ต้องยอมรับว่าสารพัดนโยบายของรัฐบาล โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ โครงการบัตรคนจน ถือเป็นโครงการแรก ๆ ที่ถูกอกถูกใจคนทั้งประเทศ เช่นเดียวกับโครงการคนละครึ่ง ด้วยเพราะโครงการบัตรคนจน สามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ถือบัตร (ตัวจริง) ได้อย่างแท้จริง 

สำนักงานสถิติแห่งชาติ หรือ สสช. ได้สำรวจความพึงพอใจกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีประโยชน์มากที่สุด พบว่า อันดับหนึ่ง ได้แก่ โครงการบัตรคนจน มีมากถึง 97.6% รองลงมาอันดับสอง คือ โครงการคนละครึ่ง 96.5% ตามมาด้วยโครงการ ม.33 เรารักกัน มี 74.8% อันดับสี่ โครงการเราเที่ยวด้วยกัน 38.3% และ อันดับ 5 คือ โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ 31.1%

หวั่นจนไม่จริงได้ประยชน์

ต่อให้เป็นโครงการที่มีการวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด ว่าเป็นการ “ละเลงเงิน” เพื่อรักษาฐานเสียงให้กับรัฐบาลโดยตรง แถมยังมีเงินรั่วไหลเป็นจำนวนมาก เพราะคนได้รับสิทธิจำนวนไม่น้อย ที่ไม่ใช่คนจนที่แท้จริง แต่กลายเป็นคนจนปลอม ๆ ที่แฝงตัวเข้ามารับสิทธิเพื่อหวังผลประโยชน์จากโครงการ อย่างน้อย ๆ ก็ได้รับเงินซื้อสินค้าเดือนละ 200/300 บาท แถมยังมีส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม 100 บาทต่อ 3 เดือน ซึ่งล่าสุดจะหมดเขตในวันที่ 30 ก.ย.นี้ ค่ารถโดยสาร บขส. เดือนละ 500 บาท ค่ารถไฟ เดือนละ 500 บาท ค่ารถไฟฟ้า หรือค่ารถเมล์ ขสมก. เดือนละ 500 บาท ซึ่งทั้งหมดถอนเป็นเงินสดไม่ได้ และไม่สะสมในเดือนถัดไป

ไม่ใช่แค่นี้!! ยังมีเงินคืนค่าไฟฟ้าให้อีกไม่เกิน 315 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน รวมไปถึงเงินคืนค่าน้ำประปา ไม่เกิน 100 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน แต่ต้องใช้น้ำประปาไม่เกิน 315 บาทต่อเดือน โดยส่วนที่เกินจาก 100 บาทต้องจ่ายเอง ซึ่งในส่วนนี้สามารถถอนเป็นเงินสดและนำไปสะสมในเดือนถัดไปได้เช่นกัน

ย้อนรอยกำเนิดบัตรคนจน

“บัตรคนจน” ถือเป็นโครงการย่อยของโครงการ เนชั่นแนล อี-เพย์เมนต์ เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลสำหรับการจัดสวัสดิการของสารพัดหน่วยงานภาครัฐให้กับบรรดาผู้มีรายได้น้อยที่ต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐ โดยมีการแจกบัตรเมื่อวันที่ 21 ก.ย. 60 ในครั้งแรกผู้ที่ได้รับสิทธิต้องเป็นผู้มีรายได้น้อย ที่มีสัญชาติไทยอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ หรือเกิดก่อน 15 พ.ค. 42 อยู่ในภาวะว่างงาน หรือมีรายได้ไม่เกินปีละ 1 แสนบาท

นอกจากนี้ยังต้องไม่มีทรัพย์สินทางการเงิน ได้แก่ เงินฝากธนาคาร สลากออมสิน สลาก ธ.ก.ส. พันธบัตรรัฐบาล และตราสารหนี้ หรือถ้ามี!! ต้องมีจำนวนรวมทั้งหมดไม่เกิน 1 แสนบาทเช่นกัน ต้องไม่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ตามกฎหมาย หรือถ้าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด เช่น บ้านหรือทาวน์เฮาส์ ไม่เกิน 25 ตร.ว. หากเป็นห้องชุด ไม่เกิน 35 ตร.ว. เป็นต้น

ในช่วงแรก ได้เปิดให้ลงทะเบียนได้ที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย คลังจังหวัดทั่วประเทศ และกทม. ในช่วงนั้นมีคนมาลงทะเบียนกว่า 14.17 ล้านคน ซึ่งในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไม่ได้เปิดให้ลงทะเบียนเพื่อคัดกรองบุคคลที่ควรได้รับสิทธิ แต่ก็มีจำนวนผู้ได้รับสิทธิลดลงทั้งจากการเสียชีวิต การยกเลิกบัตรจากการขาดคุณสมบัติ ทำให้ปัจจุบันเหลือผู้ได้รับสิทธิอยู่ 13.3 ล้านคน

ลงทะเบียนใหม่หมด

โดยการเปิดลงทะเบียนบัตรคนจนรอบใหม่ ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 5 ..-19 ..นี้ จะเป็นการเปิดลงทะเบียนใหม่ทั้งหมด เพื่อเก็บข้อมูลใหม่ เลือกลงทะเบียนได้ทั้งแบบออนไลน์ ที่เว็บไซต์ https://บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ.mof.go.th หรือ https://welfare.mof.go.th หรือจะลงทะเบียนที่หน่วยงานรับลงทะเบียนใกล้บ้าน ทั้งธ... ออมสิน กรุงไทย คลังจังหวัด อำเภอ สำนักงานเขต กทม. และเมืองพัทยา 

คุณสมบัติใหม่เข้มขึ้น

อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังได้ปรับเกณฑ์คุณสมบัติการคัดกรองให้เข้มงวดขึ้นกว่าเดิม ทั้งการเพิ่มเกณฑ์รายได้เฉลี่ยของครัวเรือนไม่เกิน 1 แสนบาท รวมถึงการนำหนี้สินเข้ามาพิจารณาในเกณฑ์ โดยจะต้องไม่มีบัตรเครดิต ไม่มีวงเงินกู้เกินกำหนด เช่น วงเงินกู้สำหรับที่อยู่อาศัยรวมไม่เกิน 1.5 ล้านบาท หรือกู้ซื้อรถไม่เกิน 1 ล้านบาทด้วย ซึ่งการเพิ่มเกณฑ์รายได้ครัวเรือน มีคำถามตามมาว่า แบบไหนที่เรียกว่า โสด หรือมีครอบครัวและต้องนำรายได้มาเฉลี่ยกันในครัวเรือน โดยต้องดูที่ทะเบียนสมรส หากมีการจดทะเบียนสมรส ถือว่ามีครอบครัวและต้องนำรายได้ของสมาชิกทั้งครัวเรือนมาเฉลี่ยกัน แต่หากอยู่กินด้วยกันแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ให้ถือว่าเป็นโสด ไม่ต้องใช้เกณฑ์รายได้ครัวเรือนมาคำนวณ  และถ้าครอบครัวไหนมีลูกที่อายุไม่เกิน 18 ปีให้ถือเป็นสมาชิกครอบครัว และนำมาหารเฉลี่ยรายได้ครัวเรือนด้วย ยกตัวอย่าง หากพ่อ-แม่มีลูก อายุต่ำกว่า 18 ปี 2 คน เท่ากับครอบครัวนั้นจะมีสมาชิก 4 คน ซึ่งถ้าพ่อทำงานคนเดียวมีรายได้ 2 แสน แม่ไม่มีรายได้จะต้องนำรายได้ 2 แสน มาหาร 4 คน เฉลี่ยตกคนละ 5 หมื่นบาท เท่ากับว่าแม่มีโอกาสได้รับบัตรคนจนคนเดียว แต่พ่อจะไม่ได้เพราะรายได้ส่วนตัวเกิน 1 แสน ส่วนลูกก็ไม่ได้เพราะอายุไม่ถึง 18 ปี ในทางกลับกัน หากครอบครัวไหนมีลูกอายุเกิน 18 ปีไปแล้ว ไม่ต้องนำลูกมาหารเฉลี่ยรายได้ เพราะจะนับให้ลูกแยกไปเป็นครอบครัวใหม่แทน

คนโสดเลือกลงทะเบียน

นอกจากนี้ในส่วนของขั้นตอนการลงทะเบียน โดยผู้ที่มีสถานะเป็นโสด แนะนำให้ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ โดยไม่ต้องนำเอกสารไปยื่นที่หน่วยงานรับลงทะเบียน ขอเพียงให้กรอกข้อมูลตามแบบฟอร์มในเว็บไซต์จะต้องใช้ข้อมูลจากบัตรประจำตัวประชาชนในการกรอกข้อมูล และข้อมูลอื่นที่กำหนด เมื่อลงทะเบียนตามขั้นตอนเสร็จสมบูรณ์แล้ว ระบบจะแสดงข้อความว่า กระทรวงการคลัง ได้รับข้อมูลการลงทะเบียนของท่านครบถ้วนแล้ว ขอให้ผู้ลงทะเบียนเข้ามาตรวจสอบสถานะการลงทะเบียน ผ่านเว็บไซต์อีกครั้ง โดยกดปุ่ม ตรวจสอบสถานการณ์ลงทะเบียน ซึ่งจะทราบผลการลงทะเบียนในวันศุกร์ของสัปดาห์ถัดไป

ลงทะเบียนคนไม่โสด

ส่วนคนที่มีครอบครัว สามารถลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ได้เช่นเดียวกัน แต่เมื่อลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์เสร็จสมบูรณ์แล้วต้องพิมพ์แบบฟอร์มลงทะเบียนที่มีข้อมูลครบถ้วน พร้อมทั้งลงลายมือชื่อในเอกสารให้ครบถ้วนทั้งผู้ลงทะเบียนและสมาชิกในครอบครัว เพื่อนำไปยื่นที่หน่วยงานรับลงทะเบียน ซึ่งต้องแสดงบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงของผู้ลงทะเบียนด้วย รวมทั้งต้องมีสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของคู่สมรสและบุตร ที่ลงนามหรือลายมือชื่อในกรณีที่คู่สมรส และบุตรไม่ได้เดินทางมาแสดงตัวที่หน่วยรับลงทะเบียน แต่หากมาแสดงตัวได้ก็ไม่ต้องใช้ ดังนั้น จะให้ดีสำหรับคนที่มีครอบครัว ควรเดินทางมาลงทะเบียนที่จุดให้บริการน่าจะดีกว่า ทางออนไลน์ เพราะต้องมีการยื่นหลักฐานเอกสารอีกพอสมควร

ข้อแนะนำผู้พิการสูงวัย

แต่ถ้าผู้ลงทะเบียน เป็นผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้สูงอายุ ที่ไม่สามารถเดินทางมาลงทะเบียนได้ด้วยตนเอง ก็สามารถมอบอำนาจให้ผู้อื่นมาลงทะเบียนแทนได้ โดยดาวน์โหลดแบบฟอร์มการลงทะเบียนและหนังสือมอบอำนาจได้จากเว็บไซต์ของโครงการฯ หรือจะรอไปลงทะเบียนในหน่วยให้บริการใกล้บ้าน ซึ่งปีนี้ได้จัดจุดรับลงทะเบียนเคลื่อนที่ลงไปถึงระดับตำบล และมีนายอำเภอแต่ละแห่งคอยดูแล รวมถึงยังได้เปิดรับเด็กจบใหม่ที่ยังว่างงาน 3-4 หมื่นอัตรา มาช่วยดูแล เพื่อให้เกิดความสะดวกยิ่งขึ้น

ไทม์ไลน์ลงทะเบียน

ทั้งนี้หากใครลงทะเบียนเสร็จเรียบร้อย จะทยอยประกาศผลการลงทะเบียนและตรวจสอบข้อมูลได้ทุกวันศุกร์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 16 ..นี้ เป็นต้นไป หากข้อมูลใครไม่ถูกต้อง สามารถแจ้งแก้ไขได้ จากนั้นกำหนดประกาศผลการพิจารณาว่า ใครผ่านหรือไม่ผ่านช่วงเดือน ม.. 66 และสำหรับผู้ผ่านการคัดเลือก ต้องไปยืนยันตัวตนที่ธนาคารกรุงไทย ออมสิน และ ธ... ส่วนคนที่ไม่ผ่านก็มีสิทธิอุทธรณ์ได้เช่นกัน โดยรอบนี้จะใช้สิทธผ่านบัตรประชาชน ใครที่บัตรประชาชนหมดอายุ หรือมีบัตรประชาชนรุ่นเก่าที่ไม่ใช่แบบสมาร์ทการ์ด ต้องรีบเปลี่ยนเป็นบัตรรุ่นใหม่เพื่อให้ใช้สิทธิได้ ซึ่งเวลานี้กระทรวงการคลังยังไม่ได้กำหนดรายละเอียดว่าจะใช้อย่างไร เมื่อใด ผู้ที่ถือบัตรในปัจจุบันยังคงได้รับสวัสดิการเหมือนเดิม และสามารถใช้สิทธิได้เหมือนเดิมทุกประการ

ทั้งหลายทั้งปวง!! ใครที่รู้ตัวว่ามีสิทธิ…และยังต้องการความช่วยเหลือจากรัฐบาล ก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อม!!.

ใช้บัตรคนจนใหม่ต้นปีหน้า

“สันติ พร้อมพัฒน์” รมช.คลัง บอกว่า การใช้สิทธิในรอบนี้ จะใช้ผ่านบัตรประชาชนเพียงใบเดียว และยกเลิกการใช้บัตรสวัสดิการฯ ใบเดิมทันที หลังบัตรประชาชนเริ่มใช้งานสิทธิได้วันแรก โดยเชื่อว่าจะมีผู้ได้รับสิทธิในบัตรสวัสดิการฯ รอบใหม่ ประมาณ 15-16 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีผู้ได้สิทธิอยู่ประมาณ 13 ล้านคน ขณะที่วงเงินในบัตรนั้นจะมีการพิจารณาอีกครั้ง ว่าจะเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน ซึ่งจะมีการพิจารณาจากภาวะเศรษฐกิจในขณะนั้นอีกครั้ง

ทั้งนี้ประชาชนจะสามารถลงทะเบียนได้วันที่ 5 ก.ย.-19 ต.ค.นี้ รวมเวลา 45 วัน หลังปิดรับลงทะเบียน จะเข้าสู่ขั้นตอนการตรวจสอบคุณสมบัติ โดยนำระบบเอไอ ที่เชื่อมโยงข้อมูลกับ 38 หน่วยงาน ในการช่วยตรวจสอบคุณสมบัติ ซึ่งได้ลงนามความร่วมมือกับ 38 หน่วยงาน เมื่อวันที่ 16 ส.ค. ที่ผ่านมา และยังเปิดให้ยื่นอุทธรณ์จนถึงสิ้นปี 65 และเริ่มใช้บัตรได้ภายในเดือน ม.ค.65 สำหรับจุดรับลงทะเบียน จะมีการจ้างนักศึกษาจบใหม่ที่ยังไม่มีงานทำ ประจำหน่วยลงทะเบียนตำบลละ 5 คน รวมทั้งหมด 3 หมื่นคน โดยกำหนดอัตราค่าจ้างระดับปริญญาตรี 15,000 บาท ปวส. 11,500 บาท และ ปวช. 9,500 บาท ใช้งบการจ้างงานรวม 750 ล้านบาท รวมระยะเวลาการจ้างงาน 45 วัน และอบรม 6 วัน

หนุนคลังปรับปรุงฐานข้อมูล

ดนุชา พิชยนันท์” เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ระบุว่า โครงการนี้ดำเนินการมาแล้วกว่า 3 ปี แต่ไม่ได้ช่วยไขปัญหาความยากจนเป็นเพียงโครงการบรรเทา ภาระค่าครองชีพของผู้มีรายได้น้อยตามนิยามของกระทรวงการคลัง ขณะที่สศช.กำหนดนิยามคนจนหมายถึงผู้มีรายได้ต่ำกว่าเส้นยากจนหรือมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 2,700 บาท ซึ่งทั่วประเทศประมาณ 4 ล้านคน ในจำนวนนี้บางส่วนอาจถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแล้ว จึงสนับสนุนให้กระทรวงการคลังปรับปรุงฐานข้อมูลผู้สมควรได้รับความช่วยเหลือตัวจริง ซึ่งจะทำให้การใช้งบประมาณได้ถูกต้องและให้ความช่วยเหลือกับผู้ที่เดือดร้อนจริง โดยเป็นการช่วยเหลือแบบพุ่งเป้า เหมือนที่สศช.ได้ออกรายงานสำหรับแนวทางการบริหารเศรษฐกิจในช่วงต่อจากนี้ไป

ขณะเดียวกันวงเงินใน พ.ร.ก.กู้เงิน ไม่เหลือสำหรับดำเนินมาตรการดูแลปัญหาเศรษฐกิจเพิ่มเติมได้อีกแล้ว โครงการคนละครึ่ง ระยะ 5 จึงเป็นรอบสุดท้ายจึงเสนอให้รัฐบาลทบทวนมาตรการดูแลเศรษฐกิจอย่างตรงจุด ลดโครงการที่มีความซ้ำซ้อน ส่วนคนละครึ่งระยะที่ 5 วงเงินคนละ 800 บาท พร้อมกับเติมวงเงินใช้จ่ายให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐระยะที่ 5 และกลุ่มเปราะบางระยะที่ 3 คนละ 200 บาท สำหรับใช้จ่ายร้านค้าในโครงการตลอด 2 เดือนเริ่ม 1 ก.ย.-31 ต.ค. 65

…ทีมเศรษฐกิจ…