผู้ป่วยรายนี้เดินทางเข้าประเทศไทยตั้งแต่เมื่อไหร่ บินตรงมาลงที่ภูเก็ตหรือเดินทางจากจังหวัดไหนไปยังภูเก็ต นพ.โอภาส กล่าวว่า เรื่องนี้ก็ขอให้ทางภูเก็ตเป็นผู้ให้รายละเอียด

นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า โรคฝีดาษวานร พบว่าความรุนแรงไม่ได้มากนัก การติดต่อไม่ได้รวดเร็ว โดยตั้งแต่ผู้ป่วยยืนยันตั้งแต่วันที่ 7 พ.ค. 2565 มีผู้ป่วยยืนยัน 12,608 ราย แต่การกระจายตัวค่อนข้างเยอะประมาณ 66 ประเทศ และไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต ซึ่งแตกต่างจากโควิด-19 แค่ไม่กี่เดือนพบติดเชื้อหลักล้านคน ประเทศที่พบติดเชื้อมากที่สุด คือ สเปน 2,835 ราย รองลงมา เยอรมนี 1,859 ราย โดยข้อมูลที่พบส่วนใหญ่เป็นชาย สันนิษฐานว่าเกี่ยวข้องกับการสัมผัสใกล้ชิดระหว่างผู้ป่วย โดยเฉพาะตุ่ม ฝี หนอง จะพบเชื้อไวรัสจำนวนมาก โดยทั่วไปการติดต่อทางเดินหายใจไม่ใช่ลักษณะเด่นของโรคนี้ แต่จะจากการสัมผัสใกล้ชิด ส่วนมาตรการป้องกันนั้น มาตรการที่ใช้ป้องกันโควิด-19 ยังใช้ป้องกันฝีดาษวานรได้ คือ ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วย หรือผู้มีตุ่มมีหนอง เป็นสิ่งสำคัญ นอกจากนี้ ขออย่าตีตรา และลดทอนคุณค่ากลุ่มเสี่ยง

ทั้งนี้ ขณะนี้องค์การอนามัยโลก อยู่ระหว่างการประชุมว่าจะมีการยกระดับโรคนี้ว่าเป็นภาวะฉุกเฉินหรือไม่ แต่ตอนนี้มีคำแนะนำเกี่ยวกับการรวมกลุ่มทุกประเภท และขนาด ขอให้มีการประเมินความเสี่ยง วางแผนการจัดงานให้ดี และสถานพยาบาลหลายแห่งขอให้รวบรวมข้อมูลผู้ป่วย ทั้งผู้ป่วยยืนยันหรือสงสัย เพื่อส่งต่อข้อมูลไปยังองค์การอนามัย ขอย้ำว่า โรคฝีดาษวานร โดยลักษณะไม่ได้รุนแรงสูงมาก ขณะนี้มีสายพันธุ์หลักๆ คือ แอฟริกาตะวันตก และแอฟริกากลาง ซึ่งผู้ป่วยรายนี้ที่พบในไทย เป็นสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก ซึ่งมีความรุนแรงน้อยกว่า

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยได้ประกาศให้ฝีดาษวานรเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังอันดับที่ 56 โดยกำหนดอาการมีไข้ ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลือง บวมโต เจ็บคอ มีผื่นหรือตุ่มที่ผิวหนังลักษณะเป็นตุ่มน้ำหรือตุ่มหนอง ซึ่งอาจเกิดขึ้นที่ศีรษะ ลำตัว อวัยวะเพศและรอบทวารหนัก แขนหรือขา บางตุ่มอาจเกิดขึ้นที่ฝ่ามือหรือฝ่าเท้า ซึ่งเมื่อมีการประกาศเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวังแล้ว มาตรการและการดำเนินงานคือ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและกรุงเทพมหานคร รวมถึงเจ้าพนักงานควบคุมโรคต้องทำแผนปฏิบัติงานโรคติดต่อต้องเฝ้าระวังและรายงานสถานการณ์โรค หรือเหตุสงสัยต่ออธิบดี รวมทั้งเรียกบุคคลใดๆ มาให้ข้อเท็จจริง หรือจัดส่งข้อมูลหรือเอกสารใด ๆ ที่จำเป็นเพื่อประกอบการพิจารณา