เมื่อวันที่ 24 ส.ค. นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เปิดเผยกับทีมข่าวเดลินิวส์ หลังจากที่ ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …ผ่าน สภาผู้แทนราษฏร ด้วยมติ 287 เสียง ซึ่งพอจะสรุปความเป็นมาและสาระสำคัญของ (ร่าง) พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … ตามหลักสิทธิมนุษยชนและกฎหมาย ทุกคนมีสิทธิในชีวิต เนื้อตัวร่างกาย ผู้ใดแม้เป็นเจ้าหน้าที่จะละเมิดมิได้การทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นความผิดอาญา ผู้กระทำผิดต้องรับโทษ แต่สำหรับเจ้าหน้าที่ทรมานผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัยด้วยวิธีการต่างๆ มักลอยนวลพ้นผิดเสมอ เนื่องจากสาเหตุต่างๆ เช่น

  1. เจ้าหน้าที่กระทำในที่ลับตา ไม่มีผู้พบเห็น หรือผู้พบเห็นไม่กล้าเป็นพยานเนื่องจากกลัวเกรงเจ้าหน้าที่
  2. เจ้าหน้าที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดีหรือได้รับการถ่ายทอดวิชามารจากเจ้าหน้าที่รุ่นพี่ต่อๆ กันมา จึงมีกรรมวิธีในการทรมานที่ไม่ปรากฏร่องรอยบาดแผล เช่น คลุมหัวด้วยถุงดำ ตีด้วยไม้นวมแม้ช้ำในแต่ไม่ปรากฏร่องรอยบาดแผลภายนอก ให้ยืนขาเดียว ขังในห้องเย็นๆ นานหลายชั่วโมง รบกวนไม่ให้นอนหลับเป็นเวลาหลายวัน ขังเดี่ยวข้ามเยี่ยมห้ามประกัน ข่มขู่ คุกคามว่าจะฆ่า จะข่มขืนผู้นั้นหรือบุคคลที่ผู้นั้นรัก หรือดูหมิ่นเหยียดหยามศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ด้วยวิธีการต่างๆ จนเกิดความคับแค้นเจ็บปวดทรมานทางด้านจิตใจ บางกรณีถึงกับฆ่าตัวตายก็มี
  3. พนักงานสอบสวนมักบ่ายเบี่ยงไม่รับแจ้งความจากผู้ที่ถูกทรมาน เพราะผู้กระทำการทรมานเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยกัน อัยการสั่งไม่ฟ้องเจ้าหน้าที่และศาลมักยกฟ้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีที่ผู้เสียหายไม่มีแพทย์นิติเวชที่ชำนาญการตรวจร่างกาย ไม่มีทั้งจิตแพทย์และแพทย์จิตเวชตรวจสภาพจิตใจผู้เสียหายมาเป็นพยานยืนยันต่อศาล ยิ่งเมื่อผู้ที่กระทำผิดเป็นเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่หรือกระทำผิด โดยมีผู้บังคับบัญชารู้เห็นเป็นใจหรือให้ท้าย พนักงานสอบสวน อัยการ หรือแม้กระทั่งศาลจะเกรงอกเกรงใจเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดเสมอ
  4. บางหน่วยงานมีการทรมานกันเป็นประจำ จนเป็นวัฒนธรรม เป็นระบบ หรือเป็นนโยบายของรัฐบาล โดยเจ้าหน้าที่เชื่อว่า การทรมานเป็นวิธีการที่ได้ผลในการปราบโจรผู้ร้าย การแข็งขืนต่อต้าน หรือการก่อความไม่สงบ แท้จริงมีคนบริสุทธิ์เป็นแพะของกระบวนการยุติธรรมถูกทรมานจนต้องรับสารภาพ ต้องติดคุกติดตะรางจำนวนมาก แต่อาชญากรตัวจริงยังลอยนวล และกระทำการอาชญากรรมในสังคมต่อไป

โดยเฉพาะในสถานการณ์ความขัดแย้งทางเชื้อชาติ ศาสนา หรือการเมือง นอกจากการทรมานแล้ว เจ้าหน้าที่ยังกระทำผิดอื่นๆ อีกมากอย่างเป็นระบบ เช่น ทรมานแล้วสังหาร (อุ้มฆ่า) หรือบังคับให้สูญหาย (อุ้มหาย) โดยกระทำอย่างกว้างขวางเป็นระบบถึงขั้นเป็นอาชญากรรมล้างเผ่าพันธุ์ หรืออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ การก่ออาชญากรรมดังกล่าวแทนที่จะสามารถรักษาความสงบได้ กลับทำให้ความขัดแย้งขยายตัวรุนแรงยิ่งขึ้น จนถึงขั้นเป็นสงครามกลางเมือง และเกิดการแบ่งแยกดินแดน แบ่งแยกประเทศกันในที่สุด ดังที่เกิดขึ้นในหลายเหตุการณ์ในประวัติศาตร์ ทั้งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และสงครามโลกครั้งที่ 2 รวมทั้งสงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้นในอดีตประเทศยูโกสลาเวีย หรือที่เกิดกับประเทศกัมพูชาในยุคการปกครองของเขมรแดง และที่เกิดกับประเทศเมียนมาในขณะนี้

จากเหตุดังกล่าว องค์การสหประชาติจึงจัดทำ “อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี” ขึ้นเมื่อปี 2527 และ “อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ” เมื่อปี 2549 ประเทศไทยได้ลงนามเข้าเป็นภาคีของอนุสัญญาฉบับแรกเมื่อปี2550 และลงนามแสดงเจตจำนงที่จะเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฉบับหลังเมื่อปี 2555 โดยประเทศไทยมีพันธะผูกพันที่จะต้องตรากฎหมายภายในประเทศ เพื่อนำพันธกรณีที่มีอยู่ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศทั้งสองฉบับมาปฏิบัติ หรือที่เรียกว่า “กฎหมายอนุวัติการ” ขึ้นกลุ่มองค์กรสิทธิมนุษยชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และองค์การสหประชาชาติ ได้กระตุ้นเตือนให้รัฐบาลไทยรีบออกกฎหมายอนุวัติการเพื่อป้องกันและปราบปรามการทรมานและการอุ้มหาย มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและองค์กรต่างๆ ก็ได้ร่วมกันจัดทำร่างกฎหมายอนุวัติการ ชื่อว่า “(ร่าง) พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …”

นายสุรพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากที่คณะกรรมาธิการการยุติธรรม การกฎหมายและสิทธิมนุษยชนสภาผู้แทนราษฎร และพรรคการเมืองต่างๆ นำร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เข้ามาสู่สภาผู้แทนราษฎร เมื่อเดือนมิถุนายน 2563 เป็นผลให้สมาชิกสภาผู้แทนทั้งต่างพรรคและพรรคเดียวกันนำไปปรับปรุงในรายละเอียด แล้วเข้าชื่อกันเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่รัฐสภา ความพยายามของภาคประชาสังคมและที่ดำเนินการมานานเกือบ 10 ปี ก็ประสบความสำเร็จ เมื่อมีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาแก้ไขร่าง พ.ร.บ. ทั้งสี่ร่างให้เป็นร่างฯ ที่เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรเมื่อเดือนกุมภาพันธุ์ ปี 2565 ผ่านการพิจารณาวาระสาม และส่งให้วุฒิสภาพิจารณา จนกระทั่งเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2565 วุฒิสภาได้ส่งร่างที่พิจารณาแก้ไขแล้วกลับมาสภาผู้แทนราษฎรเข้าวาระการประชุมในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 และวันนี้สภาผู้แทนราษฎรมีความเห็นชอบ และจะมีการประกาศเป็นกฎหมายต่อไปมีผลบังคับใช้ในเวลา 120 วัน

ซึ่งร่างกฎหมายอนุวัติการของฉบับที่กำลังจะผ่านเป็นกฎหมายนี้หลักการที่สำคัญดังนี้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายผ่านการพิจารณาของรัฐสภาเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 120 วันนับจากวันที่ประกาศ มีเนื้อหาสำคัญของกฎหมายฉบับนี้คือ

  1. ให้ถือว่าการกระทำต่อไปนี้โดยเจ้าหน้าที่เป็นความผิดอาญาฐานกระทำทรมานคือ การทำให้ผู้อื่นเกิดความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานอย่างร้ายแรงแก่ร่างกายหรือจิตใจ เพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะเช่น (1) ให้ได้มาซึ่งข้อมูลหรือคำรับสารภาพจากผู้ถูกกระทำหรือบุคคลที่สาม (2) ลงโทษผู้ถูกกระทำเพราะเหตุอันเกิดจากการกระทำหรือสงสัยว่าการกระทำของผู้นั้นหรือบุคคลที่สาม (3) ข่มขู่หรือขู่เข็ญผู้ถูกกระทำหรือบุคคลที่สาม (4) เลือกปฏิบัติไม่ว่ารูปแบบใด
  2. กฎหมายให้ถือว่าการกระทำทรมานและการบังคับให้บุคคลสูญหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นความผิดอาญาร้ายแรงมีโทษสูง
  3. ให้ถือว่าการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี เป็นความผิดอาญาด้วยมีโทษทั้งจำคุกและปรับ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นมาตรการป้องกัน
  4. ให้มีคณะกรรมการระดับชาติเพื่อกำหนดมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการทรมาน การอุ้มหาย การปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม ย่ำยีศักดิ์ศรี เพื่อป้องกันมิให้มีการปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกจับหรือควบคุมตัว รวมทั้งกำหนดมาตรการในการช่วยเหลือ ฟื้นฟูเยียวยาเหยื่อและผู้เสียหาย รวมทั้งกำหนดให้คณะกรรมการติดตามตรวจสอบข้อร้องเรียนกรณีการทรมานและอุ้มหาย และรายงานต่อสาธารณะ
  5. กำหนดให้เจ้าหน้าที่ต้องจัดทำบันทึกภาพและเสียงต่อเนื่องขณะมีการจับกุมควบคุมตัว จนถึงการส่งตัวต่อให้พนักงานสอบสวน หรือการย้ายการควบคุมตัว เมื่อเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวบุคคลเจ้าหน้าที่ต้องรายงานให้หน่วยงานอื่นเช่นนายอำเภอและอัยการทราบโดยทันที รวมทั้งการจัดทำรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับผู้ถูกจับและควบคุมตัว รวมทั้งสภาพร่างกาย ก่อนระหว่างและหลังคุมขัง โดยให้ญาติมีสิทธิตรวจข้อมูลได้
  6. ให้บุคคลใดก็ได้มีสิทธิร้องต่อศาลให้ไต่สวนโดยพลัน กรณีที่เชื่อว่ามีผู้ถูกทรมานหรืออุ้มหาย ให้ศาลมีอำนาจกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลนั้นถูกการทรมานหรืออุ้มหายอีกเช่นให้เปลี่ยนสถานที่คุมขัง
  7. ให้ผู้บังคับบัญชาที่ละเลยไม่ระงับหรือป้องกันการทรมานหรืออุ้มหาย มีความผิดด้วย
  8. ห้ามส่งบุคคลเป็นผู้ร้ายข้ามแดนถ้าผู้นั้นอาจถูกทรมาน ถูกกระทำอย่างโหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือถูกอุ้มหาย
  9. ห้ามไม่ให้มีการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.นี้ ไม่ว่าจะในสถานการณ์สงคราม สถานการณ์ฉุกเฉินใดใด
  10. ในกรณีผู้ถูกควบคุมตัวเสียชีวิต ต้องทำสำนวนชันสูตรพลิกศพและประสานงานกับคณะกรรมการโดยทันที
  11. ให้ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่สอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ และพนักงานอัยการมีอำนาจสอบสวนคดีทรมาน การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรมและอุ้มหาย
  12. กรณีอุ้มหายให้เริ่มนับอายุความเมื่อทราบชะตากรรม ให้พนักงานสอบสวนแจ้งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
  1. ให้ศาลทุจริตและประพฤติมิชอบเป็นศาลยุติธรรมที่พิจารณาคดีการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้และกรณีเจ้าหน้าที่ทหารกระทำความผิดมีการตัดอำนาจศาลทหารให้ดำเนินคดีในศาลพลเรือน