จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 3 ต.ค. ที่ผ่านมา ปรากฏข่าวทางสื่อสังคมออนไลน์ กรณีขบวนการขนแรงงานต่างด้าว ปลอมตัวสวมเสื้อกั๊กเป็นเจ้าหน้าที่ไกล่เกลี่ยยุติธรรม โดยทหารหน่วยเฉพาะกิจ กองกำลังเทพสตรี ประจำจุดตรวจศิลาสลัก ได้ทำการจับกุมแรงงานต่างด้าวชาวเมียนมา จำนวน 4 คน ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย พร้อมผู้นำพาชาวไทย 1 คน แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ โดยใส่เสื้อโปโลสีฟ้า สวมเสื้อกั๊กทับนอก ระบุข้อความ ยุติธรรมทางเลือก (ศกช.) ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนนั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 ต.ค. นายธีรยุทธ แก้วสิงห์ โฆษกกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า บุคคลที่แต่งกายสวมเสื้อโปโลชั้นในสีฟ้าและสวมเสื้อกั๊กเจ้าหน้าที่ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทสีดำทับไว้ด้านนอก ซึ่งเป็นผู้ขับรถยนต์ คือ นายเพิ่มศักดิ์ วังเพ็ชร เป็นผู้ขึ้นทะเบียนผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนจริง โดยนายเพิ่มศักดิ์ได้ผ่านการอบรมตามหลักสูตรการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทตามพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ.2562 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รุ่นที่ 6 และได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ทะเบียนเลขที่ 145/2563 รวมทั้งเป็นคณะทำงานศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน ตำบลสุไหงโก-ลก อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส

“อย่างไรก็ตาม การกระทำของบุคคลที่ปรากฏตามข่าว หากข้อเท็จจริงเป็นเช่นนั้น ถือเป็นพฤติกรรมที่กระทำผิดต่อกฎหมายบ้านเมือง ต้องถูกดำเนินคดีตามกระบวนการของกฎหมาย เบื้องต้นทางกรมฯ ได้ระงับการปฏิบัติหน้าที่ผู้ไกล่เกลี่ยไว้ก่อน และหากเป็นผู้กระทำผิดจริง ถือว่าขาดคุณสมบัติในการเป็นผู้ไกล่เกลี่ย และต้องพ้นจากการเป็นผู้ไกล่เกลี่ยและคณะทำงานศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน ตามประกาศกระทรวงยุติธรรมเรื่องหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการขึ้นทะเบียนผู้ไกล่เกลี่ย พ.ศ. 2562 และระเบียบกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน พ.ศ.2562”

นายธีรยุทธ กล่าวต่อว่า การขึ้นทะเบียนเป็นผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน ตามพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ.2562 นั้น ต้องเป็นผู้ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 30 ปีบริบูรณ์ ผ่านการอบรมตามหลักสูตรที่คณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ (กพยช.) รับรอง มีความพร้อมในการอุทิศเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ และไม่มีลักษณะต้องห้าม เช่น มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่องในศีลธรรม เป็นผู้เคยรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ เป็นต้น ทั้งนี้ ปัจจุบันกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้ขึ้นทะเบียนผู้ไกล่เกลี่ยทั้งหน่วยงานรัฐและภาคประชาชน รวม 3,522 ราย และมีศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท 1,189 แห่ง ทั่วประเทศ.