• International Book Sale featuring Big Bad Wolf Books

อิมแพ็ค ออแกไนเซอร์ ร่วมกับ บิ๊ก แบ๊ด วูฟ ผู้จัดงานมหกรรมหนังสือนานาชาติ ประกาศยกทัพหนังสือกว่าล้านเล่มขึ้นเหนือ ไปจัดแสดงในงาน International Book Sale featuring Big Bad Wolf Books ให้ผู้สนใจได้เลือกชม เลือกซื้อหนังสือดี มีคุณภาพ ทั้งภาษาอังกฤษ ภาษาไทย รวมถึงสื่อการเรียนการสอน ของเล่นเพื่อเสริมพัฒนาเด็กครบครัน ในราคาลดพิเศษสูงสุด 80%

วันที่จัดงาน : ตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม – 4 กันยายน 2565 เวลา 10.30-21.00 น.

สถานที่ : ณ เชียงใหม่ ฮอลล์ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เชียงใหม่ แอร์พอร์ต จ.เชียงใหม่

ข้อมูลเพิ่มเติม : FACEBOOK : Central Chiangmai Airport

  •  Everyone’s going bananas 

นิทรรศการ “Everyone’s going banana” โดย SZACK ศิลปินได้ถ่ายทอดความบ้าในสังคมโลก ผ่านงานป๊อปอาร์ตที่ใช้กล้วยที่ปั้นจากดินญี่ปุ่นเป็นเสมือนผืนผ้าใบ และบางทีตัวศิลปินเองก็รู้สึกว่าตัวเองบ้า บ้าไปกับสิ่งที่ฟีดเข้ามาตรงหน้า หลงเชื่อว่าจะทำให้ตัวเองหล่อสวยขึ้น บ้าที่อยากจะได้เป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของประวัติศาสตร์บนโลกใบนี้ บ้าขนาดที่ฟังและเชื่อใครก็ไม่รู้ที่บอกให้เราทำอย่างนั้นอย่างนี้ จนเสมือนตกลงไปในหลุมดำมืดมิดดิ่งจมจนตัวเองหาทางออกไม่เจอ

“บางทีผมก็รู้สึกว่าตัวเองบ้า” บ้าไปกับสิ่งที่ฟีดเข้ามาตรงหน้า บ้าไปกับมัน หลงเชื่อว่าจะทำให้ตัวเราหล่อสวยขึ้น บ้าที่อยากจะได้เป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของประวัติศาสตร์บนโลกใบนี้ บ้าขนาดที่ฟังและเชื่อใครก็ไม่รู้ ที่บอกให้เราทำอย่างนั้นอย่างนี้ จนเสมือนตกลงไปในหลุมดำมืดมิดดิ่งจมจนตัวเองหาทางออกไม่เจอ ถามตัวเองว่า อะไรคือสิ่งที่ต้องการที่แท้จริง สุดท้ายทั้งหมดทั้งมวลก็คือ เป็นเรานั่นแหละที่คลั่งและสั่นไหวไปเองทั้งหมด แต่จะทำไงได้ เราทุกคนก็ดันมาตกอยู่ในสังคมโลก ที่ถนัดให้ความหมาย งั้นเราก็จงมาบ้ากับมันจนโลกสลายไปด้วยกันเถอะ – SZACK

วันที่จัดงาน : ตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม – 25 กันยายน 2565

สถานที่ : PLAY art house

ข้อมูลเพิ่มเติม : FACEBOOK : PLAY art house

  • SAD BUT TRUE

นิทรรศการ “SAD BUT TRUE” โดย ภาคภูมิ รุ่งเรือง ช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอนของสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน สังคมที่ยากจะคำนึงถึงอนาคต ระบบทุนที่ถูกผลิตขึ้นอย่างไม่มีวันจบสิ้น สิ่งเหล่านี้ชวนขบคิดให้เห็นถึงมุมมองต่างๆ ในสิ่งแวดล้อมที่พบในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงความจริงของสภาพสังคมนั้นมีหลายเรื่องที่ไม่ดี ไม่งาม หนึ่งในนั้นคือเรื่องความเหลื่อมล้ำของชนชั้นในสังคม กลุ่มคนที่ต้องรับบทบาทเป็นนักแสดงหลักในภาพยนต์เรื่องนี้อยู่เสมอ คือ กลุ่มคนกรรมาชีพ, กลุ่มคนเปราะบางหรือบุคคลที่ใช้ชีวิตอยู่ในที่สาธารณะ พวกเขาถูกดูแคลนและทอดทิ้งเอาไว้อีกฝากหนึ่งของสังคมอยู่เสมอ

หลังจากเรียนจบศิลปินอาศัยพื้นที่ทำงานศิลปะขนาด 3×7 เมตร ท่ามกลางแหล่งโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในจังหวัดปทุมธานี ไม่มีคนพื้นที่เดิมอาศัยอยู่มากนัก ส่วนใหญ่เป็นคนต่างถิ่นย้ายเข้ามาทำงาน การเข้ามาและออกไปของผู้คนในพื้นที่เป็นภาพที่เห็นจนชินตา ถิ่นฐานที่อาศัยอยู่นั้นทำให้ภาคภูมิมีโอกาสได้ร่วมสนทนากับบุคคลหลายกลุ่ม พูดคุยถึงปัญหาที่หลากหลาย พวกเขาต้องสู้อยู่กับอะไร พวกเขากินนอนอย่างไร พวกเขามีความคิดต่อวันพรุ่งนี้อย่างไร ในบางครั้งคำตอบมันก็เศร้าจนยากที่จะอธิบายต่อได้ เรื่องทุกข์และเรื่องสุข ยิ้มบ้าง หัวเราะบ้าง เศร้าบ้าง ร้องไห้บ้าง ทั้งหมดทั้งมวลนั้นทำให้พบเห็นแต่ปัญหา ตั้งแต่ปัญหาครอบครัว การเงิน งาน โรคระบาด รวมไปถึงสภาพความเป็นอยู่ ต่างจากสิ่งที่โฆษณาชวนเชื่อ และไปจนถึงคำว่า มื้อที่สุขที่สุด ก็ดูเหมือนว่าจะเป็นไปไม่ได้เลย สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้กระบวนทัศน์ วิธีการทำงานของภาคภูมิต่างไปจากเดิม ปัญหาที่พบเห็นได้ในชีวิตประจำวันที่ถูกมองข้ามและไม่ได้ถูกพูดถึง สร้างเป็นผลงานทัศนศิลป์ ที่กล่าวถึงความสะเทือนใจ ความเศร้า แต่เป็นความจริงที่อยู่ในสังคมและบ่อยครั้งเราเองก็หลงลืม….

วันที่จัดงาน : ตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม – 16 กันยายน 2565

สถานที่ : ห้องจัดแสดงชั้น 2 Art4C, Gallery and Creative Learning Space

ข้อมูลเพิ่มเติม : FACEBOOK : Art4C, Gallery and Creative Learning Space

  • สัญญาณแห่งการมีชีวิตอยู่

นิทรรศการ “สัญญาณแห่งการมีชีวิตอยู่” โดย ปรัชญา อุทยานิน คือการกลับมาสำรวจตนเองผ่านเรื่องชีวิตและความตาย การมองเห็นชีวิตของผู้อื่นที่กำลังเข้าใกล้ความตาย การอยู่ใกล้กับสิ่งที่เกี่ยวข้องกับความตาย ไม่ว่าจะเป็นวัตถุ สิ่งของ หรือสถานที่ เสมือนเป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึงความตายทำให้เราตระหนักรู้ว่ายังหายใจและมีชีวิตอยู่ เพราะเรื่องชีวิตและความตายนั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างแยกขาดจากกันไม่ได้

วันที่จัดงาน : ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน – 2 ตุลาคม 2565

สถานที่ : People’s Gallery ห้อง P1-P2 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ข้อมูลเพิ่มเติม : FACEBOOK : Bacc หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

  • นวัตกรรมริมฟุตบาท

นิทรรศการ “นวัตกรรมริมฟุตบาท” โดย ภานนท์ สุชาตานนท์ ศิลปินมีความสนใจถึงสาเหตุของปัจจัย ที่ส่งกระทบต่อการเดินทางสัญจรด้วยทางเท้าเป็นหลัก ความไม่ปลอดภัยในการใช้ทางเท้าหรือปัจจัยอื่น ที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้คนในการเลือกที่จะไม่ใช้ทางเท้าเป็นหลัก ในการสัญจร รวมไปถึงนวัตกรรมต่าง ๆ ที่พ่อค้าแม่ค้าได้ปรับประยุกต์ในการจัดสรรพื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัด สำหรับการประกอบอาชีพขายของหาบเร่ริมทางเท้า

โดยมุ่งหวังให้ผู้ชมเกิดองค์ความรู้ และตระหนักถึงปัญหาจากการใช้พื้นที่บนทางเท้าที่ผิดประเภท ปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้งานรวมถึงการสัญจรที่เป็นปัญหาในวงกว้าง อีกทั้งยังต้องการใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือในการสื่อสารผ่านการเลือกนำสิ่งของ เครื่องใช้มาปรับประยุกต์ เพื่อเชื่อมโยงกับการประกอบอาชีพของพ่อค้าแม่ค้าหาบเร่แผงลอย และบ่งบอกถึงนวัตกรรมริมฟุตบาท ของประเทศไทย

นิทรรศการนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากสิ่งของที่ใช้ในการประกอบอาชีพของพ่อค้าหาบเร่แผงลอย การประยุกต์เครื่องมือทำมาหากินในพื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัด ไม่ว่าจะเป็นบนถนน ทางเท้า ตรอก ซอย ต่างๆ การดัดแปลงสิ่งของเหล่านี้จึงส่งผลให้เกิดสภาพแวดล้อมของพื้นที่ทางเท้าที่แสดงความเป็นเอกลักษณ์ของความเป็นไทย จนได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่ง “Street food”

วันที่จัดงาน : ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน – 2 ตุลาคม 2565

สถานที่ : People’s Gallery ห้อง P3 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ข้อมูลเพิ่มเติม : FACEBOOK : Bacc หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ขอขอบคุณรูปภาพและข้อมูลจาก Central Chiangmai Airport, PLAY art house, Art4C Gallery and Creative Learning Space, หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ใครมีกิจกรรมดีๆ อยากแบ่งปัน บอกกล่าวกันได้ “ตะลุยเตร็ดเตร่”

อีเมล​ : [email protected]