ถึงแม้ที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะเปิดฉากแบบ “หักปากกาเซียน” ในการพิจารณาคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่ หรือไม่ ด้วยการมีมติเอกฉันท์ รับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย และให้ “บิ๊กตู่” ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วันนับ พร้อมทั้งมีมติเสียงข้างมาก 5:4 สั่ง “บิ๊กตู่” หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย โดยมีการคาดการณ์ว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ก่อนที่จะมีคำวินิจฉัยที่เป็นข้อยุติ

ทั้งนี้การที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่ง “บิ๊กตู่” หยุดปฏิบัติหน้าที่ ถึงแม้จะมองได้ว่าเป็นการชักฟืนออกจากกองไฟ ก่อนที่สถานการณ์การเมืองบนท้องถนนจะร้อนแรงไปมากกว่านี้ และยังเป็นการหยุดวิกฤติศรัทธาที่อาจจะลุกลามบานปลายมาถึงศาลรัฐธรรมนูญได้อีกทางหนึ่ง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงกระบวนการขั้นต้นของการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนปลายทางของคำวินิจฉัยในเรื่องดังกล่าว ยังเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยาก!

ด้วยสถานการณ์การเมืองที่เริ่มคุกรุ่นมากขึ้นทุกขณะ จากชนวนเหตุวาระร้อน 8 ปี ส่งผลให้มีการปลุกกระแสการเมืองข้างถนนกันมากยิ่งขึ้น โดยที่กลุ่มผู้ชุมนุมทั้งหมดต่างเห็นพ้องต้องกันว่า “บิ๊กตู่” หมดครบวาระ 8 ปี ตั้งแต่วันที่ 23 ส.ค. แล้ว และต่างก็หวังที่จะได้ฟังผลการตัดสินที่ถูกใจ แต่การจะยึดเอาความถูกใจเป็นที่ตั้ง คงจะไม่ใช่คำตอบทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ เพราะจะต้องยึดหลักความถูกต้องของหลักกฎหมายเป็นสำคัญ ซึ่งก็ต้องรอดูผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นไปในทิศทางใด

โดยแนวทางคำวินิจฉัยที่ถูกพูดถึงกันในช่วงที่ผ่านมา ประกอบด้วย 3 แนวทาง ประกอบด้วย แนวทางที่ 1 ครบวาระ 8 ปีในวันที่ 23 ส.ค. 2565 ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญตีความในแนวทางนี้ จะถือได้ว่า “บิ๊กตู่” ครบวาระ 8 ปีแล้ว และต้องพ้นจากตำแหน่งนายกฯโดยปริยายแนวทางที่ 2 ครบวาระ 8 ปีในวันที่ 5 เม.ย. 2568 และแนวทางที่ 3 ครบวาระ 8 ปีในวันที่ 8 มิ.ย. 2570 หากศาลรัฐธรรมนูญตีความในแนวทางทั้ง 2 นี้ “บิ๊กตู่” จะสามารถเป็นนายกฯ ได้จนครบวาระรัฐบาลชุดนี้ แต่หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามแนวทางที่ 1 จะต้องเข้าสู่กระบวนการสรรหานายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 และ 159 ซึ่งอาจจะทำให้พรรคร่วมรัฐบาลมีปัญหาในเรื่องบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกฯ

สำหรับการต่อสู้ในชั้นศาลนั้น “เนติบริกร” วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ได้ออกมาเปิดเผยว่าทีมกฎหมายของ “บิ๊กตู่” ได้ทำคำชี้แจงไว้แล้ว และอาจจะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเร็วกว่า 15 วัน ตามกรอบเวลาที่กำหนด

ขณะที่ในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาล ในซีกของขั้วอำนาจก็มีการประเมินว่า คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่จะออกมาหลังจากนี้ น่าจะเป็นไปในทิศทางบวกกับ “บิ๊กตู่” โดยยึดหลักคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของ “บิ๊กตู่” สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 (4) หรือไม่ เนื่องจากเห็นว่าเข้าข่ายเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ เป็นลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่ง ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ วินิจฉัยว่าตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่ถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ

แต่ขณะเดียวกัน ก็ยังคงมีสัญญาณความไม่แน่นอนด้วยเช่นกัน เพราะการวินิจฉัยปมร้อนในเรื่องดังกล่าว นอกจากจะต้องพิจารณากันที่ตัวบทกฎหมายแล้ว อาจจะต้องมีการพิจารณาไปถึงสถานการณ์ของประเทศด้วย ดังนั้นหากในช่วงระยะเวลา 1 เดือน หลังจากนี้ สถานการณ์ภายในประเทศยังเต็มไปด้วย การชุมนุมบนท้องถนน ก็อาจจะเพิ่มโจทย์ในการตัดสินคดีดังกล่าว ที่จะต้องเป็นที่ยุติและมีส่วนในการแก้ปัญหาของประเทศด้วย

ปรับโฟกัสมาที่ฟากฝั่งรัฐบาลถึงแม้ “บิ๊กตู่” จะถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ แต่ก็ยังเหลือตำแหน่ง รมว.กลาโหม อีกหนึ่งตำแหน่ง โดย “บิ๊กตู่” ยืนยันว่า ไม่ต้องกังวลกับเรื่องที่เกิดขึ้น จะทำหน้าที่ในฐานะ รมว.กลาโหม ต่อ ขณะที่ตำแหน่งรักษาราชการแทนนายกฯ ก็ตกมาอยู่ที่ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ โดยมี อำนาจเต็มเทียบเท่านายกฯ ทั้งเรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย การนำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ การรับสนองพระบรมราชโองการ รวมไปถึงอำนาจในการยุบสภา โดยเป็นไปตาม พ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดิน มาตรา 41 และคำสั่งนายกฯ เรื่องการมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกฯ ปฏิบัติราชการแทนนายกฯ ปี 2563 

ทั้งนี้ในเรื่องการบริหารงานการเมืองในฐานะรักษาราชการแทนนายกฯ ของ “บิ๊กป้อม” คงจะไม่มีปัญหา ด้วยความที่เป็น “ผู้มากบารมีทางการเมือง” ที่เจนจัดในเรื่องการคุมเกมอำนาจ จึงไม่มีอะไรน่ากังวล แต่วาระสำคัญที่จะต้องจับตาระหว่างการทำหน้าที่รักษาราชการแทนนายกฯ หนีไม่พ้นการแต่งตั้งโยกย้ายตำแหน่งสำคัญ ทั้งทหาร ตำรวจ และมหาดไทย ที่รอจ่อคิวอยู่ ดังนั้นจุดนี้อาจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนขุมกำลังอำนาจ ทั้ง “ทหาร-ตำรวจ-มหาดไทย” ภายใต้อำนาจเต็มของ “บิ๊กป้อม” ซึ่งอาจจะส่งผลลากยาวไปถึงเกมวางฐานอำนาจสำหรับการเลือกตั้งปี 66 

ซึ่งงานนี้จะเป็นการพิสูจน์ฝีไม้ลายมือ “บิ๊กป้อม” อีกจุดหนึ่งว่า ตลอดระยะเวลา 1 เดือนในการนั่งตำแหน่งรักษาราชการแทนนายกฯ จะสามารถฉายแววเปล่งรัศมี เพียงพอที่จะก้าวไปสู่การเป็นผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ ในบัญชีที่พรรคพลังประชารัฐเสนอ ในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงนี้…ได้หรือไม่

เพราะหาก “บิ๊กป้อม” สามารถตีโจทย์การแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้อย่างตรงจุดและเร่งด่วน ให้ประชาชนได้เห็นเป็นที่ประจักษ์ จนกลบภาพลักษณ์เจ้าของวลี “ไม่รู้ ไม่รู้ ไม่รู้” งานนี้ก็อาจจะกลายเป็น “โอกาสทอง” ของ “บิ๊กป้อม” ในการพลิกเกมการเมืองครั้งสำคัญก็เป็นได้

ขณะเดียวกันเวลา 1 เดือนหลังจากนี้ ยังจะเป็นบทพิสูจน์ถึงความสัมพันธ์ 2 ป. “พี่ป้อม-น้องตู่” ที่ก่อนหน้านี้มีข่าวปีนเกลียวระหองระแหงกันมาโดยตลอด จนกลายเป็นความสัมพันธ์ง่อนแง่น ดังนั้นห้วงเวลานี้ อาจถือเป็นบทพิสูจน์ความกลมเกลียวของ “พี่ใหญ่-น้องเล็ก” ว่าจะเหนียวแน่นจนสามารถก้าวผ่านปมร้อนนี้ไปได้หรือไม่ หรือจะกลายเป็นช่วงเวลาที่รอยร้าวความสัมพันธ์บาดลึกลุกลามไปมากกว่าที่เป็นอยู่ จากคำยุแยงของผู้สนับสนุนแต่ละฝ่าย จนทำให้เรือเหล็กไปไม่ถึงฝั่งฝันหรือไม่

อย่างไรก็ตามมองเกมการเมือง ถึงแม้ “บิ๊กป้อม” จะมีอำนาจในการยุบสภา แต่หากประเมินบริบททางการเมืองในปัจจุบันแล้ว การจะยุบสภาในห้วงเวลานี้คงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก เนื่องจากพลพรรคการเมืองทุกฝ่ายต่างก็ยังไม่มีความพร้อมที่จะเข้าสู่สนามเลือกตั้ง ขณะที่กติกาเลือกตั้งก็ยังไม่มีความพร้อม กฎหมายลูกเลือกตั้งยังไม่แล้วเสร็จ ยังไม่ได้ประกาศใช้ จึงไม่ใช่จังหวะเหมาะที่จะตัดสินใจยุบสภา

ขณะที่ พรรคพลังประชารัฐ ก็ยังไม่พร้อมลงสู้ศึกเลือกตั้งอย่างเห็นได้ชัด จากกระแสความนิยมที่หล่นวูบ ชนิดที่ว่าหากมีการเลือกตั้งในเร็ววันนี้ อาจจะกลายเป็นการ เตะหมู…เข้าปากใครก็ไม่รู้ ซึ่งก็สอดคล้องกับท่าทีของพี่ใหญ่พรรคฝ่ายค้าน อย่าง พรรคเพื่อไทย ที่เดินเกมขย่มอำนาจรัฐบาลแค่กลางซอย โดยการเสนอให้ “บิ๊กตู่” ประกาศลาออก เพื่อเปิดทางให้สภาเลือกนายกฯ คนใหม่ และเลือกที่จะไม่โยนข้อเสนอแบบสุดซอย ด้วยการกดดันให้รัฐบาลยุบสภาล้างกระดานอำนาจ เพื่อให้กลับไปสู่การเลือกตั้ง

ดังนั้นด้วยบริบทความไม่พร้อมทั้งหมดทั้งมวล จึงเป็นไปได้ว่าการใช้อำนาจยุบสภาของรักษาราชการแทนนายกฯ คงไม่เกิดขึ้น! สุดท้ายแล้ว…ห้วงเวลา 1 เดือนนับจากนี้ คงเป็นการนับถอยหลังที่ลุ้นระทึก! สำหรับ “บิ๊กตู่” ซึ่งเปรียบไปแล้ว คงไม่ต่างกับการเดินบนเส้นด้าย ที่โอกาสร่วงจาก “บัลลังก์อำนาจ” ยังมีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูง!.