กลายเป็นที่ฮือฮาภายหลังเพจเฟซบุ๊ก “มูลนิธิกุศลศรัทธาศูนย์กู้ชีพกู้ภัยขุนทะเล” โพสต์รูปภาพงูตัวขนาดใหญ่นอนขดตัวอยู่ข้างกำแพงบ้านหลังหนึ่ง พร้อมข้อความระบุว่า “กู้ภัยขุนทะเล ร่วมกับกู้ภัยกาญจนดิษฐ์ ภารกิจจับงู บ้านดอนเนียงใหม่ หมู่ 12 ต.ช้างซ้าย อ.กาญจนดิษฐ์ ข้อมูลเบื้องต้นเป็นงูขนาดใหญ่” โดยภาพดังกล่าวเป็นงูเปื้อนดินโคลนดำทะมึนจนลำตัวปล้องขนาดใหญ่กว่างูปกติ อีกทั้งยังนอนอยู่ในช่องระหว่างกำแพงอิฐยิ่งทำให้ดูน่ากลัวมากขึ้น ภายหลังมีการโพสต์ไปมีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นกันต่างๆนานา โดยบางคนสันนิษฐานว่าอาจเป็นอนาคอนด้าหรือเปล่า และแชร์กันออกไปจำนวนมาก

ตรวจสอบเบื้องต้นพบว่างูมีลำตัวขนาดความยาว 6 เมตร น้ำหนักประมาณ 50 กิโลกรัม เจ้าหน้าที่จึงต้องวางแผนจับงูตัวดังกล่าวอยู่นาน ขณะที่มีบรรดาชาวเน็ตที่เข้ามาคอมเมนต์ต่างหวาดกลัวและเป็นห่วงเจ้าหน้าที่คอมเมนต์ให้กำลังใจและระวังตัว คิดกันไปต่างๆนานาว่าอาจจะเป็นงูอนาคอนด้า เพราะมีขนาดใหญ่กว่าปกติ กระทั่งมีการฉีดน้ำล้างเห็นลายชัดเจนพบว่าน่าจะเป็นงูหลามที่มีขนาดโตเต็มที่ เจ้าหน้าที่ใช้อุปกรณ์ช่วยกันจับใส่กระสอบนำไปปล่อยสู่ธรรมชาติได้อย่างปลอดภัย และหลังจากนั้นไม่นานทางเพจ ได้มีการนำคลิปขณะปฏิบัติหน้าที่จับงูตัวดังกล่าวมาโพสต์ให้เห็นอย่างชัดเจน

ขณะเดียวกัน ทางเดลินิวส์ออนไลน์ ได้ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม พบว่า เพจ “ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช” เคยโพสต์ภาพงูเหลือม พร้อมข้อความเป็นความรู้ระบุว่า “งูเหลือม” กับ “งูหลาม” แตกต่างกันอย่างไร อุทยานแห่งชาติกุยบุรี เผยแพร่ภาพความแตกต่างระหว่าง งูเหลือม กับ งูหลาม โดยระบุว่า งูหลามมีลำตัวที่ใหญ่กว่างูเหลือม แต่มีความยาวน้อยกว่า

โดยงูหลามนั้นมีความยาวอยู่ที่ 1-3 เมตร ส่วนงูเหลือมนั้นยาว 1-5 เมตร ถ้าสังเกตจากลายบนหัวของงูทั้ง 2 ชนิด ที่สุดหัวของงูหลามลายจะดูคล้ายหัวลูกศรสีขาว ส่วนหัวของงูเหลือมจะเป็นหัวลูกศรเหมือนกันแต่สีจะออกดำ ซึ่งเมื่อจะสังเกตงูประเภทนี้ให้มองที่หัวก่อนเป็นอันดับแรก ถ้าเรื่องความดุร้าย งูหลามไม่ดุร้ายเท่างูเหลือม และมักจะออกล่าเหยื่อบนบก หากพบเห็นงูแบบนี้หากินในน้ำ สันนิษฐานได้เลยว่าเป็นงูเหลือม แต่ถ้าพบเห็นงูประเภทนี้บริเวณภาคใต้ สันนิษฐานได้เลยว่าเป็นงูเหลือม เพราะถิ่นกำเนิดของงูหลามไม่ได้อยู่ในบริเวณภาคใต้ แต่จะพบได้ในภาคอื่น ๆ ของประเทศไทย ส่วนงูเหลือมนั้นพบได้ทั่วไป

สำหรับระยะเวลาการฟักไข่ที่ต่างกัน โดยงูหลามนั้นจะใช้เวลาฟักไข่ 2 เดือน แต่งูเหลือมจะใช้เวลาฟักไข่ 3 เดือน แต่หากพบเห็นงูประเภทนี้บนต้นไม้ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นงูเหลือม เพราะนิสัยของงูหลามไม่ชอบหากินบนต้นไม้
ทางเพจต้องขอขอบพระคุณทางอุทยานแห่งชาติกุยบุรีที่นำเกร็ดความรู้มาฝากให้ทุกท่านได้ทราบกันด้วยนะคะ และฝากทุกท่านเข้าไปติดตามและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่กันได้ที่เพจ : อุทยานแห่งชาติกุยบุรี – Kui Buri National Park”

ขอบคุณ ข้อมูล – ภาพ เพจ “มูลนิธิกุศลศรัทธาศูนย์กู้ชีพกู้ภัยขุนทะเล” – เพจ “ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช”