วุ่นไม่เลิก!!! กับการปรับขึ้นค่าไฟฟ้างวดสุดท้ายของปีนี้ (ก.ย.-ธ.ค.) ที่มีคำสั่งฟ้าแลบมาจากผู้บริหารระดับสูงในทำเนียบรัฐบาล ช่วงเช้าวันที่ 5 ส.ค. ก่อนหน้านี้ กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะเปิดชี้แจงแถลงข่าวปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) งวดใหม่ 68.66 สต.ต่อหน่วย ไม่กี่นาที ทุกอย่างต้องยกเลิกกลางคัน ทั้งที่จัดโต๊ะ เก้าอี้ ผู้สื่อข่าวมารอกันเต็มหน้างานหมดแล้ว สร้างความงุนงงไม่เฉพาะผู้สื่อข่าวเท่านั้น แม้แต่ทาง กกพ.เอง ก็เพิ่งได้รับคำสั่งด่วน!!! ที่ “ไม่อาจต้านทาน” ได้ในช่วงไม่กี่นาทีเช่นเดียวกัน

เลื่อนแจงค่าไฟไร้กำหนด

นี่…เป็นครั้งที่สอง ที่ กกพ.เลื่อนชี้แจงค่าไฟงวด ก.ย.-ธ.ค. 65 หลังจากเลื่อนมาแล้วในวันที่ 1 ส.ค. และครั้งนี้ ยังระบุว่า “เลื่อนไม่มีกำหนด” นับเป็นการพิจารณาค่าไฟวุ่นที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ ไล่ตั้งแต่ “วุ่นแรก” เปิดทำประชาพิจารณ์เป็นครั้งแรกให้เลือก 3 แนวทาง (แต่ให้เลือกเฉพาะการปรับขึ้นค่าไฟเท่านั้น!) ก่อนให้บอร์ด กกพ. เคาะ จากเดิมบอร์ด กกพ.จะเคาะแค่ราคาเดียวมาก่อน แล้วค่อยทำประชาพิจารณ์ ทุกครั้งก็เป็นไปตามที่บอร์ดเคาะ

วุ่นที่สอง” ค่าไฟงวดใหม่ที่เคาะขึ้น 68.66 สต.ต่อหน่วย แม้ว่า เป็นอัตราต่ำสุดใน 3 แนวทาง แต่เมื่อรวมกับค่าไฟฐานแล้ว ทำให้ค่าไฟที่เรียกเก็บประชาชนงวดใหม่ขึ้นไปที่ 4.72 บาทต่อหน่วย ทุบสถิติสูงสุด ทั้งชาวบ้าน เอกชน ผู้ประกอบการน้อยใหญ่ ออกมาบ่นถึงความเดือดร้อนกันทุกหย่อมหญ้า เพราะไฟ ทุกบ้านต้องใช้ จึงได้ยินเสียงออกมาเรียกร้องให้รัฐบาล ประกาศชะลอขึ้นค่าไฟไปก่อน อย่ามาซ้ำเติมในยุคข้าวยากหมากแพงเวลานี้ เป็นเหตุผลหลักที่รัฐบาล ต้องเข้ามาแทรกแซงการปรับขึ้นค่าไฟครั้งนี้

กฟผ.แบกหนี้หลังแอ่น

“วุ่นที่สาม” ค่าไฟที่ประกาศขึ้นงวดใหม่ครั้งนี้ เป็นค่าไฟที่ทำให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แบกรับหนี้ค่าเชื้อเพลิงแทนไปก่อน จนหลังแอ่น สิ้นสุด ส.ค.นี้ จะทะยานไปถึง 109,672 ล้านบาท สูงสุดตั้งแต่แบกรับภาระมา และอัตราใหม่ที่ปรับขึ้น เป็นผลกระทบจากค่าเชื้อเพลิงล้วน ๆ ยังไม่นับรวมหนี้สินที่ต้องทยอยจ่ายให้ กฟผ.สักบาทเดียว จากเดิมที่ กกพ.เปิดให้เลือก 3 แนวทาง คือ แนวทางแรก ค่าเอฟที อยู่ที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย รวมกับจำนวนเงินที่ทยอยคืน กฟผ. ที่อัตรา 45.70 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าเอฟที รวมเป็น 139.13 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าโดยรวมที่ประชาชน ต้องจ่ายอยู่ที่ 5.17 บาทต่อหน่วย ทำให้มีเงินคืน กฟผ. ได้ครบภายใน 1 ปี

แนวทางที่ 2 ค่าเอฟที อยู่ที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย รวมกับเงินที่ทยอยคืน กฟผ. ที่อัตราน้อยลงที่ 22.85 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าเอฟที รวมเป็น 116.28 สตางค์ต่อหน่วย และส่งผลให้ราคาค่าไฟฟ้าโดยรวมที่ประชาชนต้องจ่ายอยู่ที่ 4.95 บาทต่อหน่วย กฟผ.จะได้รับเงินคืนครบภายใน 2 ปี และแนวทางที่ 3 เป็นแนวทางที่ กกพ.เลือก คือ ยังไม่คืนหนี้ให้ กฟผ. โดยคิดค่าเอฟที อยู่ที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ราคาค่าไฟฟ้าโดยรวมที่ประชาชนต้องควักกระเป๋าจ่ายเงินค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย

สั่งเบรกแถลงขึ้นค่าไฟ

“วุ่นที่สี่” ทำให้การปรับขึ้นค่าไฟครั้งนี้ “วุ่นที่สุด” หลังผู้บริหารระดับสูงของทำเนียบรัฐบาล ไม่ยอมรับกับแนวทางที่กกพ.เคาะ ทั้งที่ กกพ.ได้ระบุแล้วว่า แจ้งไปยัง 3 การไฟฟ้าตั้งแต่วันที่ 27 ก.ค. แล้วว่า ค่าเอฟทีงวดใหม่ ปรับขึ้น 68.66 สต.ต่อหน่วย เป็นไปตามกฎหมายของ กกพ.ที่ต้องแจ้งไปยัง 3 การไฟฟ้าล่วงหน้า 1 เดือนก่อนที่จะมีการปรับขึ้น เท่ากับว่า ณ เวลานี้ ค่าไฟฟ้างวดใหม่ ยังคงต้องปรับขึ้น 68.66 สต.ต่อหน่วย

จับตาใครกล้ากลับมติ กกพ.

ยกเว้นบอร์ด กกพ.จะได้รับสัญญาณบางอย่างที่แรงเกินต้าน ต้องทำการที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ คือ การ “กลับมติบอร์ด” ให้เบรกการขึ้นค่าไฟงวดนี้ หรือขึ้นให้น้อยกว่า 68.66 สต.ต่อหน่วย หรือแค่ไล่กลับไป กกพ.พิจารณาแนวทางช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้า ควบคู่ไปกับการแถลงขึ้นราคาค่าไฟ เช่น การต่ออายุมาตรการดูแลผู้ใช้ไฟที่ไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ประเภทบ้านอยู่อาศัยและประเภทกิจการขนาดเล็ก ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย หรือกลุ่มเปราะบางถึงสิ้นปี โดยผู้ใช้ไฟฟ้าดังกล่าวที่จ่ายค่าไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จะได้รับส่วนลดค่าไฟฟ้าจากการลดค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ที่ 0.2338 บาทต่อหน่วย ซึ่งเท่ากับว่า เป็นการจ่ายเท่าอัตราเดิมของเดือน ม.ค.-ส.ค. 65 จากเดิมมาตรการที่ดำเนินการอยู่รัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้ แต่ครั้งนี้ไม่มีเม็ดเงินให้กกพ. จึงไม่สามารถดำเนินการให้ได้

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาทางบอร์ด กกพ. ได้โยนโจทย์ไปให้ 3 การไฟฟ้า พิจารณาแนวทางสูตรคิดคำนวณค่าไฟใหม่ ให้ใช้สูตรบ้านเรือนไหนใช้ไฟน้อย หรือประหยัดลง เมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้ ให้ลดค่าไฟลง บ้านเรือนไหนยังใช้ไฟมากให้จ่ายค่าไฟสูง ซึ่งเป็นอัตราที่แฟร์ ใครใช้มากจ่ายมาก ใครประหยัดมาก แต่ทั้ง 3 การไฟฟ้า ระบุว่า ต้องใช้ระยะเวลานาน และเป็นขั้นตอนที่ยุ่งยากมาก โดยเฉพาะการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือพีอีเอ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลค่าไฟหลายสิบล้านครัวเรือน ต้องจัดทำระบบดาต้าใหม่ทั้งหมด เพื่อเปรียบเทียบการใช้ไฟฟ้าเก่าและใหม่ อาจต้องเปิดรับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งอาจต้องเสนอเข้าคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธาน ต้องใช้ระยะเวลา และขั้นตอนที่ซับซ้อนมาก ไม่สามารถทำได้ทันที

ถก กกพ.คุยแล้วคุยอีก

ทำให้นาทีนี้ทุกอย่างยังอึมครึม!!!! ว่า สุดท้ายแล้วการปรับขึ้นค่าไฟครั้งประวัติศาสตร์นี้ จะได้บทสรุปอย่างเป็นทางการต่อไปอย่างไร เพราะขั้นตอนทุกอย่าง กกพ.ได้ดำเนินการจนเสร็จสิ้นตามขั้นตอนกฎหมายของ กกพ. คือ แจ้ง 3 การไฟฟ้าไปแล้ว ที่จะแถลงกับนักข่าวเพียงการชี้แจงและตอบคำถามเท่านั้น ทำไมถึงขึ้น! ซึ่งที่ผ่านมาทางทำเนียบรัฐบาล ก็ได้เรียก กกพ.เข้าไปคุยแล้วเมื่อวันที่ 1 ส.ค. ที่ผ่านมา ขอให้เลื่อน หรือลดได้หรือไม่ ทาง กกพ.ก็ยืนยันว่า ทำได้ยาก เพราะแจ้งมติเป็นทางการไปแล้วตามกฎหมาย หรือถ้าโดนบีบจนต้องกลับมติบอร์ด สิ่งสำคัญ “จะหาเงินที่ไหนมาโปะ”

เพราะที่ผ่านมาก็ใช้เงิน กฟผ.อุ้มมาโดยตลอด แต่ล่าสุด กฟผ. ได้ทำหนังสืออย่างเป็นทางการแจ้ง กกพ.ไปแล้ว ใจความสำคัญว่า กฟผ.รับภาระเกินกรอบวงเงินกู้ของ กฟผ. 85,000 ล้านบาทแล้ว จำเป็นต้องขอสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐในวงเงินส่วนเกิน เนื่องจากตลาดอาจไม่มีวงเงินกู้เพิ่มเติมเพื่อให้ กฟผ. มาบริหารงานและช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้าอีก หรือพูดง่าย ๆ กฟผ.ไม่มีเงินที่จะแบกรับต้นทุนได้เพิ่มแล้ว ไม่เช่นนั้นจะกระทบต่อความมั่นคงทางด้านพลังงานในอนาคต ที่ต้องนำเงินไปลงทุนในด้านต่าง ๆ อย่างแน่นอน

ค่าไฟส่อแพงขึ้นถึงปี 67

…อีกประเด็นค่าไฟต่าง ๆ ที่ กฟผ.ระบุชัดด้วยว่า ปีนี้ยินดีแบกรับค่าไฟแทนประชาชนไปก่อน ส่วนหนี้ที่ต้องแบกระดับกว่าแสนล้านบาทนั้น ค่อยทยอยคืนปีหน้า เท่ากับว่า ถ้า กกพ. หรือรัฐ ยังไม่สามารถหาเงินมาดูแลค่าไฟได้ ปีหน้าค่าไฟขึ้นกระเป๋าฉีกทั้งปีแน่! ต้องจับตาดูว่า ปีหน้า กกพ.จะมีแนวทางการบริหารค่าไฟอย่างไร เพราะหนี้ระดับแสนล้าน อาจลากยาวไปถึงปี 67 เลยก็ได้

จวกรัฐคิดช้าปล่อยเลยเถิด

คนที่น่าเห็นใจที่สุด จึงหนีไม่พ้น “คนไทยทุกครัวเรือน” ที่ต้องแบกรับภาระเสียค่าไฟแพงที่สุดตั้งแต่จ่ายมา ซึ่งก็ไม่รู้ว่า จะฝากความหวังไว้กับใครดี เพราะมีหลายคนตั้งคำถาม? กกพ. บริหารจัดการแนวทางที่ดีแล้วหรือไม่ ถึงปล่อยหนี้ กฟผ.สะสมเลยเถิดมาแตะแสนล้านบาท จนไม่มีเงินมาช่วยเหลืออีก ส่วนหนึ่งก็ยอมรับว่า เป็นผลจากค่าเชื้อเพลิงในตลาดโลกที่นำมาผลิตไฟสูงขึ้น แต่ก็ต้องเจาะลึกไส้ในว่า การบริหารจัดการเชื้อเพลิงที่นำมาผลิตไฟฟ้าเหมาะสมแล้วหรือไม่

ขณะที่รัฐบาล และกระทรวงพลังงานเอง ต้องตอบคำถามด้วยว่า แม้เป็นเรื่องดี ที่ให้กกพ.หามาตรการเยียวยาช่วยประชาชนครั้งนี้ ควบคู่ไปกับการปรับขึ้นค่าไฟ หรือพยายามสั่งเบรก สั่งหั่น แต่ต้องบอกว่า “คิดช้า” ไปหรือไม่!!! เพราะขั้นตอนต่าง ๆ เลยเถิดจนไปถึงประกาศอย่างเป็นทางการมีผลทางกฎหมายไปแล้ว ยิ่งสร้างความยุ่งยาก และ “เสี่ยง” ต่อการผิดกฎหมายของ กกพ. หากต้องให้ถึงขนาดกลับมติบอร์ด กกพ. ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ที่สำคัญหน้าที่รัฐบาลเอง ก็ไม่ควรทำหน้าที่แค่ “สั่ง” ด้วยลมปาก โยนภาระให้ กกพ. และ กฟผ.ที่เทหมดหน้าตักไปแล้ว รัฐบาลควรลงมือช่วยไปเจาะงบไหนที่ยังไม่จำเป็นต้องใช้ หรือเอาไปใช้อีลุ่ยฉุยแฉก ก็ควรดึงมาช่วยดูแลค่าไฟ กลุ่มที่ต้องเยียวยาเพิ่มเติมก่อนหรือไม่ เพราะต้องยอมรับว่า ค่าไฟเป็นต้นทุนที่บ้านทุกหลังคาเรือน ผู้ประกอบการทุกคนได้รับความเดือดร้อนอย่างถ้วนหน้า งบอะไรที่ยังไม่จำเป็นต้องใช้ โยกมาดูแลตรงนี้ก่อน

จี้หาพลังงานอื่นแก้ปัญหา

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ต้องจริงจัง และไม่ใช่ไฟไหม้ฟาง คือ การส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนประหยัดการใช้ไฟฟ้าอย่างจริงจัง ที่ไม่ใช่แค่การขอความร่วมมือ เพราะไทยเป็นประเทศที่นำเข้าเชื้อเพลิงมาผลิตไฟฟ้า ทุกการใช้ไฟฟ้าของคนไทย คือ เงินจากการซื้อเชื้อเพลิงมาเผาทิ้งทั้งหมด รวมทั้งการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนให้กับประชาชนอย่างเต็มที่ ทั้งการติดแผงโซลาร์ที่ได้มาตรฐาน เพื่อใช้แดดที่ร้อนแรงของไทยผลิตไฟ, โรงไฟฟ้าขยะ ที่ตอนนี้ยังตีกันไม่เลิก จึงทำให้ไม่เกิดเต็มรูปแบบเสียที ทั้งที่ขยะในไทยก็กองเป็นภูเขา, โรงไฟฟ้าชุมชน ที่ทำเงื่อนไขให้ยุ่งยาก ซับซ้อนขึ้น เล่นเกมการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง จนไม่สามารถแจ้งเกิดได้ ชาวบ้านหลายพื้นที่ต้องปลูกหญ้ารอเก้อ เพราะไม่สามารถขายให้โรงไฟฟ้าชุมชน ทำให้หลายสิ่งหลายอย่างของประเทศไทย ต้องเสียโอกาสไปอย่างน่าเสียดาย

สิ้นหวังโรงกลั่นยังแก้ไม่ได้

ไม่ใช่ว่า จะมัวแต่มาพึ่งแค่ก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ที่ตอนนี้ทั้งราคาแพง และหายากต้องแย่งกันซื้อในตลาดโลก หรือก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ก็นับจะหมดลงเรื่อย ๆ หรือแม้กระทั่งพึ่งพาน้ำมันดีเซลในการผลิตไฟ ที่ราคาก็ผันผวนหนัก ทั้งที่บ้านเรามีทรัพยากรแดด ลม น้ำ สามารถส่งเสริมให้ผลิตไฟฟ้าได้ แม้ไม่สามารถผลิตได้จำนวนมหาศาล แต่ถ้าส่งเสริมให้บ้านเรือนที่มีความพร้อม หรือผู้ประกอบการรายย่อย ได้ผลิตใช้กัน เชื่อว่า ช่วยลดต้นทุนแต่ละบ้าน แต่ละผู้ประกอบการได้ระดับหนึ่งเลยทีเดียว ไม่ควรปล่อยสะเปะสะปะ ใช้แผงโซลาร์ไม่ได้มาตรฐาน ใช้ไม่นานต้องทิ้งเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์

ต้องยอมรับว่า วิกฤติพลังงานครั้งนี้ ไม่ใช่วิกฤติครั้งแรกที่ไทยเคยเจอ เรียกได้ว่า เจอมาครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ทุกอย่างก็ดูเหมือนปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม อย่างเรื่องการรีดกำไรค่าโรงกลั่น ที่รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน ป่าวประกาศจะรีดกำไรโรงกลั่น 2.4 หมื่นล้าน เพื่อนำมาลดราคาน้ำมัน สุดท้าย!! ก็ได้แค่ ปตท.ช่วยมา 3 พันล้านบาท ตอนนี้ที่น้ำมันลดราคา ก็เพราะราคาน้ำมันตลาดโลก หาใช่ฝีมือรัฐบาลไม่ เพราะฉะนั้นค่าไฟ จึงมารอชะตากรรมกันต่อไปว่า รัฐบาลและ กกพ.จะบริหารดูแลค่าไฟประชาชนทุกครัวเรือนกันอย่างไร แต่ถ้ายังบริหารแบบราคาน้ำมัน ที่ย้ำแต่ “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ก็ตัวใครตัวมัน!!.

วิกฤติพลังงานเสี่ยงไฟดับบางพื้นที่

วิกฤติพลังงานประเทศไทย ณ เวลานี้ ไม่ใช่แค่น้ำมันแพง ค่าไฟพุ่งเท่านั้น ที่สำคัญที่กำลังก่อเป็นมวลวิกฤติใหญ่ที่ทางกกพ.ต้องระดมสมองกันอย่างหนัก พยายามทำทุกวิถีทาง เพื่อไม่ให้ “ไฟฟ้าในประเทศไทยแม้แต่พื้นที่ไหนต้องดับ” แม้กระทรวงพลังงานจะออกมายืนยันไฟจะไม่ดับก็ตาม แต่สถานการณ์ความเป็นจริง เรียกได้ว่า ต้องเร่งแก้ปัญหาลุ้นสัปดาห์ต่อสัปดาห์ทีเดียว เนื่องจากไทยพึ่งพาสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติกว่า 60% เมื่อเกิดความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ทำให้รัสเซียตอบโต้ยุโรปด้วยการตัดก๊าซฯ เป็นผลให้ยุโรปต้องหันมาแย่งซื้อก๊าซในตลาดโลก กระแทกให้ดัชนีเจเคเอ็ม ซึ่งเป็นเกณฑ์มาตรฐานสำหรับราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ในภูมิภาค พุ่งจาก 10 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ขึ้นไปถึง 50 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ปัญหาแพงว่าแย่แล้ว

แต่ปัญหาใหญ่กว่า คือ ไม่มีก๊าซให้ซื้อ เพราะทุกประเทศต่างแย่งซื้อก่อนถึงฤดูหนาว ด้วยเหตุนี้พีทีที เทรดดิ้ง และพีทีที แอลเอ็นจี ออกตลาดซื้อก๊าซด้วยความยากลำบาก เนื่องจากมติ กพช. 1 เม.ย. 64 กำหนดว่า ต้องซื้อก๊าซในราคาที่ไม่เกินดัชนีเจเคเอ็ม ทำให้ในบางช่วงที่ราคาสูงกว่าดัชนีจึงทำให้ซื้อไม่ได้ กระทรวงพลังงานจึงได้แก้ปัญหา เปลี่ยนจากการใช้ก๊าซฯ มาเป็นน้ำมันดีเซล ซึ่งมีราคา 30 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู มีส่วนต่างราคาอยู่ประมาณ 10 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ดังนั้นการเปลี่ยนจากก๊าซฯ ไปเป็นน้ำมันเหมือนที่เคยปฏิบัติเมื่อปลายปี 64 ถึงต้นปี 65 เคยใช้น้ำมันผลิตไฟฟ้าประมาณ 10.5 ล้านลิตรต่อวัน

แม้ราคาน้ำมันจะถูกกว่าก๊าซฯ แต่เอาเข้าจริงกลับพบปัญหาที่ว่า ก๊าซฯ ไม่มีภาษีสรรพสามิต แต่น้ำมันดีเซล มีภาษีสรรพสามิต ทำให้ต้นทุนส่วนนี้ถูกส่งผ่านไปเป็นค่าไฟฟ้า สร้างภาระให้กับประชาชนโดยไม่จำเป็น ดังนั้นกระทรวงพลังงานจึงเสนอ ครม.ให้ยกเว้นภาษีสรรพสามิต ซึ่งครม.ก็เห็นชอบ และให้กรมสรรพสามิตไปดำเนินการยกเว้นการจัดเก็บภาษี แต่ยังไม่ทันได้ใช้น้ำมันภาษี 0% ผลิตไฟฟ้า ราคาก๊าซฯ ถูกลงเหลือประมาณ 21-25 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู กกพ.จึงสั่งเปลี่ยนเชื้อเพลิงจากน้ำมันมาใช้ก๊าซทั้งหมด จน ก.ค. ราคาก๊าซฯ ได้ขยับสูงเกิน 30 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู จึงหันกลับไปใช้น้ำมันดีเซลอีกครั้ง

การเปลี่ยนเชื้อเพลิงไปใช้น้ำมันดีเซลภาษี 0% ในทางทฤษฎีดูเหมือนง่าย แต่ในความเป็นจริง วิธีปฏิบัติต้องพบกับขั้นตอนที่ไม่เอื้ออำนวย ของระบบทางราชการ กรมสรรพสามิตแล้ว เพราะระบบที่กรมสรรพสามิตวางไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้น้ำมันภาษี 0% รั่วไหล ได้กลายเป็นอุปสรรคทำให้การขนส่งน้ำมันให้ได้ 10.5 ล้านลิตรตามศักยภาพที่เคยทำไว้ต้นปี 65 ไม่สามารถทำได้

ที่ผ่านมา บมจ.ปตท. นํ้ามัน และการค้าปลีก หรือโออาร์ขนส่งได้เพียงวันละ 1 ล้านลิตรเท่านั้น เพราะรถขนส่งจะต้องกรอกเอกสารคันละ 2 ใบที่หน้าโรงกลั่นไทยออยล์ และรอให้เจ้าหน้าที่สรรพสามิตพื้นที่มาปิดซีล ซึ่งใช้เวลารอพอสมควร เมื่อขับรถไปถึงโรงไฟฟ้า ต้องรอให้เจ้าหน้าที่สรรพสามิตพื้นที่มาตรวจซีลและเอกสาร จากนั้นถึงจะถ่ายน้ำมันลงถังเก็บของโรงไฟฟ้าได้ ใช้เวลานานหลายเท่า เมื่อเทียบกับวิธีเดิมที่รถเติมจากคลังน้ำมันได้ตลอดเวลา เมื่อเต็มถังก็วิ่งตรงสู่โรงไฟฟ้าได้เลย เมื่อถึงโรงไฟฟ้าก็ถ่ายน้ำมันลงได้ทันที และน้ำมันภาษี
0% จะเติมได้จากโรงกลั่นไทยออยล์เพียงแห่งเดียว ส่วนโรงกลั่นเอสโซ่ และบางจาก ไม่มีน้ำมันภาษี  หรือมีอัตราภาษีเท่ากับ 0%

จึงต้องเร่งแก้ปัญหาเพื่อให้การขนส่งน้ำมันภาษี 0% ทำให้ได้ตามเป้าหมายใช้น้ำมันวันละ 10.5 ล้านลิตร ตามศักยภาพการขนส่งน้ำมันที่เคยทำได้เมื่อต้นปี 65 ต้องสัมพันธ์กับปริมาณการนำเข้าสปอท แอลเอ็นจี ที่ต้องวางแผนล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 45 วัน เมื่อวางแผนไปหมดแล้ว หากการขนส่งน้ำมันไม่ได้เป็นไปตามแผน เพราะติดปัญหาภาษีสรรพสามิต อาจมีความเสี่ยงทำให้ไฟฟ้าดับในบางพื้นที่ได้ เพราะก๊าซฯ ที่เตรียมไว้ไม่เพียงพอต่อการผลิต

ปัญหาเร่งด่วนนี้จึงต้องเร่งแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นการกลับไปเก็บภาษีสรรพสามิต น้ำมันดีเซลเช่นเดิม แต่ให้นำเงินภาษีที่เก็บได้ช่วงนี้กลับมาช่วยลดค่าไฟให้ประชาชน หรือไม่ทางกรมสรรพสามิต ก็ต้องหาทางแก้ปัญหาเพื่อให้การขนส่งน้ำมันมีความสะดวกกว่านี้ เพราะถ้ายิ่งช้า สถานการณ์จากเดิมที่อยู่ในขั้นส่อวิกฤติ ได้เข้าสู่วิกฤติของจริงแน่นอน!!!.

ทีมเศรษฐกิจ…