เมื่อวันที่ 16 ส.ค. ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรค พท. พร้อมด้วย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และนายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา เลขาธิการพรรค พท. กล่าวหลังเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ภาคอีสาน นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เรามั่นใจมากในพื้นที่ภาคอีสานเหมือนครั้งแรกที่เป็นแชมป์ ครั้งที่แล้วเราได้มา 84 เขต แต่ครั้งนี้พื้นที่ภาคอีสานเพิ่มมาเป็น 132 เขต เรายิ่งมั่นใจว่าของเดิมที่ภาคอีสานได้เกิน 100 และเท่าที่ประกาศวันนี้ 93 รายชื่อ ส่วนใหญ่เป็นคนที่เคยเลือกตั้งอยู่แล้ว ส่วนความมั่นใจใน ส.ส.ใหม่ที่เข้าาแทนคนที่ถูกดูดไปแล้วหรือไม่นั้น ซึ่งถูกดูดไปส่วนหนึ่งไม่ถึงกับมาก คนที่เราสรรหาหรือคัดเลือกมาเบื้องต้น เรามั่นใจซึ่งเมื่อดูศักยภาพและพื้นที่ รวมถึงดูการตอบรับจากประชาชนทำให้เราตัดสินใจประกาศตัวในวันนี้ เพราะการประกาศตัวผู้สมัครในภาคอีสานสิ่งที่เราจะละเลยไม่ได้คือ ความมั่นใจต้องเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง โดยเรายึดเรื่องนี้เป็นเรื่องแรก ฉะนั้น ทุกอย่างต้องเอามาเป็นรายละเอียดและกล้าประกาศว่า คนเหล่านี้จะกลับเข้ามาเป็นผู้แทน

เมื่อถามถึง พื้นที่ที่มีการแข่งขันกันสูงโดยเฉพาะภาคอีสานใต้ แกนนำต้องระดมกำลังพลเข้าไปช่วยในพื้นที่หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า พื้นที่อีสานทั้งหมดเป็นพื้นที่เป้าหมายอยู่แล้ว ในรายจังหวัดเรายิ่งเน้นเข้าไปเราจะไม่ตัดเสื้อโหลแน่นอน จะมีการดูแลในจังหวัดที่มีการแข่งขันเข้มข้น มั่นในว่าในกระแสประชาธิปไตยขณะนี้ ประชาชนเริ่มเห็นแล้วว่าอะไรคืออะไร จากการทำงานของรัฐบาลที่ผ่านมา จากการที่รัฐมนตรีเข้ามาทำหน้าที่ เขาใช้กระสุนและอำนาจเงิน อำนาจรัฐเข้ามา ย้ำว่าเรามั่นใจว่าด้วยนโยบาย ด้วยความหวัง ด้วยการทำงานในพื้นที่อย่างเข้มข้น การสื่อสารทางการเมือง และการคาดหวังในตัวว่าที่นายกรัฐมนตรีของเราที่จะมาทำหน้าที่นั้นจะช่วยกันกระสุนได้และสามารถต่อสู้กับกระสุนได้อย่างสบาย

เมื่อถามว่า มั่นใจเรื่องแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่จะนำทัพชนะ มีแววที่จะเปิดตัวแล้วหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า การเปิดตัวแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเราจะเป็นไปตามที่ได้นำเสนอไป คือ จะเปิดหลังจากมีประกาศให้มีการเลือกตั้งและยังยึดมั่นว่าเราจะเปิด 3 ชื่อ ฉะนั้นต้องรอสักนิด ซึ่งมั่นใจมากว่าจะสามารถนำพรรค พท.ชนะการเลือกตั้ง ที่มั่นใจไม่ได้เกิดจากความคิดของเราเอง แต่เกิดจากการตอบสนองและการทำงานร่วมกันของประชาชน ตัว ส.ส. และทีมงานทั้งหมด รวมถึงการทำโพลสำรวจของสื่อที่สะท้อนออกมา

เมื่อถามว่า แสดงว่า น.ส.แพทองธาร จะเป็นหนึ่งในแคนดิเดตใช่หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า อยู่ที่ประชาชนและวันที่เราจะประกาศ

เมื่อถามว่า ในพื้นที่ จ.นครราชสีมาและบุรีรัมย์ จะเจาะพื้นที่อย่างไร เพราะมีการแข่งขันกันสูง นายประเสริฐ กล่าวว่าขณะนี้พรรค พท. ได้วางยุทธศาสตร์ในพื้นที่อีสานใต้แล้ว ซึ่งบุคคลที่เราได้คัดเลือกมาเป็นผู้สมัคร ส.ส. เราคัดกรองหลายรอบจนมั่นใจว่าบุคคลนี้มีศักยภาพและตรงกับความต้องการของประชาชน ฉะนั้น แม้จะเป็นพื้นที่ที่ต่อสู้กันหนักแต่เราก็มั่นใจในพื้นที่อีสานใต้ทั้งหมด

เมื่อถามต่อว่า คาดว่าในจำนวน 132 เก้าอี้ จะได้กี่เก้าอี้ นายประเสริฐ กล่าวว่า เดิมเราเคยได้ถึง 100 กว่า คราวนี้เราคาดหวังว่าจะได้มากกว่าเดิม แต่เอาภาพรวมของประเทศดีกว่า คือเราหวังไว้ว่าต้อง 250 บวกขึ้น

เมื่อถามว่า ต้องลงพื้นที่ช่วยเป็นพิเศษในพื้นที่อีสานใต้หรือไม่ น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า ทุกๆ พื้นที่หากตัวว่าที่ผู้สมัครสามารถจัดสรรเวลาให้กับพรรคได้อย่างไร เราจะพยายามลงให้ได้มากที่สุดโดยไม่ได้ระบุที่ไหนเป็นพิเศษ ส่วนหากในช่วงนี้จะต้องมีการลงพื้นที่ถี่ขึ้นหรือไม่ เพราะมีหลายพรรคก็มีการลงพื้นที่และเปิดตัวชัดเจนมากขึ้นนั้น แน่นอนว่าอะไรที่สามารถทำได้ ทุกคนก็ช่วยกันอย่างเต็มที่ ตั้งแต่การเลือกตัวผู้สมัคร โดยเราจะกระจายการลงพื้นที่เพื่อให้ได้ลงพื้นที่ให้ได้มากที่สุด

เมื่อถามว่า จะมีการลงพื้นที่อีสานใต้ย้ำอีกครั้งหรือไม่ น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า เรามีแพลนย้ำกันอยู่หลายที่ อยู่จนกว่าจะมีการเลือกตั้ง ซึ่งในขณะนี้หากลงพื้นที่ไหนได้เราก็จะไป

นอกจากนี้ นพ.ชลน่าน ยังกล่าวถึงความคืบหน้าในการยื่นตีความวาระนายกรัฐมนตรี 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์​ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในพรุ่งนี้ (17 ส.ค.) เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่า เราทำคำร้องพร้อมหมดแล้ว เพียงแต่วันที่ 17 ส.ค.นี้ จะตรวจสอบรายชื่อเป็นครั้งสุดท้าย เราทำในนามพรรคร่วมฝ่ายค้าน จึงต้องเปิดโอกาสให้สมาชิกพรรคร่วมฝ่ายค้านเซ็นลงชื่อเพิ่มเติมก่อนเวลา 11.00 น. ก่อนที่จะยื่นให้นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในเวลา 13.00 น.​ ที่อาคารรัฐสภา

โดยขั้นตอนในการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น เรายื่นผ่านประธานสภาฯ ซึ่งจะมีช่วงเวลาไม่เกิน 7 วัน ในการตรวจสอบความถูกต้องก่อนส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ จากนั้นต้องพิจารณาว่าศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องไว้พิจารณาหรือไม่ ส่วนในคำร้องได้ยื่นให้ศาลวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งและให้ศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ขณะที่รอฟังคำวินิจฉัย ตนไม่ทราบว่าจะใช้เวลาพิจารณานานหรือไม่ เชื่อว่าศาลจะเร่งพิจารณาเพราะเป็นเรื่องที่จำเป็นและสำคัญ เพราะมีผลกระทบต่อประเทศชาติและประชาชน

เมื่อถามถึงแนวโน้ม พล.อ.ประยุทธ์ จะประกาศยุบสภา นพ.ชลน่าน กล่าวว่าการยุบสภาของนายกฯ ไม่ว่าคนไหนจะต้องได้ประโยชน์ ถ้าไม่ได้ประโยชน์คงไม่ประกาศยุบสภา หากต้องสภาฯ เพื่อเป็นนายกฯ รักษาการอาจจะเป็นไปได้ เพราะยังไม่มีกฎหมายเลือกตั้ง เพื่อให้อยู่ยาวต่อไปได้ แต่คงไม่กล้าตัดสินใจด้วยวิกฤติเกรงว่ากระแสต้านจะเยอะขึ้น ทั้งนี้ หากกฎหมายลูกยังไม่ได้ประกาศใช้ เชื่อว่าจะไม่เกิดสุญญากาศทางการเมือง แม้ยุบสภาก็สามารถดำเนินการต่อไปได้ เพราะผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภาแล้ว

“มีคนวิเคราะห์ว่าหลังจากเอเปคเขาจะยุบสภา เพราะเขาได้ประโยชน์มากในการกวาดต้อนส.ส.ที่ย้ายพรรคได้ เพราะช่วงนั้น ส.ส.ย้ายพรรคได้ทันทีโดยไม่ต้องเลือกตั้งซ่อม สามารถสังกัดพรรคการเมืองใหม่ภายใน 30 วัน” นพ.ชลน่าน กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า พ.ต.ท.กีรป กฤตธีรานนท์ เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้ากรณีนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยสถานะการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าเบื้องต้นทางผู้ตรวจฯ มีมติรับคำร้องและได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือในที่ประชุมเรียบร้อยแล้ว โดยพิจารณาแล้วเห็นว่าควรจะออกคำวินิจฉัยให้ได้ก่อนวันที่ 23 ส.ค.นี้ ทั้งนี้ ประเด็นนี้เป็นประเด็นทางข้อกฎหมาย เป็นการตีความตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะสิ้นสุดการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อใด ซึ่งสาระสำคัญเป็นเรื่องของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมคงเป็นเรื่องการศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้อง จึงไม่จำเป็นที่จะต้องไปขอข้อเท็จจริงจากหน่วยงานอื่นแต่อย่างใด ดังนั้นภายในสัปดาห์นี้น่าจะมีคำตอบที่ชัดเจนและน่าจะมีคำวินิจฉัยออกมาได้ 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แนวทางการพิจารณาของผู้ตรวจฯตามรัฐธรรมนูญ สามารถออกแนวทางได้ ดังนี้ คือ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 231  ในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 230 ผู้ตรวจการแผ่นดินอาจเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้หากเห็นว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยให้เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ และให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยโดยไม่ชักช้า แต่หากผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่าเรื่องดังกล่าวไม่เข้าหลักเกณฑ์การพิจารณาหรือไม่มีบทบัญญัติหรือกฎหมายใดให้อำนาจที่จะกระทำได้ ทางผู้ตรวจการแผ่นดินจะมีมติยุติคำร้อง.