สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 24 ก.ค. ว่า จรวดลองมาร์ช-5 บี วาย 3 ของสำนักงานอวกาศแห่งชาติจีน ( ซีเอ็นเอสเอ ) ทะยานขึ้นจากฐานปล่อยภายในศูนย์อวกาศเหวินฉาง บนเกาะไหหลำ ทางตอนใต้ของประเทศ เมื่อเวลา 14.22 น. ตามเวลาท้องถิ่นของวันอาทิตย์ ( 12.22 น. ตามเวลาในประเทศไทย ) เพื่อนำส่งโมดูล “เวิ่นเทียน” น้ำหนัก 23 ตัน และยาว 17.9 เมตร ซึ่งเป็นชิ้นส่วนหลักที่สองของสถานีอวกาศเทียนกง


ทั้งนี้ โมดูลเวิ่นเทียนประกอบด้วยห้องปรับแรงดัน ซึ่งจะเป็นทางเข้าและออกหลัก เมื่อการประกอบโมดูลสถานีเทียนกงเสร็จสมบูรณ์ และยังมีห้องพักสำหรับการเปลี่ยนภารกิจลูกเรือ ซึ่งจะหมุนเวียนกันมาปฏิบัติการภารกิจละ 3 คน ครั้งละนานประมาณ 6 เดือน


ขณะที่กำหนดการปล่อยโมดูลหลักชิ้นที่ 3 ชื่อ “เมิ่งเทียน” ซึ่งจะเป็นชิ้นสุดท้าย คือเดือน ต.ค.ที่จะถึงนี้ เมื่อการเชื่อมต่อโมดูลทั้งสามชิ้นเสร็จสมบูรณ์ โดยโมดูลชิ้นแรกคือ เทียนเหอ ซึ่งจีนส่งขึ้นไปเมื่อเดือน เม.ย.ปีที่แล้ว สถานีอวกาศเทียนกง หรือ “พระราชวังแห่งสรวงสวรรค์” จะมีรูปทรงคล้ายตัวอักษร “ที” ในภาษาอังกฤษ ( T ) และมีน้ำหนักประมาณ 66 ตัน


แม้ยังเป็นขนาดที่เล็กมาก เมื่อเทียบกับสถานีอวกาศนานาชาติ ( ไอเอสเอส ) ซึ่งมีน้ำหนัก 450 ตัน ที่สหรัฐและรัสเซีย เป็นกำลังสำคัญ อย่างไรก็ตาม โครงการสถานีอวกาศของจีนคือหนึ่งในจุดเริ่มต้นครั้งสำคัญของแผนยุทธศาสตร์ด้านอวกาศของรัฐบาลปักกิ่ง ซึ่งคืบหน้าไปอย่างรวดเร็ว ด้วยความสนับสนุนอย่างเต็มที่จากรัฐบาลและกองทัพ ร่วมด้วยแรงผลักดัน จากการที่สหรัฐปฏิเสธให้จีนเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการไอเอสเอส


สำหรับลูกเรือจีนที่กำลังปฏิบัติภารกิจประกอบสถานีอวกาศอยู่นั้น คือลูกเรือชุด “เสินโจว-14” เดินทางออกไปจากโลกเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. ที่ผ่านมา และมีกำหนดประจำการนาน 6 เดือน ได้แก่ นายไช่ ซวี่เจ๋อ วัย 46 ปี หัวหน้าภารกิจ นายเฉิง ตง วัย 43 ปี และ น.ส.หลิว หยาง วัย 43 ปี ซึ่งเป็นนักบินอวกาศหญิงคนที่สองของจีน ในภารกิจสถานีอวกาศนานาชาติครั้งนี้ ต่อจาก น.ส.หวัง ย่าผิง ซึ่งเป็นคนแรกที่เดินทางไปกับภารกิจ “เสินโจว-13” แต่ น.ส.หลิว หยาง ถือเป็นนักบินอวกาศหญิงคนแรกของจีน กับภารกิจ “เสินโจว-9” กับภารกิจต้นแบบสถานีอวกาศเทียนกง เมื่อปี 2554.

เครดิตภาพ : REUTERS