เข้าสู่โหมดการเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์อย่างเต็มรูปแบบกันแล้วอย่างที่ทราบกันดีว่าช่วงนี้จะมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้มากกว่าในช่วงปกติซึ่งตามกฎหมายพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถที่กำหนดให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนทุกคนที่ประสบอุบัติเหตุไม่ว่าจะเป็นคนขับ คนโดยสารคนเดินทางเท้าที่เกิดอุบัติเหตุโดยรถที่จัดทำประกันภัยพ.ร.บ.หรือประกันภัยภาคบังคับจะได้รับการดูแลตามกฎหมายดังนั้นสิ่งที่ประชาชนทุกคนควรรู้เพื่อจะได้เตรียมพร้อมไว้เพราะอุบัติเหตุอาจเกิดขึ้นได้กับตนเองหรือคนใกล้ชิดได้

บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถจำกัด ซึ่งเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายทำหน้าที่เยียวยาประชาชนที่ประสบอุบัติเหตุจากรถให้ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายโดยการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้ประสบภัยจากรถแทนทุกบริษัทประกันภัยได้และมีสาขาให้บริการทุกจังหวัดทั่วประเทศได้แนะนำข้อควรรู้และวิธีปฎิบัติเมื่อเกิดอุบัติเหตุจากรถจะต้องทำอย่างไร?เพื่อช่วยให้ผู้ขับขี่ปฏิบัติได้อย่างถูกต้องเมื่อเกิดอุบัติเหตุดังนี้

1.ให้จดทะเบียนรถหรือถ่ายภาพรถคันที่เกิดอุบัติเหตุ
2.รีบนำผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด
3.แจ้งบริษัทกลางฯ1791หรือบริษัทประกันภัยของรถคันที่เกิดเหตุหรือแจ้งตำรวจ
4.ให้แสดงบัตรประชาชนและแจ้งข้อมูลรถที่ทำให้ได้รับความเสียหายนั้นแก่โรงพยาบาล
5.สิทธิของผู้ประสบภัยจากรถจะได้รับความคุ้มครองตามพ.ร.บ.หากรถคันที่เกิดเหตุมีประกันไม่ต้องสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาล
6.สอบถามข้อมูลความคุ้มครองของพ.ร.บ.ติดต่อCallCenter บริษัทกลางฯ1791

สำหรับเอกสารที่ผู้ประสบภัยจากรถต้องเตรียมเพื่อใช้ในการเบิกค่าสินไหมทดแทนกรณีบาดเจ็บประกอบด้วย1.สำเนาบัตรประชาชนของผู้ประสบภัยหรือเอกสารอื่นที่ทางราชการออกให้และ 2.ใบเสร็จรับเงินต้นฉบับใน กรณีเสียชีวิตเอกสารที่ต้องใช้ประกอบคือ1.สำเนาบัตรประชาชนของผู้ประสบภัยหรือเอกสารอื่นที่ทางราชการออกให้2.ใบมรณบัตร3.สำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของทายาท4.สำเนาบันทึกประจำวันในคดีของพนักงานสอบสวน

นายประสิทธิ์คำเกิด รองกรรมการผู้จัดการบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถจำกัด กล่าวว่า “เจ้าของรถทุกคนมีหน้าที่ต้องจัดทำประกันภัยพ.ร.บ.ตามกฎหมายเพื่อเป็นหลักประกันและเป็นความรับผิดชอบเพราะเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นทุกคนจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายซึ่งบริษัทกลางฯมีนโยบายในการเร่งรัดจ่ายค่าสินไหม โดยเฉพาะกรณีการเกิดอุบัติเหตุที่มีผู้เสียชีวิตจะเร่งจ่ายค่าสินไหมภายใน24ชั่วโมง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบโดยเร็วที่สุด  อุบัติเหตุเป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นแต่เมื่อเกิดเหตุแล้วการให้ความช่วยเหลือเยียวยาอย่างเร่งด่วนเป็นสิ่งที่สำคัญ

สำหรับในส่วนของผู้ที่บาดเจ็บนั้น บริษัทกลางฯได้นำระบบอิเลคทรอนิกส์ภายใต้ชื่อ ระบบสินไหมอัตโนมัติ e – Claim System มาใช้ร่วมกันระหว่างโรงพยาบาลกับบริษัทประกันภัย เพื่อเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว ในการตรวจสอบสิทธิความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ทำให้ผู้ประสบภัยจากรถ ไม่ต้องสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาล หากต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลเมื่อประสบอุบัติเหตุจากรถ ปัจจุบันมีโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนลงทะเบียนเข้าใช้ระบบ e – Claim จำนวน 2,076 แห่งทั่วประเทศ และมีมูลนิธิกู้ชีพ กู้ภัยใช้ระบบสินไหมอัตโนมัติในการแจ้งเหตุกว่า 1,762 หน่วยงานซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประสบภัยจากรถในการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายได้อย่างสะดวกรวดเร็ว” นายประสิทธิ์ กล่าว

ปัจจุบันรถที่จดทะเบียนทั่วประเทศมีจำนวนกว่า38ล้านคันแต่มีรถที่จัดทำประกันภัยอยู่ประมาณ30ล้านคันซึ่งตามกฎหมายเจ้าของรถที่ไม่ทำประกันภัยพ.ร.บ.จะมีความผิดมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน10,000บาทและต้องรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลแก่ผู้ประสบภัยจากรถของทุกคนและถ้าเจ้าของรถคันดังกล่าวไม่มีเงินชดใช้ค่าเสียหายได้ก็จะทำให้คนที่ประสบอุบัติเหตุได้รับความเดือดร้อน

ปัญหาอุบัติเหตุทางท้องถนนในช่วงเทศกาลถือเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องร่วมกันขับเคลื่อนกันทุกภาคส่วนตั้งแต่การป้องปรามฯบังคับใช้กฎหมายเพื่อลดพฤติกรรมเสี่ยงบนท้องถนนไปจนกระทั่งมาตรการเยียวยาเมื่อเกิดเหตุแล้ว  สิ่งที่จะช่วยป้องกันได้อย่างดีที่สุดคือ ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน เมื่อต้องนั่งอยู่หลังพวงมาลัยทุกครั้งขอให้ตระหนักถึงการขับขี่ด้วยความไม่ประมาทและปฎิบัติตามกฎจราจร เพราะคุณกำลังร่วมรับผิดชอบต่อหลายๆชีวิตที่อยู่บนท้องถนนและอยู่ข้างๆถนนไปตลอดการเดินทาง.

***รถทำประกันภัยพ.ร.บ.จะได้รับความคุ้มครองดังนี้
*เมื่อเกิดอุบัติเหตุให้บริษัทประกันภัยจ่ายทันทีภายใน 7 วัน เป็นการดูแล”ค่าเสียหายเบื้องต้น”โดยไม่ต้องรอพิสูจน์ว่าฝ่ายใดถูกหรือฝ่ายใดผิด
แยกเป็นค่ารักษาพยาบาลตามการรักษาจริง ไม่เกิน 30,000 บาท และความเสียหายต่อชีวิต จ่ายเป็นค่าปลงศพ 35,000 บาท
*เมื่อมีการพิสูจน์ความรับผิดแล้ว วงเงินคุ้มครองค่าสินไหมทดแทนสูงสุด (รวมค่าเสียหายเบื้องต้น)
กรณีบาดเจ็บ จ่ายตามการรักษาจริงสูงสุด ไม่เกิน 80,000 บาท
กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร 300,000 บาท
สำหรับผู้ป่วยในจะได้รับค่าชดเชยการรักษาตัว 200 บาท/วัน ไม่เกิน 20 วัน (ยกเว้นผู้ขับขี่ที่เป็นฝ่ายผิด จะได้รับความคุ้มครองเฉพาะค่าเสียหายเบื้องต้นเท่านั้น

พัชรินทร์ ธรรมรส/ รายงาน