เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 2 ส.ค. คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย เปิดแถลงข่าวประจำสัปดาห์ โดยนายพิช้ย นริพทะพันธุ์ รองประธานยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่าธนาคารกลางของสหรัฐประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.75% เป็นครั้งที่ 2 ติดต่อกัน ทำให้อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐห่างกับอัตราดอกเบี้ยของไทยค่อนข้างมาก ซึ่งจะเป็นผลกระทบกดดันกับเศรษฐกิจไทยอย่างมาก นอกจากนี้ผลการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐและความพยายามที่จะคุมเงินเฟ้อทำให้เศรษฐกิจสหรัฐในไตรมาสสองติดลบ 0.9% เป็นการติดลบเป็นไตรมาสที่ 2 ติดต่อกันหลังจากไตรมาสแรกติดลบแล้ว -1.6% โดยทางเทคนิคเศรษฐกิจของสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่สภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐยังเข้มแข็งอยู่และต้องจับตาดูว่าเงินเฟ้อในสหรัฐจะลดลงหรือไม่ ถ้ายังไม่ลดก็มีโอกาสที่จะขึ้นดอกเบี้ยอีก ในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้จะช้าจะเร็วโอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอยก็เป็นไปได้มาก จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก อีกทั้งเศรษฐกิจจีนในไตรมาส 2 ย่ำแย่ขยายตัวได้เพียง 0.4% เท่านั้น และเศรษฐกิจอียูยังแย่จากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ดังนั้น เศรษฐกิจสหรัฐ จีน และอียู ที่ย่ำแย่จะส่งผลกระทบไปทั่วโลก ส่งผลถึงเศรษฐกิจไทยที่กำลังย่ำแย่อยู่แล้วด้วย

ในขณะที่ประเทศไทย ในเดือน ส.ค.นี้ ค่าก๊าซหุงต้มขึ้นเป็น 393 บาท/ถัง15 กก. ซึ่งหนักมาก ค่าการตลาดน้ำมันได้ปรับลดลงตามที่คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย ได้ทักท้วง และจะขึ้นค่าไฟฟ้าถึงหน่วยละ 4.72 บาท ในงวดเดือน ก.ย. ซึ่งยังสูงมาก และหากคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยไม่ทักท้วงไว้ น่าจะขึ้นทะลุไปหน่วยละ 5 บาท หรือ 6 บาทกว่าแล้ว แต่ถึงแม้จะขึ้นน้อยลงในตอนนี้ แต่กำลังรอเวลาจะขึ้นราคาอีกครั้งในไม่ช้า ซึ่งจะสร้างภาระให้ประชาชนและภาคธุรกิจอย่างมาก พิสูจน์แล้วว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่ถูกด่าไม่ยอมแก้ไข นอกจากนี้การขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐจะกดดันให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องขึ้นดอกเบี้ยในไม่ช้านี้ จะเพิ่มภาระให้กับประชาชนอย่างมาก ทั้งค่าผ่อนรถ ผ่อนบ้าน และหนี้สินต่างๆ รวมถึงหนี้ธุรกิจ ที่จะต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่ม

ดังนั้นจึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้พิจารณาอย่างรอบคอบในระดับอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมเพื่อให้เศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวต่อได้ และเงินทุนไม่ไหลออกเพราะตั้งแต่ต้นปีเงินทุนสำรองลดลง 45,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว ลดลงต่ำกว่า 220,000 ล้านเหรียญครั้งแรกในรอบ 3 ปี ค่าเงินบาทก็อ่อนค่าลง ถึงแม้ไทยจะส่งออกได้มาก 6 เดือนแรกขยายตัวได้ 12.7% แต่นำเข้าขยายตัวมากกว่า ทำให้ไทยขาดดุลการค้าอย่างมาก 6 เดือนที่ผ่านมาไทยขาดดุลการค้าแล้วกว่า 6.25 พันล้านเหรียญ หากการท่องเที่ยวไม่เพิ่มขึ้นเท่าที่ควร ประเทศไทยจะเกิดการขาดดุลแฝด (Twin Defiicits) คือขาดดุลทางการคลัง และขาดดุลบัญชีเดินสะพัดพร้อมกัน เป็นสัญญาณอันตรายต่อเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ทั่วโลก และไทยเองจะต้องระวังอย่างมาก ข้อมูลของผู้ว่าการ ธปท. ไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้เลย ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญและคำอธิบายหลายเรื่อง ของผู้ว่าการ ธปท.ยังคลุมเครือ

ดังนั้น ปัญหาเศรษฐกิจโลกที่จะถดถอย ปัญหาดอกเบี้ยขาขึ้น ปัญหาราคาพลังงานที่พุ่งสูง ปัญหาเงินเฟ้อ ปัญหาเหล่านี้จะซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจไทยที่มีอยู่แล้ว เช่น ปัญหาการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำและเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นเท่าเดิม ปัญหาประเทศหนี้ล้นประชาชนหนี้ท่วม ปัญหาความสามารถถแข่งขันที่ลดลงอย่างมาก ปัญหาโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่พัฒนา ปัญหาอุตสาหกรรมที่ล้าสมัย ทั้งหมดนี้เกิดมาจากการบริหารประเทศที่ผิดพลาด และขาดความรู้ความสามารถของ พล.อ.ประยุทธ์ ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา โดยเพิ่งจะมารู้ตัวถึงได้ออกยุทธศาสตร์ 3 แกน แต่สถานการณ์น่าจะเลวร้ายเกินเยียวยาแล้ว ความเชื่อมั่นของผู้นำไม่เหลือแล้ว สังเกตได้ว่ารัฐมนตรีที่ร่วมบริหารกับ พล.อ.ประยุทธ์ พอออกไปแล้วจะตำหนิความด้อยความสามารถของนายกฯ กันทุกคน ตั้งแต่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล นายสมหมาย ภาษี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และพวก เป็นต้น เชื่อได้ว่าเมื่อนายอาคม และนายสุพัฒนพงษ์ ออกไปก็อาจจะตำหนิ พล.อ.ประยุทธ์ เช่นกัน ในความล้มเหลว เพราะคงไม่มีใครอยากยอมรับความล้มเหลวที่เกิดขึ้นว่าเป็นความผิดของตัวเอง

แม้กระทั่งปัจจุบัน พล.อ.ประยุทธ์ ยังคิดได้เพียงโครงการคนละครึ่ง แถมให้เพียง 800 บาท โดยบอกว่าเศรษฐกิจดีขึ้นแล้ว ทั้งที่ก่อนหน้านี้นายอาคมเพิ่งจะบอกว่ารัฐบาลต้องเลิกแจกเงินและหันมาฟื้นฟูเศรษฐกิจได้แล้ว แต่ พล.อ.ประยุทธ์ คงไม่เข้าใจ คิดเป็นแต่แจกเงินอย่างเดียวเท่านั้น จากทั้งหมดที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าประเทศไทยกำลังจะเผชิญภัยคุกคามทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงในหลายด้าน โดยที่ผู้นำไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจ ซึ่งจะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก ดังนั้นภัยคุกคามทางเศรษฐกิจของไทยที่หนักที่สุดคือตัว พล.อ.ประยุทธ์ เอง เพราะเป็นสาเหตุหลักของประเทศที่เสื่อมถอย อีกทั้งยังจะพยายามที่จะรักษาอำนาจในทุกวิถีทาง และพยายามแก้กติกากลับไปกลับมากลัวแพ้ โดยไม่รู้ตัวเลยว่าไม่ว่าจะเลือกกติกาไหน ประชาชนจะไม่เลือกผู้นำที่บริหารล้มเหลวอีกต่อไปแล้ว และน่าจะต้องสำนึกตัวเองได้แล้ว อีกทั้งครบ 8 ปี ตามกำหนดรัฐธรรมนูญอย่าพยายามดันทุรังอีกเลย และนักวิชาการได้ออกมาเรียกร้องแล้ว

ทางด้าน นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม ส.ส.เชียงใหม่ กล่าวว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้ทำแผนการตลาดปี 66 พร้อมเตรียมผลักดันอุตสาหกรรมท่องเที่ยวด้วย 4 กลยุทธ์ และตั้งเป้าว่าจะดันรายได้การท่องเที่ยวปี 66 รวม 2.38 ล้านล้านบาท นั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่ทั้งนี้พรรคเพื่อไทยได้มองเห็นช่องโหว่ของกลยุทธ์ดังกล่าว

แต่ช่องโหว่ที่พบมีทั้งหมด 3 ช่องโหว่ คือช่องโหว่ที่ 1 คือ แผนการดำเนินการที่ไม่ชัด เห็นได้ว่ากลยุทธ์ทั้ง 4 ตัวนั้นขาดการวางแผนการดำเนินการที่ไม่รัดกุมและไม่รอบคอบ เช่น กลยุทธ์สร้างประสบการณ์การเดินทางที่มีความหมายและทรงคุณค่าให้กับนักท่องเที่ยว (Meaningful Travel) ทางรัฐบาลจะสร้างประสบการณ์นี้ได้อย่างไร ในเมื่อรัฐบาลยังตัดสินใจผิดพลาดในหลายๆ เรื่องและหลายๆ ครั้ง และรัฐมักปล่อยให้ภาคเอกชนต้องเดินฝ่าอุปสรรคด้วยตนเองตลอดมา ช่องโหว่ที่ 2 คือ รัฐอาจจะแพ้ภัยตัวเอง จากผลการจัดอันดับพบว่า กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา ประเทศไทย ติด 10 อันดับประเทศที่เป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวทั่วโลกในฤดูร้อนประจำ ปี 65  แต่ในความเป็นจริงแล้ว รัฐบาลทำผิดพลาดหลายครั้งทำให้เกิดการระบาดของโควิดมากกว่า 5 ระลอก และการฉีดวัคซีนที่ล่าช้าทำให้ประเทศต้องฟื้นตัวช้ากว่ากำหนด หากรัฐบาลยังหลงตัวเองคิดว่าตัวเองยังอยู่หัวคะแนนของตารางการท่องเที่ยวอยู่แบบนี้ ยิ่งทำให้รัฐบาลเพิกเฉยต่อธุรกิจการท่องเที่ยวไทยหรือไม่ และการแพ้ภัยตัวเองนี้อาจจะนำไปสู่พิษเศรษฐกิจทางการท่องเที่ยวของไทยได้

ช่องโหว่ที่ 3 คือ บาดแผลทางเศรษฐกิจที่ไม่เคยหายไป จากที่ตนได้มีส่วนร่วมในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมเสนอบาดแผลทั้ง 5 ประกอบด้วย (1) การว่างงานในระยะยาวอาจปรับตัวสูงสุดแตะได้ถึง 1.7 แสนคน (2) ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีการปรับตัวลดลง (3) ดัชนีความสุขของคนในประเทศไทยลดลงจากอันดับจากที่ 34 ให้ลงมาถึงอันดับที่ 46 (4) จำนวนนักท่องเที่ยว ในปี 65 อาจจะหายไปถึง 33 ล้านคนเมื่อเทียบกับปี 63 และ (5) บาดแผลที่ 5 รายได้จากภาคการท่องเที่ยวที่หายไปไปมากกว่า 3.5 ล้านล้านบาท และรัฐบาลยังสร้างบาดแผลเพิ่มจากแผนและกลยุทธ์การท่องเที่ยวที่เพ้อฝันอีก เป็นการทำลายฝันของธุรกิจการท่องเที่ยวอย่างสมบูรณ์แบบ

ทั้งนี้ตนขอเสนอ 3 กลไกที่จะถูกผลักดันโดยเครื่องยนตร์ตัวที่ 5 คือ เครื่องยนต์ทางดิจิทัล ดังนี้ กลไกที่ 1 พัฒนากรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion Economic Cooperation: GMS) ด้วยการผลักดันสินค้า Soft power ไทยที่โดดเด่น เช่น เนื้อสัตว์แช่แข็ง ยางพารา ผลไม้สด ผลไม้แปรรูป เป็นต้น ผ่าน Platform และ E-Commerce ในความร่วมมือระหว่างประเทศ สนับสนุนอุตสาหกรรมอาหารด้วย Covid Safety Food ผลักดันการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาทิ การท่องเที่ยว 5 เชียง การท่องเที่ยวถนน R3A R3B ทางอากาศ ทางรางและทางเรือ พร้อมยกระดับ Logistics เพื่อสนับสนุน Supply Chain ทางอาหารและอื่นๆอย่างเป็นระบบ และรีบดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม กลไกที่ 2 กรอบความร่วมมือแผนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT : Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle) ด้วยการผลักดัน Supply Chain ทั้ง 6 เส้นทาง (EC1-EC6) โดยชูจุดเด่นของสินค้าไทย เช่น ยางพารา อาหารทะเล ไม้ยางแปรรูป ปาล์มน้ำมัน อาหารทะเลแปรรูป และผลิตภัณฑ์ฮาลาลไทย พร้อมทั้งแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม และมีแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม เช่น ชิโนโปรตุกีส

พรรคเพื่อไทยพร้อมสนับสนุน Digital Platform ที่ทำให้ ผู้ประกอบการไทยและภาครัฐไทยพร้อมก้าวเข้าสู่โลกดิจิทัลอย่างจริง โดยมีกองทุนพัฒนาการท่องเที่ยวเป็นกองทุนที่เข้าถึงง่าย ดอกเบี้ยต่ำ และยืดหยุ่นสูง กลไกที่ 3 การเพิ่มขีดจำกัดของการแข่งขันในพื้นที่ ประกอบด้วย 1) การกำหนดสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุน 2) การเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงเงินทุนและนวัตกรรมสาหรับผู้ประกอบกิจการทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็น SMEs และ Micro SMEs รวมถึงธุรกิจ Startup และ 3) การสนับสนุนการลงทุน ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่นำร่องการพัฒนากับโครงข่าย หลักโดยรอบเพื่อดึงดูดให้เกิดการลงทุน โดยเน้นการใช้และเชื่อมโยงด้วยเทคโนโลยีแบบใหม่ เพื่อเป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนกลไกที่ 1 และ 2 หากได้ดำเนินนโยบายดังกล่าวเชื่อว่าจะสามารถเพิ่มรายได้การท่องเที่ยวและการส่งออกในเขตเศรษฐกิจซึ่งนำไปสู่รายได้ในพื้นที่ขั้นต่ำ 23 ล้านล้านบาท

“นี่คือกรอบวิสัยทัศน์ของเศรษฐกิจการท่องเที่ยวไทยในอนาคต ที่จะไม่ได้พึ่งพาแต่นักท่องเที่ยวแดนไกล แต่จะเป็นการพึ่งพาตัวเองและศักยภาพของเพื่อนบ้านที่พร้อมพัฒนาไปด้วยกัน แต่น่าเสียดายที่รัฐบาลไม่เคยให้ความสำคัญกับสิ่งนี้ และยังสร้างความล้มเหลวด้วยการตัดสินใจที่ไม่มีข้อมูลนำไปสู่ความผิดพลาด และไร้ซึ่งจริยธรรมในการบริหารประเทศ ในฐานะที่เป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาระเบียงเศรษฐกิจที่ได้ศึกษาและดูงานทั้งหมด ได้เห็นโอกาสที่หลุดลอย ถูกทำให้เคว้งคว้าง ไร้จุดหมาย และแผนการที่ดำเนินการอยู่ก็ดูยากที่จะไปถึง ทั้งหมดนี้ไม่ควรเป็นคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีที่เป็นผู้นำเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและคนทั้งประเทศ แต่ก็เป็นข่าวดีของประเทศไทยเพราะเวลาที่ตกต่ำที่สุดของประเทศไทยใกล้จบลงแล้ว” ส.ส.เชียงใหม่ กล่าว

ขณะที่ นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมือง กล่าวถึงกรณีที่จะมีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อกลับไปใช้ระบบบัตรเลือกตั้งแบบใบเดียว ว่า บางครั้งในทางการเมือง ข่าวลือ อาจเป็นข่าวจริงที่มาก่อนเวลาอันควร 3 ป.ปิดห้องคุยเมื่อไหร่ เป็นเรื่องทุกครั้ง แม้ระหว่างนี้พรรคร่วมรัฐบาลอาจจะออกอาการเขินๆ กับบัตรเขย่ง เกรงกระแสตีกลับ หากต้องแก้รัฐธรรมนูญกลับไปสู่จุดเดิม แต่ในทางปฏิบัติ พรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคพร้อมเอาด้วยกับ 3 ป. อภินิหารทางกฎหมายอาจเกิดขึ้นได้อีก แนวทางที่ตรงไปตรงมาคือบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ หาร 100 เลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ ประชาชนมีทางเลือก

ก่อนหน้านี้ทุกพรรคก็เห็นชอบกับแนวทางนี้ การพลิกกลับไปกลับมา กลับลำอยู่หลายตลบเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบในการสืบทอดอำนาจ ทำภาพลักษณ์สภาเสียหาย ทำแบบนี้ยิ่งกว่าครอบงำ แทรกแซง เพราะสามารถสั่งซ้ายหันขวาหันได้ตามใจ 3 ป.เลย ผลการเลือกตั้งไม่ใช่เรื่องที่จะไปเทียบบัญญัติไตรยางค์ ถ้าบัตร 2 ใบหาร 500 จะสกัด ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทยได้ประมาณ 25-30 คน ถ้าใช้บัตรใบเดียว นอกจากจะสกัด ส.ส.บัญชีรายชื่อได้เพิ่มขึ้น ก็จะสกัด ส.ส.เขตของพรรคเพื่อไทยได้อีกประมาณ 15 คน เท่ากับบัตรเลือกตั้งใบเดียว พรรคเพื่อไทยจะถูกสกัด 40-50 ส.ส. ความกลัวทำให้เสื่อม ยิ่งพูด ยิ่งตีแผ่ประจานตัวเองว่ากลัวมากแค่ไหน การเลือกตั้งครั้งต่อไปจะใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ หรือใบเดียว จะหาร 500 หรือ หาร 100 ถ้าประชาชนไม่เลือก ก็จบ รูดม่านปิดฉากระบอบสืบทอดอำนาจ

“8 ปีประยุทธ์ ไม่ได้มีเฉพาะ 99 ปัญญาชนและพลเมืองไทยที่ออกมาไล่ แต่มีเครือข่ายแม่น้ำร้อยสายลุกขึ้นมาไล่ประยุทธ์ทั้งประเทศ ไหนบอกว่าเราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน 8 ปี ที่ทู่ซี้อยู่ ยังวิกฤติหนักขนาดนี้ ใครจะไปเชื่อว่าเวลา 2 ปี ที่ขอเพิ่ม จะทำอะไรได้” นายอนุสรณ์ กล่าว