เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 6 ก.ย. คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย แถลงข่าวประจำสัปดาห์ในประเด็น “ไม่รู้ ไม่รู้ ไม่รู้ ไม่ได้แล้ว แล้วต้องรู้อะไรบ้าง” โดยพิชัย นริพทะพันธุ์ รองประธานยุทธศาสตร์ ด้านเศรษฐกิจ นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม ส.ส.เชียงใหม่ และรองเลขาธิการพรรค นายกฤษฎา ตันเทอดทิตย์ ส.ส.หนองคาย น.ส.สรัสนันท์ อรรณนพพร ส.ส.ขอนแก่น และนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองเลขาธิการและกรรมการคณะยุทธศาสตร์และการเมือง

นายพิชัย กล่าวว่า หลังจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ต้องเข้ามาทำหน้าที่แทน พล.อ.ประยุทธ์ ปรากฏว่าการทำงานของพล.อ.ประวิตรในเวลาไม่กี่วันกลับทำได้ดีกว่า พล.อ.ประยุทธ์มาก เข้าใจปัญหาและเข้าถึงใจประชาชนได้มากกว่า พล.อ.ประยุทธ์ ขนาดทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องเสียศูนย์ออกมาแสดงอาการหวงตำแหน่งเดิมอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยรูปนั่งคุยกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข พร้อมกับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย โดยไม่ได้คำนึงถึงความเหมาะสม เพราะโดยตำแหน่งแล้ว นายอนุทิน เป็นรองนายกฯ ย่อมมีฐานะสูงกว่า รมว.กลาโหม ยิ่งแสดงถึงภาพการยึดติดทำใจไม่ได้ ที่มีกับพล.อ.ประวิตร ทั้งที่น่าจะรู้ว่าเวลาของตนเองหมดแล้วแต่ยังพยายามจะดันทุรัง

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะ รมว.กลาโหม ยังลงพื้นที่น้ำท่วมใน จ.พระนครศรีอยุธยา ทั้งที่ไม่ใช่หน้าที่ของ รมว.กลาโหมเลย รมว.กลาโหม น่าจะลงไปดูพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ที่กำลังมีปัญหาอยู่มากกว่า ทั้งนี้เพราะต้องการแข่งกับ พล.อ.ประวิตร ที่ลงพื้นที่น้ำท่วมก่อนหน้านี้และทำคะแนนนำไปมาก แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ลงพื้นที่กลับเสียคะแนนเพราะนั่งรถกันกระสุน และไม่ยอมเปิดหน้าต่างคุยกับประชาชน โดยอ้างว่าเปิดไม่ได้เพราะเป็นรถกันกระสุน ถ้าหากกลัวคนทำร้ายและกลัวตายขนาดนี้ ไม่น่าจะยังดื้อรั้นจะอยู่ในตำแหน่งต่อไปอีกเลย ควรออกไปได้แล้ว ทั้งสองเรื่องนี้แสดงถึงความเสื่อมได้ชัดเจนและพิสูจน์ได้เลยว่าใครมาเป็นนายกฯ ก็จะทำได้ดีกว่าพล.อ.ประยุทธ์ จากผลงานของ พล.อ.ประวิตร เพียงไม่กี่วันพิสูจน์แล้ว จนทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องออกมาแย่งซีนกลัว พล.อ.ประวิตร จะโดดเด่นกว่าจนคนลืม พล.อ.ประยุทธ์ แต่กลับยิ่งทำยิ่งเสีย

ทั้งนี้ ไหนๆ พล.อ.ประวิตรโชว์ฟอร์มเหนือชั้นกว่า พล.อ.ประยุทธ์แล้ว ก็อยากให้เร่งแก้ไขปัญหาของประเทศที่ควรจะเร่งทำทันที อย่าปล่อยให้มีปัญหามากขึ้นเหมือน พล.อ.ประยุทธ์ทำ โดยนอกจากนโยบายของพรรคพลังประชารัฐที่ยังไม่ได้ทำแล้ว อยากให้เร่งทำ 8 เรื่องดังนี้ 1.การแก้ไขหนี้ ทั้งหนี้ธุรกิจและหนี้ครัวเรือน โดยจัดระบบการพิจารณาลดหนี้ ลดดอกเบี้ย ยืดเงินต้น เพื่อให้ประชาชนทำธุรกิจและประคองชีวิตต่อได้ โดยหนี้ไม่ท่วม และวิธีแก้ที่ดีที่สุดคือการต้องเพิ่มรายได้ เพื่อให้ชำระหนี้ได้ เรื่องนี้ควรเร่งทำก่อนดอกเบี้ยจะขึ้นไปอีกมาก

2.การปรับโครงสร้างราคาพลังงาน ทั้งราคาน้ำมัน ก๊าซ และไฟฟ้า เพื่อแก้ไขให้ยุติธรรม อย่าให้บริษัทพลังงานและนายทุนพลังงานเอาเปรียบประชาชน 3.การเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา เพื่อให้ได้พลังงานในราคาถูก อีกทั้งยังจะมีรายได้เข้ารัฐสามารถนำไปทำสวัสดิการได้

4.เร่งก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อหนองคาย-เวียงจันทน์-จีน เพื่อให้ส่งสินค้าไทยไปจีน และ นักท่องเที่ยวจีนมาไทยได้ 5.เร่งส่งเสริมการท่องเที่ยวให้มีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศมากขึ้น ยกเลิกค่าเหยียบแผ่นดิน 6.แก้ปัญหาของแพง เงินเฟ้อ ล่าสุดเงินเฟ้อเดือนสิงหาคมสูงถึง 7.86% โดยเข้าไปดูโครงสร้างของราคาสินค้า อย่าให้นายทุนเอาเปรียบประชาชน

7.การรับมือดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งจะเป็นภาระกับประชาชนอย่างมาก ต้องมีแนวทางรับมือ และ 8.การปล่อยตัวคนเห็นต่างที่ถูกกักขังอยู่ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ โดยต้องเรียกเข้ามาหันหน้าปรึกษากัน

8 เรื่องที่กล่าวมานี้เป็นเรื่องที่มีแผนงานอยู่และสามารถทำได้ทันที ถ้าผู้นำเข้าใจและสามารถผลักดันได้ ประชาชนอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงและไม่อยากอยู่ได้การบริหารของ พล.อ.ประยุทธ์ต่อไปแล้ว พรรคเพื่อไทยยังมีแผนงานอื่นๆอีกมากที่จะดำเนินการเพื่อฟื้นเศรษฐกิจ อะไรทำได้ก่อนก็อยากให้ พล.อ.ประวิตรทำไปเลย เพราะการฟื้นเศรษฐกิจที่ทรุดหนักมาตลอดจากฝีมือการบริหารของพล.อ.ประยุทธ์ยังต้องแก้ไขอีกมาก ต้องอาศัยคนมีความเข้าใจอย่างแท้จริงถึงจะแก้ได้ พวกที่เคยทำแล้วล้มเหลวก็อย่าไปเลือก

ท่องเที่ยวไทย! รัฐบาลมือไม่พายเอาเท้าราน้ำ

ทางด้าน นายจักรพล แถลงว่า จากการที่ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า การเก็บค่าธรรมเนียมนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยอยู่นั้น กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง โดยคาดว่าการศึกษาทั้งหมดจะแล้วเสร็จประมาณสิ้นเดือนกันยายน จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการทำประชาพิจารณ์ คาดว่าจะเริ่มเก็บค่าธรรมเนียมได้ราวต้นปี 66 และเข้าใจว่าค่าเหยียบแผ่นดินอาจจะมีการคิดหลายอัตราอีกด้วย แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลคงเอาจริงกับการเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าว

แต่อย่างไรก็ตาม การกระทำของรัฐบาลนั้นได้นำมาสู่ข้อสงสัยทั้ง 3 ประการ ดังนี้ ข้อสงสัยที่ 1 ทำงานของรัฐบาลไร้ซึ่งความพร้อม รัฐบาลมีการประกาศการเงินค่าเหยียบแผ่นดินตั้งแต่ต้นปี แต่เลื่อนมาตลอด ส่วนหนึ่งอาจมาจากการขับเคลื่อนด้วยการด่าจากประชาชน แต่อีกส่วนนึงมาจากการทำงานที่ไร้ความพร้อมของรัฐบาล เพราะในความเป็นจริงรัฐบาลควรมีการศึกษา วิจัย สอบถามความเห็นของประชาชนก่อน หลังจากนั้นก็ทำประชาวิจารณ์ และดำเนินตามขั้นตอนต่างๆตามที่กฎหมายกำหนด แต่ทั้งนี้หากเจาะเข้าไปในใส้ในพบว่า การศึกษาเรื่องนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาทางอากาศเพิ่งเสร็จลง ส่วนผู้ที่เดินทางเข้ามาทางบกอยู่ระหว่างการศึกษา คาดว่าการศึกษาทั้งหมดจะแล้วเสร็จประมาณสิ้นเดือนกันยายน นั่นหมายความว่าการดำเนินการมาตรการของรัฐไร้ซึ่งข้อมูลที่แท้จริง

ข้อสงสัยที่ 2 นโยบายของรัฐบาลจะสร้างต้นทุนในการท่องเที่ยวให้กับนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ทุกวันนี้วิกฤติเงินเฟ้อยังไม่เบาบางลง วิกฤติสงครามรัสเซีย-ยูเครนยังระอุ ยังมีวิกฤติพลังงานเข้ามาอีก ทั้งนี้จะเพิ่มต้นทุนให้กับผู้ประกอบการมากขึ้น ผู้บริโภคจะต้องใช้จ่ายมากขึ้นแม้จะซื้อสินค้าเท่าเดิม หากมีมาตรการนี้อีกก็จะเพิ่มต้นทุนในการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวมากขึ้น เท่ากับว่ารัฐบาลไล่นักท่องเที่ยวทางอ้อมหรือไม่ ข้อสงสัยที่ 3 มาตรการดังกล่าวจะเป็นการสร้างผลกระทบทางผลลบต่อจิตใจนักท่องเที่ยวหรือไม่ ทางกระทรวงอาจมองว่าค่าใช้จ่ายในการเยียวยาหรือดูแลของนักท่องเที่ยวด้านสาธารณสุขเป็นภาระให้กับทางงบประมาณ แต่นักท่องเที่ยว คือ ผู้สร้างรายได้ให้กับประเทศ การที่รัฐบาลมีมาตรการบังคับเก็บเงินแบบนี้จะสร้างความบั่นทอนจิตใจของนักท่องเที่ยวหรือไม่?
 
นายจักรพล กล่าวเพิ่มว่า เพื่อไทยขอเสนอทางแก้ไขเบื้องต้นคือ การทำทางเลือกประกันภัย ประกันชีวิต หรือประกันแบบอื่นๆ ให้กับนักท่องเที่ยว แล้วทำการตลาดให้นักท่องเที่ยวซื้อประกันตามความเหมาะสมดีกว่า เพราะเราจะโน้มน้าวนักท่องเที่ยว (Persuade) แทนที่จะไปบังคับเก็บเงิน (Enforcement) มาตรการดังกล่าวจะทำให้นักท่องเที่ยวไม่หนักใจ ไม่รู้สึกว่าถูกบังคับ มีตัวเลือกประกันมากมาย และสร้างความสบายใจให้แก่ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวจะรู้สึกปลอดภัย ผู้ประกอบการมีความมั่นใจในบริการ ประเทศมีรายได้เพิ่ม แรงงานมีตลาดรองรับ มาตรการทั้งหมดนี้ควรที่จะดำเนินการมากกว่าไปบังคับเก็บค่าธรรมเนียมจากนักท่องเที่ยวด้วยซ้ำ
 
“ทั้งหมดนี้กล่าวมานี้ คือ พฤติกรรมที่เรียกว่า “รัฐบาลมือไม่พายเอาเท้าราน้ำ” ที่แท้จริง รัฐบาลควรมองถึงความสามารถในการบริหารประเทศของตัวเองและฟังเสียงของประชาชนมากกว่า แทนที่จะคิดไปเองและตัดสินใจโดยไม่ฟังเสียงประชาชน ที่ผ่านมารัฐบาลไม่เคยนำประชาชนเข้ามาในสมการเพื่อออกนโยบายและแก้ไขปัญหาเลย คิดแทนประชาชนไปทุกเรื่อง ทั้งๆที่รู้ว่าตัวเองไร้ความสามารถในการบริหารแต่ยังไม่คิดที่จะให้ใครมาช่วยหรือฟังเสียงคนรอบข้างให้มากขึ้น นอกจากนี้จะเห็นว่าที่ผ่านมารัฐบาลยังสร้างบาดแผลและกดหัวประชาชนอย่างต่อเนื่องแต่ยังไม่วายคิดจะอยู่ต่อ ไม่มีความสามารถในการบริหารประเทศแล้วยังไม่มีจิตสำนึกต่อประชาชนด้วย ในนามของพรรคเพื่อไทยขอคัดค้านการเก็บค่าเหยียบแผ่นดินและคัดค้านการอยู่ต่อของรัฐบาล เพื่อเปิดทางให้ประชาชนได้พบกับสิ่งที่ดีกว่า” นายจักรพล กล่าว

ค่าเหยียบแผ่นดินกระทบค้าชายแดน-กำลังซื้อ

ส่วน นายกฤษฎา กล่าวว่า การที่รัฐบาลกำลังอยู่ในช่วงพิจารณาว่าจะเก็บค่าเหยียบแผ่นดินกับคนที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยทางบกหรือไม่นั้น แล้วจะส่งผลกับการค้าชายแดนและกำลังซื้อที่เข้ามาจับจ่ายใช้สอยตามชายแดนไทยหรือไม่ ส่วนตัวคิดว่าน่าจะมีผลกระทบไม่มากก็น้อย และมีความเป็นไปได้ว่าสุดท้าย ประเทศเพื่อนบ้านอาจมีการเก็บค่าเหยียบแผ่นดินกับเราเหมือนกัน ดีไม่ดีอาจจะมากกว่าที่เราเก็บเขาก็ได้ และหากเป็นเช่นนั้นจริง ก็มีโอกาสที่เราจะเสียมากกว่าได้ ถ้าเทียบเชิงจำนวนประชากร และการเดินทางเข้าออก ซึ่งจะเป็นอีกนโยบายที่รัฐบาลกำลังจะตัดสินใจผิดอีกครั้ง

ปัจจุบันยกตัวอย่าง จ.หนองคาย มีสะพานมิตรภาพแห่งแรกของประเทศที่เชื่อมกับเพื่อนบ้าน และเป็นจุดเดียว ที่อยู่ตรงข้ามกับเมืองหลวงของประเทศเพื่อนบ้าน ทุกๆวัน โดยเฉพาะวันหยุดสุดสัปดาห์ จะมีนักท่องเที่ยว พ่อค้า แม่ค้า จากประเทศลาว เข้ามาจับจ่ายใช้สอยในหนองคายและจังหวัดใกล้เคียงเป็นจำนวนมาก ซึ่งรายได้ตรงนี้ เห็นได้ชัดเลยว่า ช่วงโควิด-19 ทำให้หลายธุรกิจ โดยเฉพาะ SME นั้น ล้มหายตายจากไป ตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงฟื้นฟู กำลังจะกลับมาดี รัฐบาลกลับจะทำให้เค้าไม่อยากมาเมืองไทย และอาจจะเป็นการจุดฉนวนให้เค้าเปลี่ยนไปใช้สินค้าจากจีน หรือเวียดนามได้ ถ้าไม่ไตร่ตรองให้ดี รัฐกำลังจะทำให้ SME และร้านค้า ลำบากอีกครั้ง โดยไม่ต้องพึ่งภัยธรรมชาติก็เป็นได้

ค่าเสียโอกาสของประเทศไทยจากพล.อ.ประยุทธ์

ขณะที่ น.ส.สรัสนันท์ กล่าวว่า ความไม่รับรู้และไม่ขยับเพื่อรับมือต่อการแปลงเปลี่ยนโจทย์โลกใหม่ๆที่ทั้งเปราะบางและซับซ้อน ไม่ว่าจะเรื่องความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจ สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน หรือปัญหาจีน-ไต้หวัน ทำให้ประเทศไทยเสี่ยงต่อการสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล และกำลังตายอย่างรวดเร็ว อนาคตเศรษฐกิจไทยอาจจะหมดหนทางรอดแล้วก็เป็นได้ หากผู้นำยังคงนิ่งและไม่รับรู้กลับหายนะที่กำลังคืบคลานเข้ามา
 
สัญญาณแรก คือการเคลื่อนย้ายฐานการผลิตของบริษัทข้ามชาติต่างๆออกมาจากประเทศจีน และอาเซียนคือจุดมุ่งหมายใหม่แต่หากว่าประเทศไทยไม่ใช่เป้าหมายหลักที่หลายๆบริษัทเลือกที่จะมาลงทุน โดยสาเหตุหลักมาจากความไม่แน่นอนทางการเมือง ปัญหาคอรัปชั่น แรงงานที่สูงกว่าเพื่อนบ้าน สิทธิ์ทางภาษีที่ไทยมีน้อยกว่าเพื่อนบ้าน แต่ที่สำคัญที่สุดคือ credibility crisis หรือสภาวะขาดความเชื่อมั่นในสายตาต่างชาติและนักลงทุน ที่พล.อ.ประยุทธ์นำประเทศไทยมาถึงจุดนี้
 
ระหว่างการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกว่า 8 ปีของพล.อ.ประยุทธ์ ประเทศไทยไม่ได้มีการเซ็นตกลงทางการค้าใดๆ ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านเช่นประเทศเวียดนาม มี FTA มากกว่าประเทศไทยหลายสิบฉบับ ทำให้การค้าการลงทุนไหลไปทางเวียดนามมากกว่า แม้แต่บริษัทไทยก็ออกไปลงทุนที่เวีนดนามกว่า 3 แสนล้านบาท สิ่งที่ไทยพลาดไปหมายถึง เม็ดเงินการลงทุน การจ้างงาน เศรษฐกิจภายในประเทศที่จะฟูขึ้น
 
ด้วยความด้อยปัญญาการต่างประเทศ เราไม่เห็นการเจรจาเพื่อการค้าการลงทุน ไม่มี FTA ใดๆ ตลอดการดำรงตำแหน่งของพล.อ.ประยุทธ์ เราเห็นเพียงแต่นายกฯ ไทย ไปยืนเป็นตัวประกไอบในเวทีโลก เห็นการตกลงซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์เพียงเพื่อเอาใจมหาอำนาจ และอีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงสู่หายนะที่น่าเป็นกังวลคือ อุตสาหกรรมยานยนตร์ไทย ที่เทรนด์ทุกวันนี้มุ่งสู่การบริโภครถยนต์ไฟฟ้า ที่ไทยไม่มีความสามารถในการผลิต ตลอด 8 ปีรัฐบาลไม่เคยมีนโยบายเพื่อรับรองต่อการเปลี่ยนแปลงนี้ไม่เคยเตรียมพร้อมในด้านคน ด้านทรัพยากร ด้านกฎหมายบังคับใช้ต่างๆ ทำให้นักลงทุนไป จีน เวีนดนาม อินโดนีเซีย เรียบร้อยแล้ว การเพิ่งมาตื่นรู้ตัวตอนนี้ และทุ่มงบประมาณหลายหมื่นล้านบาท ตั้งเป้าสร้างไทยเป็นศูนย์การผลิตยานยนตร์ไฟฟ้าแห่งภูมิภาค นั้นมองว่าเราช้าไปและไม่อาจตามประเทศอื่นได้ทัน too little too late มองว่ารัฐบาลนี้วัวหายล้อมคอก และงบประมาณที่นำไปละลายแม่น้ำก็คงคาดผลลัพไม่ได้เช่นกัน และสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับยายนตร์ไทยคือ ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์สันดาปกว่า 2500 ราย จะทยอยปิดตัว แรงงานกว่า 500,000-600,000 ราย จะถูกลอยแพ

นอกจากเรื่องเศรษฐกิจแล้ว ปัญหาแรงงานไทยในต่างแดนถูกละเลยเช่นเดียวกัน ปัญหาใหญ่คือ การลักลอบเข้าประเทศต่างๆแบบผิดกฎหมาย เช่นปัญหาผีน้อยในเกาหลีใต้ ส่งผลกระทบถึงความสัมพันระหว่างประเทศ การท่องเที่ยว การเข้าเมืองแบบผิดกฎหมายทำให้แรงงานไทยไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ เช่น ประกันสังคม หรือถูกโกงค่าแรงบ้าง ถูกกดขี่ต่างๆ นานาบ้าง ทำให้คุณภาพชีวิตแรงงานไทยในต่างแดนไม่ได้รับการดูแล ทั้งที่นำรายรับเข้าประเทศ รัฐบาลไม่เคยสนใจที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว รัฐบาลควรเดินหน้าเจรจากับหลายๆประเทศเพื่อเปิดช่องทางอย่างถูกกฎหมายให้แรงงานไทยได้ไปทำงานอย่างมีศักดิศรี และได้รับการดูแลตามสิทธิมนุษยชน ทางคณะทำงานด้านการต่างประเทศของพรรคเพื่อไทย มองว่ารัฐบาลควรทำหน้าที่ปกป้องและอำนวยความสะดวกแรงงานชาวไทยให้สามารถไปทำงานในต่างประเทศได้อย่างถูกกฎหมาย คนไทยหลายแสนชีวิตอยู่ต่างประเทศถูกมองข้ามอย่างสิ้นเชิง

ถ้าได้นายกฯ เป็นคนรุ่นใหม่-ไทยไปได้ไกลกว่านี้

ทางด้าน นายอนุสรณ์กล่าวถึงกรณี ศาลรัฐธรรมนูญ ได้เรียกประชุมนัดพิเศษในวันพฤหัสบดีที่ 8 ก.ย.นี้ เพื่อพิจารณาคดีวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ว่า ตอนศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี ก็ไม่ได้ทำให้คนไทยรอนานจนเกินไป ก่อนหน้านี้ไม่มีการนัดประชุมมาก่อน มีเพียงการนัดประชุมในวันที่ 14 ก.ย.นี้ เพื่อลงมติวินิจฉัยกรณีความสิ้นสุดการเป็นรัฐมนตรีของนายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย หรือไม่ แต่ศาลรัฐธรรมนูญได้เรียกประชุมนัดพิเศษในวันพฤหัสบดีที่ 8 ก.ย. สถานการณ์ขณะนี้เชื่อว่าประชาชนจับตาและเตรียมการรับมือกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมา เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องกดดันศาล และไม่มีใครปรารถนาเช่นนั้น

น่าแปลกใจที่ พล.อ.ประยุทธ์ ชื่นชมสปิริตของนายนิพนธ์ แต่อาจไม่ทันคิดว่ามีคนรอให้ พล.อ.ประยุทธ์ แสดงสปิริตลาออกด้วยเหมือนกัน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ลงพื้นที่ แม้โซเชียลจะเสียงแตก ตกลงนั่งหลับหรือแค่กระพริบตา แต่ต้องยอมรับว่าประชาชนเห็นภาพความแตกต่างชัด ระหว่างรักษาการนายกฯ กับนายกฯ ที่ถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่มีสภาพแตกต่างกันอย่างไร อดคิดไม่ได้ว่าถ้าประเทศไทยได้นายกฯ อายุไม่เยอะ เป็นคนรุ่นใหม่ มีความรู้ มีพลัง มีไฟในการทำงาน ประเทศไทยจะไปได้ไกลกว่านี้

“นาทีนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ต้องกังวลว่า พล.อ.ประวิตร จะแซงหน้า หรือทำหน้าที่ได้ดีกว่า เอาเข้าจริงนายกฯ คนใหม่ จะทำหน้าที่ได้ดีกว่า โดยเฉพาะนายกฯ คนรุ่นใหม่ ที่มาจากการเลือกตั้งและยึดโยงกับประชาชน” นายอนุสรณ์ กล่าว