จากกรณีตำรวจ บก.ปทส. นำโดย พล.ต.ต.มานะ กลีบสัตบุศย์ ผบก.ปทส. พ.ต.อ.วิศิษฐ์ พลบม่วง ผกก.1 บก.ปทส. พ.ต.ท.เอกพล ปัญจมานนท์ สว.กก.1 บก.ปทส. สนธิกำลังร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมประมง จับกุม นายอภิสิทธิ์ (สงวนนามสกุล) อายุ 21 ปี พร้อมของกลางปลาปิรันยา ขนาด 6-7 ซม. จำนวน 6 ตัว ได้ที่บ้านพักย่านสายไหม กทม. ตามที่เสนอข่าวไปนั้น

เมื่อวันที่ 20 ก.ย. พ.ต.อ.วิศิษฐ์ กล่าวว่า ปลาปิรันยาเป็นปลาน้ำจืดที่อยู่ในสกุลเซอร์ราซัลมัส สกุลรูสเวลทิเอลลา และสกุลไพโกเซนทรัส มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาใต้และแอฟริกา มักอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ เมื่อกินอาหารจะใช้วิธีล่าโดยการพุ่งเข้าโจมตีอย่างรวดเร็ว และรุมกัดแทะ จนถูกขนานนามว่า “เพชฌฆาตแห่งลุ่มน้ำจืด” ซึ่งปลาชนิดนี้สามารถแพร่ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็วในพื้นที่เขตร้อนชื้นอย่างประเทศไทย หากหลุดรอดลงไปในแหล่งน้ำธรรมชาติจะก่อให้เกิดอันตรายอย่างมาก เพราะนอกจากจะส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำพื้นเมืองแล้ว ยังเป็นการคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพ จนก่อให้เกิดความสูญเสียต่อสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสุขอนามัย

รวมทั้งเป็นอันตรายต่อประชาชนที่ลงไปใช้ประโยชน์ในแหล่งน้ำสาธารณะด้วย ซึ่งทาง พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. พล.ต.ต.มานะ กลีบสัตบุศย์ ผบก.ปทส. เล็งเห็นความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติจึงได้สั่งการให้ชุดสืบสวนนั้นลงพื้นที่หาข่าวผู้ที่รักรอบจำหน่ายสัตว์อันตรายที่จะทำลายระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันประเทศไทย กำหนดให้ปลาปิรันยา ที่มีชีวิตทุกชนิด รวมทั้งไข่และน้ำเชื้อของปลาดังกล่าว เป็นสัตว์น้ำที่ห้ามมีไว้ในครอบครอง โดยผู้ฝ่าฝืนจะถือว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2558 มาตรา 64 ข้อหา “ครอบครองสัตว์น้ำ (ปลาปิรันยา) ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่ายกายมนุษย์หรือต่อสัตว์น้ำอื่นโดยผิดกฎหมาย” และมีโทษตามมาตรา 144 “ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 64 หรือมาตรา 65 วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” ประกอบกฎกระทรวงกำหนดสัตว์น้ำที่ห้ามมีไว้ในครอบครอง พ.ศ. 2559

อย่างไรก็ตาม ฝากประชาสัมพันธ์ หากพบเห็นหรือมีข้อมูลเกี่ยวกับการลักลอบเพาะเลี้ยงแจ้งได้ที่ บก.ปทส. ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ทั้งนี้ มีรายงานว่าก่อนหน้านี้ราวปี 2559 ทางคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดประเภท ชนิด ลักษณะ จำนวน หรือขนาดของสัตว์น้ำที่ห้ามมีไว้ในครอบครอง พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้ กษ. เร่งรัดการเสนอกฎหมายลำดับรองตามมาตรา 5 มาตรา 45 มาตรา 58 (1) มาตรา 64 วรรคสอง มาตรา 66 มาตรา 71 วรรคสี่ ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้กฎหมายแม่บทมีผลใช้บังคับโดยสมบูรณ์ และสามารถปฏิบัติให้เกิดผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง 1. กำหนดห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์น้ำที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายมนุษย์หรือต่อสัตว์น้ำอื่น หรือสิ่งแวดล้อมของสัตว์น้ำ โดยมีการกำหนดปลาปิรันยาที่มีชีวิตในสกุล (Genus) Serrasalmus สกุล Roosevel-tiella และสกุล Pygocentrus ทุกชนิดและทุกขนาด รวมทั้งไข่และน้ำเชื้อของปลาดังกล่าว รวมอยู่ด้วย นอกจากนี้ยังได้กำหนดให้ผู้มีสัตว์น้ำดังกล่าวไว้ในครอบครองอยู่ก่อนหรือในวันที่กฎกระทรวงฉบับนี้ใช้บังคับ ให้ส่งมอบแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ภายในระยะเวลาที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ซึ่งหากตรวจพบหรือว่ามีการลักลอบเลี้ยง รวมทั้งจำหน่ายถือว่าเป็นความผิด.