น่าผิดหวังอย่างแรงทีเดียว!!! สำหรับการผ่าทางตันแก้วิกฤติพลังงานของกระทรวงพลังงาน นำโดย ’สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์“ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน เพราะนับตั้งแต่คนไทยเผชิญวิกฤติน้ำมันแพงตั้งแต่ต้นปี ปรากฏว่าการแก้ปัญหาไม่คืบหน้า ทั้งการขอกู้เงินจากสถาบันการเงิน ที่โปะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ติดลบหนักกว่า 1.17 แสนล้านบาท ที่เคยประกาศเงินก้อนแรก 20,000 ล้านบาท จะไหลเข้ากองทุนฯ ตั้งแต่ เม.. 65 ยังไร้วี่แวว!! หรือแม้กระทั่งมาตรการรีดกำไรจากโรงกลั่น 2.4 หมื่นล้านบาท ตั้งแต่เดือน มิ.. ก็ล้มเหลวไม่เป็นท่า ทำให้ถูกมองว่า สุดท้ายภาระถูกโยนมาให้ประชาชนรับเคราะห์แทน

เริ่มตั้งแต่ช่วงปีที่ผ่านมาน้ำมันโลกเริ่มแพง จากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19 น้ำมันเริ่มไต่ระดับขึ้นมา ซ้ำร้ายกลับมาเจอวิกฤติซ้อนวิกฤติอย่างความขัดแย้งรัสเซีย–ยูเครน ยิ่งทำให้ราคาน้ำมันตลาดโลกเลวร้ายร้อนแรงพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว สร้างความปั่นป่วนไปทั่วโลก รวมถึงไทย ที่นำเข้าน้ำมันมากที่สุดอันดับต้น ๆ ในภูมิภาค ต้องจ่ายค่าน้ำมันแพงมากขึ้น ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยยิ่งเปราะบางมากขึ้น

หาเงินโปะสภาพคล่อง

ทำให้กระทรวงพลังงานหัวหมุน กับการดูแลราคาน้ำมัน โดยเฉพาะราคาน้ำมันดีเซลที่กระทบในวงกว้าง จึงต้องใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าอุ้มราคาน้ำมันดีเซล เคยทำสถิติสูงถึงลิตรละ 14 บาท จนส่งผลให้สถานการณ์ล่าสุด กองทุนฯ ประสบปัญหาสภาพคล่องอย่างหนัก ตัวเลขล่าสุดติดลบสูงถึง 1.17 แสนล้านบาท กระแสเงินสดแทบไม่มี เพราะต้องอุ้มราคาดีเซลอยู่ แม้ลดลงเหลือ 50 สต.ต่อลิตรแล้วก็ตาม เทียบจากเดือน พ.ค. ที่กองทุนฯ ติดลบกว่า 6 หมื่นล้านบาท แต่ยังมีกระแสเงินสดติดบัญชีประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท

ถามว่า ทุกวันนี้กองทุนฯ นำเงินจากที่ใดมาอุดหนุนราคาน้ำมัน และราคาก๊าซแอลพีจี ต้องบอกว่า กองทุนฯ ใช้วิธี “ติดหนี้” กับกลุ่มโรงกลั่น บริษัทน้ำมัน ผู้ค้าก๊าซฯ ไปก่อน โดยปัจจุบันกองทุนฯ ยังใช้เงินอุดหนุนรวมวันละ 68.56 ล้านบาท เป็นการอุดหนุนดีเซลวันละ 37.06 ล้านบาท อุดหนุนแอลพีจีวันละ 31.50 ล้านบาท ภาพรวมเดือนละประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาท เรียกได้ว่า เงินยังไหลออกติดลบทุกวัน หากราคาน้ำมันยังผันผวนระดับสูงเช่นนี้ต่อไปเรื่อย ๆ โอกาสกองทุนฯติดลบ 200,000 ล้านบาทในสิ้นปีนี้ มีโอกาสเป็นไปได้สูง!

แบงก์แหยงไม่ปล่อยกู้

ประเด็นปัญหาใหญ่…เวลานี้ กองทุนฯ ยังไร้ความสามารถ ขอกู้ยืมจากสถาบันการเงินมาใช้ได้ ตั้งแต่เงินกู้ก้อนแรก 20,000 ล้านบาท จากกรอบวงเงินกู้ครั้งแรก 40,000 ล้านบาท จากครั้งแรกที่เคยเปิดให้สถาบันการเงินยื่นความประสงค์ให้กองทุนฯ กู้ตั้งแต่เดือน ม.ค.65 และคาดว่าจะมีเงินลอตแรกไหลเข้ามาภายในเดือน เม.ย. แต่จนแล้วจนรอด ก็ยังไม่มีสถาบันการเงินใด “กล้าเสี่ยงสูง” ทั้งที่ตอนแรกมีรายชื่อธนาคารกรุงไทย และธนาคารออมสิน แพลม ๆ ออกมา เพราะยังติดเงื่อนไขหลายเรื่อง โดยเฉพาะปัญหางบดุล และยังดูไร้ทิศทางที่จะมีเงิน “จ่ายคืน” ได้เมื่อไร เพราะเงินกู้เป็นแค่เงินโปะหนี้เดิมเท่านั้น สุดท้ายหนึ่งในแนวทางแก้ปัญหาต้องบีบให้กระทรวงการคลัง ต้องช่วยปรับลดภาษีน้ำมันลิตรละ 3-5 บาทมาถึง 3 รอบ เพื่อช่วยประคับประคองสภาพคล่องกองทุนให้พออยู่ได้ แต่ต้องแลกกับการสูญเสียการจัดเก็บรายได้ไปพัฒนาประเทศ 5-6 หมื่นล้านบาท

สุดท้ายต้องชงวาระลับ

ปัญหาที่เกิดขึ้น หลายภาคส่วน พยายามระดมสมองช่วยหาทางแก้ไข เช่น การรณรงค์ประหยัดพลังงาน รวมถึงขอให้กระทรวงพลังงาน พิจารณาปรับลดค่าการกลั่น ที่วันนี้มีส่วนต่างกำไรจากค่าการกลั่นสูงมาก เพื่อให้นำเงินส่วนนี้ประมาณ 2.4 หมื่นล้านมาช่วยลดราคาน้ำมัน และเงินชดเชยจากกองทุนฯ แต่ดูเหมือนว่ากระทรวงพลังงานกลับไม่มีน้ำยา หรือมีน้ำยาแต่ไม่อยากทำก็ไม่ทราบ เพราะท้ายที่สุดก็ไม่สามารถดึงเงินส่วนต่างค่าการกลั่นมาได้เลยสักบาทเดียว มีเพียง บมจ.ปตท. สนับสนุนเงินช่วยกองทุนฯ แก้เก้อให้รัฐบาล 3,000 ล้านบาทเท่านั้น นอกนั้นยังเงียบกริบ!!!

แทบจะเรียกได้ว่ามืดแปดด้าน …สุดท้ายจึงต้องผ่าทางตัน “ชงวาระลับ” เข้า ครม. ออก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อให้กองทุนน้ำมันมีความสามารถในการกู้เงินจากสถาบันการเงิน วงเงิน 1.5 แสนล้าน เข้ามาช่วยเสริมสภาพคล่อง ต่อลมหายใจการอุดหนุนราคาพลังงานได้ต่อไป ถือเป็นสิ่งที่รัฐบาลชุดนี้ถนัดมากเป็นพิเศษกับการกู้เงิน

เรื่องนี้สร้างความกระอักกระอ่วนใจแก่กระทรวงการคลังไม่น้อย เพราะเหมือนว่า กระทรวงพลังงาน กำลังโยนปัญหามาให้คลังแก้ไขอีกครั้ง และที่น่าห่วงกว่านั้นก็คือการเข้าไปค้ำประกันพร้อมการขยายกรอบวงเงินการกู้เป็น 1.5 แสนล้าน อาจส่งผลต่อวินัยการคลัง ทำให้หนี้สาธารณะพุ่งขึ้นได้อีก

กระเทือนวินัยการคลัง

มีการประเมินกันว่า หากกองทุนน้ำมันฯ กู้มาใช้เสริมสภาพคล่องเต็มกรอบ 1.5 แสนล้านบาท จะทำให้กรอบหนี้สาธารณะมีโอกาสเพิ่มขึ้นอีก 1.2 แสนล้านบาท เนื่องจากก่อนหน้านี้ ครม. เคยอนุมัติวงเงินกู้กองทุนไปแล้ว 3 หมื่นล้านบาท รวมเป็น 1.5 แสนล้านบาท โดยยอดเงินกู้ที่เพิ่มขึ้น 1.2 แสนล้านบาทนี้ จะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีเพิ่มได้อีกเกือบ 1% เหมือนเป็นเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เพราะปัจจุบันหนี้สาธารณะก็อยู่ระดับเกิน 10 ล้านล้านบาท ทะลุเกิน 61% ของจีดีพี สูงเกินพื้นฐานวินัยการเงินการคลังที่ควรเป็น

ยิ่งกว่านั้นการกู้ยังมีผลเสียร้ายแรง คือ จะทำให้กองทุนฯ มีภาระดอกเบี้ยด้วย ยกตัวอย่างสมมุติ หากกองทุนน้ำมันฯ กู้เงินมาใช้จริง 1.5 แสนล้านบาทตั้งแต่วันแรก ตามกรอบระยะเวลา 7 ปี เสียดอกเบี้ย 2% ต่อปี อาจทำให้กองทุนพลังงานฯ มีภาระดอกเบี้ยมากถึงปีละ 3 พันล้านบาท หรือคิด 7 ปี อาจมากถึง 2 หมื่นล้านบาท แต่ในความเป็นจริง ดอกเบี้ยคงไม่ถึง เพราะสามารถทยอยกู้ ทยอยผ่อนได้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้อยู่ดีว่า กองทุนน้ำมันฯ ต้องจ่ายดอกเบี้ยอย่างที่ไม่ควรเป็น ทั้งที่จริงหากกระทรวงพลังงานเลือกแก้ปัญหาด้วยวิธีอื่น เช่น บีบลดค่าการกลั่นลง หรือเลิกแค่รณรงค์ประหยัดพลังงาน หันมาใช้มาตรการเข้มข้นให้ประหยัดพลังงาน น่าจะช่วยลดภาระเงินกู้ส่วนนี้ไปได้ระดับหนึ่งทีเดียว

ผู้ใช้น้ำมันรับกรรม

ที่ซ้ำร้ายไปกว่านั้น เงินกู้ และดอกเบี้ยที่ต้องเสียนี้ คนที่รับผิดชอบท้ายที่สุดคือ “ผู้ใช้น้ำมัน” นั่นเอง เพราะสุดท้ายแล้วกองทุนน้ำมันฯ จะต้องนำรายได้จากกองทุนฯ มาทยอยผ่อนใช้หนี้ ซึ่งรายได้ที่ได้มานี้ ก็เก็บมาจากเงินอุดหนุนค่าน้ำมันในอนาคต ยกตัวอย่างหากปีหน้าราคาน้ำมันทั่วโลกถูกลงครึ่งหนึ่ง แต่คนไทยจะยังต้องทนใช้น้ำมันแพงต่อไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อเก็บเงินส่วนต่างเหล่านี้มาใช้หนี้ให้แก่กองทุนฯ เป็นต้น

ปัญหาเหล่านี้ เกิดขึ้นจากการขาดการบริหารที่อ่อนซ้อมของกระทรวงพลังงาน ซึ่ง “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รมว.คลัง ก็ได้ฝากเตือนด้วยน้ำเสียงสุภาพว่าขอให้กองทุนฯ เลือกวิธีการกู้เงิน เป็นทางเลือกสุดท้าย เพราะห่วงต้นทุนเงินกู้และดอกเบี้ย แต่การกู้ครั้งนี้ จะไม่เป็นภาระของงบประมาณรัฐบาล เพราะกองทุนจะเป็นผู้บริหาร และจัดหาเงินมาชำระหนี้คืนด้วยตัวเอง

ถกเครียดกู้ก้อนแรก

สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) กระทรวงพลังงาน ยอมรับว่า ตอนนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด อยู่ระหว่างถกเครียดหารือรายละเอียดร่าง พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลัง ค้ำประกันการชำระหนี้ของ สกนช. พ.ศ…. และการกู้ยืมเงินของ สกนช. 150,000 ล้านบาท ให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนก่อน สามารถปฏิบัติแต่ละขั้นตอนได้ถูกต้องตามที่มติ ครม. มีมติเห็นชอบ หลังจากนั้นจะชี้แจงรายละเอียดให้สาธารณชนทราบเร็ว ๆ นี้ โดยวงเงินกู้ 150,000 ล้านบาท เป็นเพียงกรอบวงเงินกู้ที่ขอเผื่อไว้ เพราะการออกเป็น พ.ร.ก. ต้องขอความเห็นชอบจากที่ประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ตามขั้นตอนปกติ แต่ความจำเป็นกู้เงินเวลานี้ยังคงยืนยันพิจารณาตามความจำเป็นและความเหมาะสมที่ประเมินจากความสามารถในการชำระหนี้เป็นหลัก ไม่กู้เงินเกินตัว และคงไม่กู้เต็มกรอบวงเงิน 150,000 ล้านบาท กำลังดูว่า ก้อนแรกจะกู้เท่าไร หรือสุดท้ายจะกู้ทั้งหมดเท่าไร ยังไม่สามารถระบุได้ กำลังหารือกันอย่างเข้มข้น

อย่าหวังตรึงดีเซล 35 บ.

ที่สำคัญต้องติดตามสถานการณ์สู้รบระหว่างรัสเซียยูเครนต่อเนื่อง ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงได้ในระยะสั้น ภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำ ยังไม่ฟื้นตัว รวมถึงค่าเงินบาทและปัจจัยต่าง ๆ ที่เข้ามาส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันตลาดโลกให้มีความผันผวนสูงมาก และมีโอกาสที่จะทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศขึ้นลงได้เช่นกันเป็นตัวกำหนดว่าจะกู้เท่าไร หากราคาน้ำมันตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นมากกว่านี้ มีความเป็นไปได้ที่ราคาขายปลีกดีเซลในประเทศอาจปรับขึ้นได้อีก ดังนั้นแม้กระทรวงการคลังจะค้ำประกันเงินกู้ให้กองทุนฯสามารถหาเงินกู้มาเสริมสภาพคล่องเพื่อนำมาตรึงราคาขายปลีกดีเซลในประเทศได้ ก็ไม่ได้หมายความว่าราคาดีเซลจะไม่ขึ้น

กู้มาอาจใช้ไม่ถึง 2 เดือน

เนื่องจากกองทุนฯ ยังมีหนี้ 117,394 ล้านบาท จากการอุดหนุนดีเซล 76,518 ล้านบาท และอุดหนุนก๊าซหุงต้ม หรือแอลพีจี 40,876 ล้านบาท หากใช้กรอบวงเงินกู้เต็มจำนวน 150,000 ล้านบาท มาโปะหนี้กองทุนฯ ที่ติดลบเกือบ 120,000 ล้านบาท จะเหลือส่วนต่างจากกรอบวงเงินกู้ประมาณ 3,000 กว่าล้านบาทเท่านั้น ภายใต้แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกที่ผันผวนต่อเนื่อง และกองทุนฯ ยังต้องอุดหนุนต่อไป เท่ากับจะมีเงินเหลือจาก พ.ร.ก. ใช้ได้เพียง 1-2 เดือนเท่านั้น

“สกนช.” ยอมรับว่า ความจริงการขอกู้กรอบวงเงิน 150,000 ล้านบาท แต่กองทุนฯเป็นหนี้ติดลบเกือบ 120,000 ล้านบาท คงไม่พอ ซึ่งสถานการณ์ราคาน้ำมันยังมีขึ้นมีลงแบบผันผวนตามปัจจัยต่าง ๆ จึงการันตีไม่ได้ว่า ราคาขายปลีกดีเซลในประเทศ จะตรึงไว้ที่ลิตรละ 35 บาทตลอดไป เพราะหากราคาน้ำมันตลาดโลกผันผวน อยู่ในระดับสูงกว่านี้ อาจต้องขยับตามความเหมาะสม ไม่กระชากขึ้นทีเดียว

ดูจากสภาพแล้ว ทั้งปัญหาวิกฤติซ้อนวิกฤติของโลก ที่ความขัดแย้งรัสเซีย–ยูเครนยังยืดเยื้อไร้ข้อยุติ ประกอบกับแนวทางแก้ปัญหาพลังงานของรัฐบาลนี้แล้ว ได้แต่ถอนใจ…คงได้แต่ใช้ธรรมะอริยสัจ 4 “ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม หรือใช้คาถา “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” แบบที่ “สุพัฒนพงษ์” รองนายกรัฐมนตรีแนะนำ.

“สุพัฒนพงษ์” แจงวาระลับ ครม.

“สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน ระบุว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วน และกำลังเข้าสู่ฤดูหนาวในต่างประเทศแล้ว ก็ไม่รู้ว่าสถานการณ์ราคาจะเป็นอย่างไรต่อ ดังนั้นเพื่อให้กองทุนน้ำมันได้ดำเนินการตามบทบาทหน้าที่ของตัวเองในการช่วยเหลือดูแลประชาชนได้ต่อไป ต้องเร่งทำเรื่องนี้โดยเร็ว ซึ่งที่ผ่านมาพยายามทุกวิถีทางแล้วในการสร้างสภาพคล่องให้กับกองทุนน้ำมัน จนมาเป็น พ.ร.ก.ฉบับนี้ ยอมรับว่า กรณีการกู้เงินของกองทุนน้ำมัน จะกู้เต็มกรอบวงเงินที่ผ่าน ครม. วงเงิน 1.5 แสนล้านหรือไม่นั้น เรื่องนี้เป็นรายละเอียด เป็นวาระลับที่คุยใน ครม. คงบอกทั้งหมดไม่ได้ แต่เชื่อว่าการกู้เงินคงไม่ได้กู้เงินทันทีเลยในครั้งเดียว เพราะต้องทยอยกู้ตามความเหมาะสม เพื่อใช้ทั้งหนี้เดิม และสำรองเอาไว้ใช้ในช่วงต่อไป

สำหรับวงเงินกู้ 1.5 แสนล้านบาท จะเพียงพอต่อการกู้วิกฤติกองทุนน้ำมันได้จนสุดทางหรือไม่นั้น จะเพียงพอหรือไม่ ต้องดูกรอบวินัยทางการเงินการคลัง ไม่ให้เกินกรอบ 70% ต่อจีดีพีด้วย ซึ่งตัวเลขนี้นั้น เป็นตัวเลขที่กระทรวงการคลังประเมินออกมาแล้วว่า สามารถดำเนินการได้โดยที่ไม่กระทบกับวินัยการเงินการคลัง

แม้ในกรณีกองทุนฯ มีความสามารถกู้เงินได้เอง โดยไม่มีใครมาช่วยสนับสนุนต้องมาค้ำประกัน หรือเข้ามาช่วยเหลืออะไร การกู้เงินของกองทุนฯ ทั้งหมด ถือเป็นหนี้สาธารณะ จะไปซ่อนไปหลบไม่ได้ ดังนั้นจึงอยากให้สบายใจได้ว่า กระทรวงการคลังได้ดูแลเรื่องนี้อย่างดี และคำนวณตัวเลขออกมาเหมาะสมแล้ว โดยในรายละเอียดเบื้องต้นของการกู้เงิน ล่าสุดกระทรวงการคลัง ได้สรุปออกมาแล้วแต่ยังไม่สามารถบอกได้ ส่วนจะเป็นการกู้สถาบันการเงินในประเทศหรือต่างประเทศนั้น รองนายกฯ ระบุว่า เป็นไปได้หมด แต่หลักการตอนนี้ขอให้เร็วและเกิดความคล่องตัวมากที่สุด”

ส่วนแนวทางการแก้ปัญหาอื่น เช่น มีการเสนอว่าให้เก็บภาษีลาภลอยจากโรงกลั่นน้ำมันนั้น อธิบายว่า ถ้าย้อนไปดูข้อมูลในอดีตก็ไม่ใช่เรื่องง่าย และต้องใช้เวลา อีกทั้งยังมีเกณฑ์ต่าง ๆ ค่อนข้างมาก ส่วนการเจรจากับผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมัน ก็มีการหารืออยู่ แต่ปัจจุบันค่าการกลั่นก็ลดลงมามากแล้ว เหลืออยู่แค่ประมาณลิตรละ 2 บาทกว่า ๆ เท่านั้น สิ่งสำคัญในยามวิกฤติครั้งนี้ รัฐบาลต้องประคับประคองให้ผ่านพ้นไปให้ได้ และรักษาวินัยทางการเงินการคลังให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งวิกฤตินี้ถือว่าท้าทายการทำงานของรัฐบาล เพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับความไม่แน่นอน อะไรจะเกิดเมื่อไรก็ได้ โดยเฉพาะเรื่องของราคาพลังงานที่ผันผวน. 

…ทีมเศรษฐกิจ…