ฝนตกกระหน่ำต่อเนื่องจากสารพัดพายุ ทำเอาหลายฝ่ายกังวล “หวาดผวา” จะเกิด “วิกฤติซ้ำรอยมหาอุทกภัย” ปี 54 ครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ แม้ผ่านมาแล้ว 11 ปี แต่ทุกคนยังหลอนกับภาพจำแสนโหดร้ายบ้านเรือน รถยนต์ นิคมอุตสาหกรรม พื้นที่เศรษฐกิจ จมบาดาล ประชาชน ผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศ สินค้า ซัพพลายเชน ชิ้นส่วน ส่งออก ผลิตไม่ได้ เดือดร้อนกันไปทุกหย่อมหญ้า ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนระดับโลกมีการประเมินมูลค่าเสียหายทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 1.4 ล้านล้านบาท

ขณะที่มาตรการการป้องกันน้ำท่วม-น้ำแล้งของรัฐบาล ยังไร้ความคืบหน้าที่ชัดเจน บางโครงการทำกะปริดกะปรอย จนไม่สามารถดึงความเชื่อมั่นประชาชนให้วางใจกับสถานการณ์ได้ แม้ครั้งนี้!! หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต่างออกมานั่งยัน ยืนยัน ว่าสถานการณ์น้ำปีนี้ไม่รุนแรงเท่าวิกฤติปี 54 ที่มีมวลน้ำแตกต่างกันมาก ส่วนใหญ่เกิดจากน้ำฝนที่ตกหนัก และระบายไม่ทัน ซึ่งไม่กี่วันก็ยุบ แตกต่างจากปี 54 ที่เกิดจากน้ำในเขื่อนหลัก ๆ เต็มความจุ จนต้องระบายออกมา ท่วมพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ แม้ปีนี้ หลายฝ่ายประเมินสถานการณ์ยังไม่รุนแรงเท่าปี 54 แต่หลายภาคส่วนก็เป็นห่วงน้ำท่วมซ้ำซากของไทย  

เอกชนผวาซ้ำรอยปี54

ณ เวลานี้ เชื่อได้ว่าบรรดาภาคเอกชน ยังหวาดผวากับมหาอุทกภัยปี 54 ที่สร้างความเสียหายอย่างสาหัสให้กับภาคธุรกิจ แม้รัฐยังออกมาย้ำแล้วย้ำอีกว่าน้ำท่วม รอระบายครั้งนี้ ไม่ซ้ำรอยปี 54 ล่าสุด “เกรียงไกร เธียรนุกุล” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (...) ก็ยังเป็นห่วง และย้ำว่า ส.อ.ท.ได้เฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำท่วมและปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่องในประเทศไทยอย่างใกล้ชิด เพราะกังวลต่อผลกระทบห่วงโซ่การผลิตในภาคอุตสาหกรรมหากรุนแรง จะกระทบต่อการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้ ซึ่งภาครัฐจำเป็นต้องมีมาตรการรับมือและป้องกันผลกระทบการเกิดอุทกภัยในพื้นที่เศรษฐกิจรวมทั้งควรมีแผนบริหารจัดการน้ำอย่างมีระบบทั้งการป้องกันอุทกภัยเพื่อไม่ให้เกิดซ้ำรอยปี 54 และปัญหาภัยแล้ง

พื้นที่ที่ภาคเอกชนเป็นห่วงคือ พื้นที่โซนภาคกลาง เช่น พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร และโซนตะวันออกของ กทม. เช่น สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ที่แม้น้ำไม่ท่วมหนัก แต่มีน้ำหลากในพื้นที่บ่อยครั้ง อาจกระทบต่อโรงงานอุตสาหกรรมได้และหากท่วมรอบนิคมอุตสาหกรรม ก็กระทบต่อภาคการขนส่งที่มีผลต่อการส่งออกได้เช่นกัน

สั่ง 67 นิคมฯ ระวัง 24 ชม.

อย่างไรก็ตามในฟากฝั่งของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงอุตสาหกรรม “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รมว.อุตสาหกรรม ได้ออกมาสั่งการให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศ ไทย (กนอ.) กำชับไปยังนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 67 แห่งทั่วประเทศ ให้ติดตามและเฝ้าระวัง
การเกิดน้ำท่วมฉับพลัน กรณีที่อาจมีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความเสี่ยง เช่น นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน, นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) และนิคมอุตสาหกรรมนครหลวง ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพื้นที่ราบลุ่มต่ำและติดแม่น้ำเจ้าพระยาเนื่องจากมีความเสี่ยงเกิดน้ำท่วมฉับพลันได้ รวมถึงนิคมอุตสาหกรรมบางปู จังหวัดสมุทรปราการ ที่พื้นที่อยู่ใกล้ทะเลและอยู่ใกล้กับชุมชนที่อาจเกิดน้ำทะเลหนุนได้ในบางช่วง

ขณะที่ “วีริศ อัมระปาล” ผู้ว่าการ กนอ. เด้งรับนโยบายทันที โดยให้ทุกนิคมอุตสาหกรรมเคร่งครัด ซึ่งตอนนี้แต่ละนิคมอุตสาหกรรมมีมาตรการป้องกันน้ำท่วมอย่างชัดเจน และบางนิคมอุตสาหกรรมได้สร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมไว้ล่วงหน้าแล้ว เชื่อมั่นว่าจะสามารถรับมือกับสถานการณ์น้ำได้อย่างแน่นอน ขณะเดียวกันได้ติดตามข้อมูลการระบายน้ำจากทั้ง 3 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนพระราม 6 อย่างใกล้ชิด พร้อมจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังตรวจสอบระดับน้ำและปริมาณน้ำฝนตลอด 24 ชั่วโมง

จัด8มาตรการกันท่วม

“วีริศ” บอกว่า เวลานี้ กนอ.เตรียมพร้อมแนวทางการบริหารจัดการน้ำท่วมดังนี้

1.ติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด

2.คาดการณ์ปริมาณฝนในพื้นที่

3.ตรวจสอบและซ่อมแซมบำรุงรักษาเครื่องสูบน้ำรวมถึงเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองที่มีอยู่ให้ใช้งานได้ 100%

4.พร่องน้ำภายในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมฯ ให้อยู่ในระดับต่ำสุดเพื่อเป็นพื้นที่แก้มลิงรองรับน้ำ

5.ประสานจัดเตรียมเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่สำรองจากภายนอกทั้งแบบใช้น้ำมันและแบบใช้ไฟฟ้า เข้ามาสนับสนุนทันทีที่มีการร้องขอ

6.สื่อสารให้ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมรวมทั้งผู้เกี่ยวข้อง ทราบถึงสถานการณ์ล่าสุดอย่างต่อเนื่อง

7.กำหนดให้ทุกนิคมอุตสาหกรรมซ้อมแผนฉุกเฉินรองรับอุทกภัยเป็นประจำ และ

8.กรณีที่มีความเสี่ยงว่าจะเกิดอุทกภัย ให้รีบรายงานผู้ว่าการ กนอ. และผู้บริหาร กนอ. ทราบอย่างต่อเนื่อง จนกว่าสถานการณ์จะยุติ

ทั้งหลายทั้งปวงทั้ง 8 มาตรการนี้ มั่นใจว่ามาตรการทั้งหมด จะรับมือสถานการณ์ฝนตกหนักได้อย่างมีประสิทธิภาพสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการในนิคมฯ ทุกแห่ง และชุมชนโดยรอบ

ประกันเปิดแผนตั้งรับ

หันมาดูในด้านประกันภัยเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่เคยบอบช้ำที่ต้องหลอนอีกหรือเปล่า โดยเฉพาะธุรกิจประกันภัย ที่เมื่อ 11 ปีก่อนต้องสำลักน้ำ เคลมประกันสูงกว่า 4 แสนล้านบาท มีผู้ประกันภัยเรียกร้องจำนวน 91,099 ราย หลังจาก “น้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรม” เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์กว่า 7 แห่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและปทุมธานี

แต่ปีนี้ธุรกิจประกันวินาศภัยกลับไม่กังวลมากนักและบอกว่า ยังห่างไกลจากช่วงวิกฤติปี 54 อีกมาก เนื่องจากเมื่อเทียบน้ำท่วมปีนี้กับวิกฤติปี 54 มวลน้ำแตกต่างกันมาก แม้ยังไม่ประเมินว่า ปีนี้จะเสียหายเท่าไรแต่เชื่อว่าไม่ได้เสียหายรุนแรงมาก ซึ่งบริษัทประกันพร้อมดูแลรับผิดชอบความเสียหายแน่นอน โดย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการและประสานงานด้านประกันภัย เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากสถานการณ์น้ำท่วมเพื่ออำนวยการและประสานงานด้านประกันภัยในการรับแจ้งตรวจสอบข้อมูลและเอกสารการจัดทำประกันภัยแล้ว

5ระดับประกันซ่อมน้ำท่วม

นอกจากนี้ยังได้ชี้แจงแนวปฏิบัติตามมาตรฐานการซ่อมรถยนต์ที่ถูกน้ำท่วม ให้ประชาชนรับทราบ แบ่งเป็น 5 ระดับ คือ ระดับเอ น้ำท่วมถึงพื้นรถยนต์ ประเมินค่าซ่อม 8,000-10,000 บาท ระดับ บี น้ำท่วมถึงเบาะนั่ง ประเมินค่าซ่อม 15,000-20,000 บาท ระดับซี น้ำท่วมถึงส่วนล่างของคอนโซลหน้า ประเมินค่าซ่อม 25,000-30,000 บาท ระดับดี น้ำท่วมถึงส่วนบนของคอนโซลหน้า ประเมินค่าซ่อมเริ่มต้นที่ 30,000 บาทขึ้นไป และระดับอี รถยนต์จมน้ำทั้งคัน ซึ่งในกรณีนี้บริษัทจะคืนทุนประกันภัยให้กับผู้เอาประกันภัย 

สั่งห้างเพิ่มสต๊อกสินค้า

ด้าน กระทรวงพาณิชย์ ที่ดูแลเรื่องสถานการณ์ราคาสินค้า ระบุว่า ปีนี้ยังไม่ได้รับรายงานความผิดปกติโดยทั้งแหล่งผลิต แหล่งเพาะปลูกสินค้า ผลผลิตภาคการเกษตรส่วนใหญ่ยังผลิตไม่กระทบขณะที่ภาคการขนส่งก็ยังขนส่งได้ดีอยู่ รวมถึงตามห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เกต ตลาดสด มีสินค้าจำหน่ายได้เพียงพอ ไม่มีการฉวยโอกาสขึ้นราคา แต่เพื่อความไม่ประมาทกรมการค้าภายในได้ขอความร่วมมือห้างค้าส่งค้าปลีกให้เพิ่มสต๊อกสินค้าให้เพียงพอกับความต้องการของประชาชนโดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพ เช่น ข้าวสาร อาหารแห้ง อาหารกระป๋อง น้ำดื่ม อุปกรณ์ซักล้างและทำความสะอาด เป็นต้น และขอให้กระจายสินค้าให้ทั่วถึงทุกพื้นที่ทั่วประเทศรวมทั้งพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหรือได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม  

นอกจากนี้ได้ประชุมกับห้างค้าส่งค้าปลีกและร้านสะดวกซื้อร้านจำหน่ายอุปกรณ์และวัสดุก่อสร้าง และสมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทยเพื่อติดตามสถานการณ์สต๊อกและการกระจายสินค้า ซึ่งห้างร้านต่างยืนยันว่า ได้จัดเตรียมสต๊อกสินค้าไว้เพิ่มขึ้นตามที่กรมฯได้ขอความร่วมมือแล้วและยังสามารถบริหารจัดการสต๊อกและกระจายสินค้าไปยังสาขาทั่วประเทศได้จึงเชื่อมั่นว่าจะไม่เกิดปัญหาสินค้าขาดแคลน ขณะที่สมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทยก็ให้ข้อมูลที่ตรงกันว่าการขนส่งสินค้ายังคงสามารถดำเนินการได้ตามปกติ 

น้ำลดสั่งจัดโปรช่วยคนไทย

อย่างไรก็ดีกรมการค้าภายในได้กำชับห้างร้านต่าง ๆ ให้เฝ้าระวังสถานการณ์อย่างต่อเนื่องต่อไปรวมทั้งขอให้เตรียมแผนรองรับหากสถานการณ์น้ำท่วมยังคงไม่สิ้นสุดลง โดยกรมการค้าภายในรับเป็นตัวกลางประสานระหว่างผู้ประกอบการห้างร้าน ผู้ผลิตสินค้าและ
ผู้ประกอบการขนส่งสินค้า ในกรณีที่มีข้อติดขัดในเรื่องนี้ อีกทั้งขอให้ห้างฯจัดโปรโมชั่นลดราคาสินค้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน 

เตือนกรุงเทพฯจมทะเล

ในมุมวิชาการอย่าง “อนุสรณ์ ธรรมใจ” อดีตรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ ม.รังสิต บอกว่า มีงานวิจัยของกรีนพีซที่เผยแพร่ตั้งแต่ปีที่แล้ว เตือนว่า อีก 8 ปี กรุงเทพฯ อาจจมทะเล  สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจสังคมรุนแรง หากไม่ทำอะไรเพื่อป้องกันตั้งแต่ตอนนี้อย่างจริงจัง โดยกรีนพีซประเมินว่า กรุงเทพฯและปริมณฑลจะเผชิญสภาวะจมทะเลกระทบพื้นที่ 1,521 ตร.กม. จากพื้นที่กรุงเทพฯทั้งหมด 1,569 ตร.กม. ความเสียหายทางเศรษฐกิจเบื้องต้น 18.6 ล้านล้านบาทกระทบประชาชนขั้นต่ำ 10.45 ล้านคน

ช่วงเวลา 11 ปีที่ผ่านมาหลังน้ำท่วมใหญ่รัฐบาลและพรรค การเมืองก็ไม่สามารถผลักดันให้เกิดการลงทุนในเรื่องการบริหารจัดการน้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพและเพียงพอ โครงการขนาดใหญ่เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำต้องชะลอไปหลังการรัฐประหารโครงการเจ้าพระยา 2 คลองระบายน้ำหลากความยาวประมาณ 22-23 กม. เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยซ้ำซากลุ่มจังหวัดแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง เพิ่งได้เร่งรัดให้ดำเนินการหลังจากที่จะเกิดความเสี่ยงน้ำท่วมใหญ่แบบปี 54 ในตอนนี้ การก่อสร้างที่มีความคืบหน้าเพียง 20%

น้ำท่วมใหญ่ปี 54

หนี้สูงฟื้นยากกว่าปี 54

หากมีอุทกภัยใหญ่แบบปี 54 และปล่อยให้น้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรมและศูนย์กลางทางธุรกิจการฟื้นฟูในปี 65 จะยากกว่ามาก เนื่องจากครัวเรือนมีหนี้ครัวเรือนสูงภาครัฐมีหนี้สาธารณะสูง ภาคธุรกิจภาคผลิตเพิ่งฟื้นตัวหลังวิกฤติเศรษฐกิจโควิด หากเกิดสถานการณ์แบบปี 54 เกิดขึ้น จีดีพีไตรมาส 4 ปี 65 อาจติดลบมากกว่าปี  54 ความสามารถในการเยียวยาชดเชยรายได้และฟื้นฟูเศรษฐกิจก็ทำได้ยากกว่าเพราะมีข้อจำกัดทางงบประมาณ ฉะนั้นต้องอย่าปล่อยให้น้ำท่วมพื้นที่ศูนย์กลางเศรษฐกิจและนิคมอุตสาหกรรมแบบปี 54 ซึ่งรัฐบาลต้องเอาจริงเอาจังแก้ปัญหา หากช้ากว่านี้จะไม่ทันกาล กรุงเทพฯและปริมณฑล กำลังจะจมลงใต้ระดับน้ำทะเล น้ำทะเลจะเอ่อล้นหนุนสูงและพื้นดินทรุดตัวลง ทรุดตัวเฉพาะปีละ 1-2 ซม. มีความหนาแน่นของประชากรมากมีโครงการก่อสร้างตึกสูงจำนวนมากในพื้นที่ดินอ่อน

ต้องทำทันทีก่อนวิกฤติ

สิ่งที่ต้องทำทันที เช่น ต้องพิจารณาสร้างเขื่อนกั้นน้ำ หรือ ถนนเลียบชายฝั่งยกสูง ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากซึ่งรัฐบาลต้องวางแผนงบประมาณให้ดี, เร่งปลูกป่าชายเลนเพื่อให้เป็นพื้นที่กันชน ซับน้ำรองรับความรุนแรงของคลื่นทะเล การปลูกป่าชายเลนตลอดแนวพื้นที่จากบางขุนเทียนสมุทรสงคราม สมุทรสาคร สมุทรปราการจะฟื้นฟูธรรมชาติและยังสามารถเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้อีกด้วย, ต้องจัดระเบียบการใช้ที่ดินริมชายฝั่งทั้งหมดการใช้ที่ดินริมแม่น้ำลำคลองเพื่อขยายแม่น้ำและขุดลอกคูคลองได้เต็มที่ รวมทั้งต้องหยุดการขยายตัวของกรุงเทพฯและปริมณฑล และกระจายความเจริญไปภูมิภาค เป็นต้น

ทั้งหมดจึงต้องวัดใจรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะโชว์ฝีมือแก้น้ำท่วม-น้ำแล้ง แบบจริงจังเบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้จริงหรือไม่ หรือสุดท้ายก็กลายเป็นไฟไหม้ฟาง ตื่นตัวแค่ช่วงต้น แล้วรอให้เกิดเหตุซ้ำซากให้คนไทยต้องระดมทุกข์ซ้ำไปซ้ำมา!!.

…ทีมเศรษฐกิจ…