นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงานเปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เป็นประธานว่า ที่ประชุมจากสถานการณ์ราคาพลังงานโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยได้รับผลกระทบ กระทรวงพลังงานเล็งเห็นถึงความสำคัญที่จะต้องช่วยเหลือค่าไฟฟ้าเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนอย่างเร่งด่วน ควบคู่ไปกับการจูงใจให้ภาคประชาชนมีการใช้ไฟฟ้าอย่างประหยัด

ที่ประชุม กบง. ได้พิจารณาแนวทางการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน และมีมติเห็นชอบแนวทางช่วยเหลือ ดังนี้

สำหรับมาตรการดูแลผลกระทบค่าไฟมีดังนี้ 1. กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางจะจ่ายค่าเอฟทีเท่ากับเดือน ม.ค.-เม.ย.65 หรือเมื่อรวมค่าไฟฟ้าฐานจะจ่ายเฉลี่ย 3.78 บาทต่อหน่วย เท่ากับว่า เป็นการให้ส่วนลดค่าเอฟทีจำนวน 92.04 สตางค์ต่อหน่วย (ประกอบด้วยส่วนลดจากการเพิ่มขึ้นของค่า Ft เดือนพฤษภาคม 2565-สิงหาคม 2565 ที่ขึ้น 23.38 สตางค์ต่อหน่วย และส่วนลดจากการเพิ่มขึ้นของค่าเอฟทีเดือน ก.ย.-ธ.ค. 65 ที่เพิ่มขึ้น 68.66 สตางค์ต่อหน่วย หรือเฉลี่ยค่าไฟรวมที่ 4.72 บาทต่อหน่วย) ซึ่งเป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากนโยบายของรัฐ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2565 วันที่ 19 เมษายน 2565 และวันที่ 10 พฤษภาคม 2565  

2. กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าที่ใช้ไฟฟ้าระหว่าง 301-500 หน่วยต่อเดือน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของราคาไฟฟ้าซึ่งเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานเช่นกัน โดยการให้ส่วนลดจากการเพิ่มขึ้นของค่า Ft เดือนกันยายน 2565-ธันวาคม 2565 แบบขั้นบันไดในอัตรา 15-75%

“การช่วยเหลือ 2 กลุ่มซึ่งเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ของการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจะครอบคลุมผู้ใช้ไฟฟ้าประมาณ 80% ของผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศ หรือคิดเป็น 89% ของผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย นอกจากนี้จะดำเนินการให้ครอบคลุมบ้านที่อยู่อาศัยที่เป็นผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และผู้ใช้ไฟฟ้าของกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้งบประมาณรวม 2,000 ล้านบาทต่อเดือน หรือประมาณ 8,000 ล้านบาทสำหรับ 4 เดือน” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว

ทั้งนี้ การดำเนินมาตรการตามแนวทางช่วยเหลือกลุ่ม (1) และ (2) ซึ่งเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ของ กฟน. และ กฟภ. จะครอบคลุมผู้ใช้ไฟฟ้าประมาณ 80% ของผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศ หรือคิดเป็น 89% ของผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย นอกจากนี้จะดำเนินการให้ครอบคลุมบ้านที่อยู่อาศัยที่เป็นผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยของ กฟผ. และผู้ใช้ไฟฟ้าของกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้ งบประมาณรวม 2,000 ล้านบาทต่อเดือน หรือประมาณ 8,000 ล้านบาทสำหรับ 4 เดือน พร้อมมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอรับสนับสนุนแหล่งงบประมาณในการดำเนินมาตรการดังกล่าวตามความเหมาะสมต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในส่วนของกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าที่ใช้ไฟฟ้าระหว่าง 301-500 หน่วยต่อเดือน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของราคาไฟฟ้าซึ่งเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานเช่นกัน โดยการให้ส่วนลดจากการเพิ่มขึ้นของค่าเอฟที เดือนกันยายน 2565-ธันวาคม 2565 แบบขั้นบันไดในอัตรา 15-75% ซึ่งเบื้องต้นต้องรอ ครม.อนุมัติอีกครั้ง คือ

การใช้ไฟตั้งแต่ 301-350 หน่วยต่อเดือน ได้ส่วนลด 75% ของค่าเอฟที หรือได้รับส่วนลดค่าเอฟทีประมาณ 51.50 สต. ต่อหน่วย มีผู้ใช้ไฟประมาณ 919,163 ราย

กรณีใช้ไฟตั้งแต่ 351-400 หน่วยต่อเดือน ได้ส่วนลด 45% หรือได้รับส่วนลดค่าเอฟทีประมาณ 30.90 สต.ต่อหน่วย มีผู้ใช้ไฟประมาณ 741,199 ราย

กรณีใช้ไฟตั้งแต่ 401-500 หน่วยต่อเดือน จะได้ส่วนลด 15% หรือได้รับส่วนลดค่าเอฟทีประมาณ 10.30 สต. ต่อหน่วย มีผู้ใช้ไฟประมาณ 1.06 ล้านราย

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน กล่าวว่า กบง.ได้มีการพิจารณาขยายระยะเวลามาตรการบรรเทาผลกระทบด้านราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือแอลพีจี ตามที่รัฐบาลได้มีมาตรการบรรเทาผลกระทบด้านราคาแอลพีจี โดยมีโครงการยกระดับความช่วยเหลือส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มแก่ผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (โครงการฯ) จาก 45 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน เพิ่มขึ้นอีก 55 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน เป็น 100 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน ซึ่งเดิมมีกำหนดสิ้นสุดโครงการฯ วันที่ 30 กันยายน 2565 นั้น ที่ประชุม กบง.ได้มีการติดตามความคืบหน้าของโครงการฯ พบว่าตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-14 สิงหาคม 2565 มีผู้ใช้สิทธิจำนวน 3,741,994 ราย และจากราคา LPG ยังคงอยู่ในระดับที่สูง

ที่ประชุม กบง.จึงมีมติเห็นชอบการขยายระยะเวลาโครงการยกระดับความช่วยเหลือส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มแก่ผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอีกประมาณ 3 เดือน โดยจะเริ่มประมาณกลางเดือนตุลาคมถึงธันวาคม 2565 โดยมอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงานนำเรื่องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการเกี่ยวกับการขยายระยะเวลาโครงการฯ และจัดทำคำขอรับงบประมาณเพื่อใช้สำหรับดำเนินโครงการฯ เสนอสำนักงบประมาณตามขั้นตอนต่อไป