กลายเป็นข่าวฉาวโฉ่วงการตำรวจอีกครั้ง หลังเกิดเหตุการณ์ ส.ต.ท.หญิงกรศศิร์ บัวแย้ม ผบ.หมู่ กก.4 บก.ส.1 อ้างตัวเป็นภรรยาสมาชิกวุฒิสภา (สว.) กระทำทารุณกรรมต่อลูกจ้างซึ่งเป็นทหารหญิงสารพัดวิธี กระทั่งเหยื่อทนต่อความโหดร้ายนานกว่า 2 ปีไม่ไหว ตัดสินใจที่จะฆ่าตัวตาย และจนครอบครัวนำเรื่องเข้าร้องทุกข์กับ กัน จอมพลัง นักธุรกิจอายุน้อยร้อยล้าน นำมาสู่ความช่วยเหลือ และตีแผ่เหตุการณ์โหดเหี้ยมผิดมนุษย์ ของ ส.ต.ท.หญิงกรศศิร์ ให้สังคมรับรู้ จนล่าสุด ส.ต.ท.หญิงกรศศิร์ เดินทางเข้ามอบตัว ยอมรับว่ากระทำการตามที่ปรากฏในคลิปซึ่งเป็นการทำร้ายเหยื่อจริง พร้อมอ้างว่า มีอาการทางจิตควบคุมตัวเองไม่ได้

ส.ต.ท. อ้างเมีย ส.ว. ทารุณทหารหญิงร่ำไห้มอบตัว ‘บิ๊กโจ๊ก’ ลั่นดำเนินคดีไม่มียกเว้น

ส.ต.ท.ขอโทษทำร้ายทหารหญิง อ้างป่วยควบคุมตัวเองไม่ได้

อย่างไรก็ตาม หลังเกิดเหตุการณ์ที่สร้างความเสื่อมเสียแก่วงการตำรวจ ทำให้สังคมต่างจับตาว่า ข้ออ้างของ ส.ต.ท.หญิงกรศศิร์ นั้นเป็นจริงหรือไม่ และหากเป็นจริง ขั้นตอนการรับเข้ารับราชการของตำรวจ ได้มีการตรวจสอบหรือมีข้อห้ามโดยเฉพาะเรื่องโรคต้องห้ามหรือไม่ วันนี้ทีมข่าว ‘เดลินิวส์ออนไลน์’ จะมาไขปริศนา ให้รับรู้กัน

เส้นทางรับราชการ

สำหรับเส้นทางรับราชการ ของ ส.ต.ท.หญิงกรศศิร์ บัวแย้ม พบว่า บรรจุเข้ารับราชการตำรวจ ในตำแหน่งผู้บังคับหมู่ (ผบ.หมู่) สังกัดกองบังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจสันติบาล เมื่อปี 2560 จากนั้นย้ายมาสังกัดกองบังคับการตำรวจสันติบาล 1 ปฏิบัติราชการอย่างถูกต้องตามขั้นตอน

จากนั้น ได้มีการขอตัวไปช่วยราชการที่ กอ.รมน.ภาค4 (ส่วนหน้า) จนถึงปัจจุปัน และทำหน้าที่ประสานงานให้กับสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ท่านหนึ่ง ด้วย

คุณสมบัติผู้สมัครสอบเป็นนายสิบตำรวจ

เมื่อมีการตรวจสอบขั้นตอนคุณสมบัติผู้สมัครสอบเป็นนายสิบตำรวจ ของ กองบัญชาการศึกษา (บช.ศ.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบมีการระบุคุณสมบัติของผู้ที่จะสมัครเข้าราชการไว้ชัดเจนมาก อาทิ สายปราบปรามมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 27 ปีบริบูรณ์ ส่วนสายอำนวยการและสนับสนุน มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 35 ปีบริบูรณ์ สายปราบปรามทั้งชายและหญิงต้องสูงไม่ต่ำกว่า 160 ซม. ส่วนอำนวยการและสนับสนุน เพศชายสูงไม่ต่ำกว่า 160 ซม. ต้องมีรอบอกไม่น้อยกว่า 77 ซม. สำหรับเพศหญิงสูงไม่ต่ำกว่า 150 ซม. เป็นผู้สำเร็จการศึกษาชั้นม.6 หรือ ปวช. มีสัญชาติไทยโดยการเกิด ไม่เป็นข้าราชการการเมือง ผู้ดารงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย ไม่เป็นโรคหรืออาการใด เช่น ระบบจิตประสาท โรคจิต (PSYCHOSIS) ทุกประเภท โรคประสาทอย่างรุนแรง และโรคหรืออาการอื่นใด ซึ่งอยู่ในดุลพินิจคณะกรรมการแพทย์โรงพยาบาลตารวจ เห็นว่าไม่ควรเป็นข้าราชการตำรวจ

อย่างไรก็ตาม การเข้ารับราชการ ของ ส.ต.ท.หญิงกรศศิร์ ยังไม่ชัดเจนว่า เข้ามาในหลักสูตรใด สอบเข้ามาตามระเบียบของข้าราชการตำรวจหรือไม่ แต่ตามคำกล่าวของ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร. ระบุชัดว่า เป็นการเข้ารับราชการอย่างถูกต้อง อีกทั้ง เมื่อฟังจากคำให้การของ ส.ต.ท.หญิงกรศศิร์ ระบุว่า มีอาการไม่สามารถควบคุมตัวเอง และนำใบรับรองแพทย์จากโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง มาแสดงโดยในใบรับแพทย์ระบุว่า ส.ต.ท.หญิง มีอาการควบคุมตัวเองไม่ได้เป็นระยะๆ และรับการรักษาต่อเนื่องมาประมาณ 2 ปี แต่ไม่ได้ระบุว่าเป็นโรคอะไร ซึ่งปริศนาตรงนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องไปตรวจสอบและล้อมคอกป้องกันข้อครหา อย่าให้เกิดขึ้นอีก.