เมื่อวันที่ 3 ก.ย. แหล่งข่าวใกล้ชิด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 2 ก.ย. ที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตร ได้โทรศัพท์หารือติดตามผลการทำงานในการป้องกันน้ำท่วม ในพื้นที่ กทม. กับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ซึ่งรัฐบาลได้ส่งกำลังทหารเข้าร่วมขนกระสอบกระทรายเพื่อป้องกันน้ำท่วม ตามจุดต่างๆ ใน กทม.ตามที่ร้องขอ เพื่อเร่งป้องกัน โดยในการพูดคุย ทาง กทม. ได้ขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลในการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างq ในการกำจัดผักตบชวา ซึ่งกีดขวางทางระบายน้ำในช่วงฤดูฝน อาจส่งกระทบต่อการระบายน้ำก่อให้เกิดน้ำท่วมขังได้ 

โดย พล.อ.ประวิตร ได้มอบหมายให้กรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีก 3 หน่วยงาน ได้แก่ กรมชลประทาน กรมเจ้าท่า และกรุงเทพมหานคร เร่งกำจัดผัดตบชวาทั้งแม่น้ำสายหลักและสายรอง เพื่อให้ประสิทธิภาพการระบายน้ำช่วงน้ำหลากทำได้เร็วที่สุด ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ศนูย์บรรเทาสาธารณภัย กระทรวงกลาโหม (ศบภ.กห.) จัดกำลังพลปฏิบัติการร่วมกับกรุงเทพมหานคร ซึ่งขอรับการสนับสนุนกำลังพลและอุปกรณ์ในการกำจัดผักตบในแม่น้ำเจ้าพระยา คลองเส้นทางระบายน้ำหลัก และคลองสาขาในพื้นที่เขต กทม. รวม 13 เขต ได้แก่ เขตประเวศ คลองภาษีเจริญ คลองสนามชัย เขตหนองจอก เขตลาดกระบัง เขตคลองสามวาเขตประเวศ เขตมีนบุรี เขตสะพานสูง เขตสายไหม เขตบางเขน เขตหนองแขม และเขตบางขุนเทียน โดยขณะนี้ทาง ศบภ.กห.ได้จัดมอบหน่วยทหารประจำทุกเขตแล้ว โดยในวันที่ 5-6 ก.ย. นี้ จะเริ่มดำเนินการในพื้นที่เขตบางเขน คลองหนองบัว และวางแผนดำเนินการให้ครอบคลุมทุกเขตให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุดต่อไป

อย่างไรก็ตาม จากการรายงานผลความก้าวหน้าการกำจัดผักตบชวาตามที่ พล.อ.ประวิตร ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้มีการสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการตั้งแต่ก่อนเข้าสู่ฤดูฝน สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้รายงานผลความก้าวหน้าตามมาตรการที่ 6 ขุดลอกคูคลองและกำจัดผักตบชวาเพื่อไม่ให้กีดขวางการระบายน้ำ ป้องกันการเกิดอุทกภัย และน้ำท่วมขัง ซึ่งเป็นไปตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2565 พบว่า ในภาพรวมหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมโยธาธิการและผังมือง กรมเจ้าท่า กรมชลประทานกรุงเทพมหานคร องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เป็นต้น ได้เร่งรัดดำเนินการจำกัดผักตบชวาทั้งแม่น้ำสายหลัก สายรองคลองสาขาต่างๆ มีการดำเนินการไปแล้วประมาณ 7 ล้านตัน ซึ่ง สทนช. จะมีการติดตาม เร่งรัด ประสานอำนวยการจุดที่เป็นปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการตาม 13 หลักมาตรการอย่างใกล้ชิดต่อไป.