ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์สำนัก กกพ. ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้เผยแพร่ชี้แจงรายละเอียดวิธีการคำนวณค่าไฟฟ้า องค์ประกอบต่างๆ ดังต่อไปนี้

รู้มั้ย ค่าไฟฟ้าคิดยังไง?

องค์ประกอบค่าไฟฟ้าตามโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า ประกอบไปด้วย

1. ค่าไฟฟ้าฐาน ทบทวนทุก 3-5 ปี

2. ค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ปรับทุก 4 เดือน เพื่อให้สะท้อนการเปลี่ยนแปลง ของค่าใช้จ่ายที่อยู่เหนือการควบคุม

3. ค่าบริการรายเดือน ค่าใช้จ่ายในการให้บริการจำหน่ายไฟฟ้า

4. ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%

โดยปัจจัยสำคัญในการปรับค่า Ft งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2565 เพิ่มขึ้น 68.66 สตางค์ต่อหน่วย คิดเป็นค่า Ft เรียกเก็บงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2565 เท่ากับ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย*

1. ค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากประเทศต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในปริมาณที่เพิ่มขึ้น เพื่อทดแทนปริมาณก๊าซธรรมชาติในประเทศที่ลดลงในช่วงปลายสัมปทานและแหล่งก๊าซฯ เมียนมาไม่สามารถผลิตได้ตามกำลังการผลิตเดิม ประกอบกับสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ Spot LNG มีราคาแพงและผันผวน

2. อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 34.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงจากประมาณการในงวดก่อนหน้า (พ.ค.-ส.ค. 65) ที่ประมาณการไว้ที่ 33.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

*หมายเหตุ: ค่า Ft งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 65 ได้พิจารณาให้สะท้อนต้นทุน โดยยังไม่รวมที่ กฟผ. รับภาระต้นทุนแทนผู้ใช้ไฟฟ้าประมาณ 83,010 ล้านบาท

แล้วปัจจัยอะไรที่มีผลให้ค่า Ft ปี 2565-2566 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น?

โดยสาเหตุหลักๆ มาจากสัดส่วนการใช้ Spot LNG ที่เพิ่มสูงขึ้น เพื่อทดแทนก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยและเมียนมา ที่ปริมาณลดลงอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งความผันผวนของ Spot LNG ในตลาดโลก สรุปได้ดังนี้

1. ปริมาณก๊าซธรรมชาติในประเทศที่ลดลงจากเดิม ทำให้ต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวแบบสัญญาจร (Spot LNG) เข้ามาเสริมหรือเดินเครื่องโรงไฟฟ้าด้วยน้ำมันเพื่อทดแทนปริมาณก๊าซที่ขาดและผันผวน ซึ่งมีราคาแพงกว่าก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ดังนั้น การทดแทนก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยด้วย LNG หรือใช้น้ำมัน จะส่งผลให้ค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

2. การผลิตก๊าซธรรมชาติจากเมียนมามีแนวโน้มที่จะไม่สามารถผลิตได้ตามกำลังการผลิตเดิมและมีแนวโน้มที่จะลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงปลายปี 2565 และต้นปี 2566 ซึ่งอาจทำให้มีความต้องการนำเข้า LNG มากกว่าที่ประมาณการไว้เดิม

3. สถานการณ์ผู้ผลิต LNG ชะลอการลงทุน เนื่องมาจากมีความต้องการใช้พลังงานน้อย ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ต่อมาในปลายปี 2564 หลายประเทศเริ่มฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 ทำให้ความต้องการใช้ LNG มีมากกว่ากำลังการผลิตในตลาดโลก ส่งผลกระทบต่อราคาและการเจรจาสัญญาซื้อขาย LNG เริ่มตั้งแต่ปลายปี 2564 และต่อเนื่องตลอดปี 2565 และปี 2566

4. สถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ทำให้รัสเซียลดหรือตัดการจ่ายก๊าซธรรมชาติทางท่อไปยังยุโรป ทำให้ความต้องการ LNG เพิ่มขึ้นอย่างมากในยุโรปและส่งผลกระทบทางอ้อมต่อราคา LNG ในตลาดเอชีย

.

�� กกพ. ได้บริหารจัดการบนพื้นฐานของการบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน โดยไม่กระทบต่อศักยภาพการให้บริการพลังงานของผู้ให้บริการหรือ กฟผ. โดยเป็นการปรับให้สะท้อนต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นเท่าที่จำเป็น และยังยึดมั่นในการรักษาความมั่นคงและมีเสถียรภาพทางพลังงานของประเทศเป็นสำคัญ