เมื่อวันที่ 16 ต.ค. นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยว่า คาดว่าวันที่ 16 ต.ค.65 จะมีประชาชนเดินทางกลับกรุงเทพจำนวนมาก ทาง ขร. จึงได้ประสานผู้ให้บริการระบบราง จัดเตรียมขบวนรถให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้อย่างเพียงพอ โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้เพิ่มตู้เพิ่มไปกับขบวนรถที่มีผู้โดยสารหนาแน่น และรถไฟฟ้าจัดเตรียมขบวนรถเสริมในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน ซึ่งในวันที่ 16 ต.ค. มีรถจักรดีเซลไฟฟ้าใหม่ QSY ร่วมให้บริการด้วยรวม 12 ขบวน (ไป 6 ขบวน และกลับ 6 ขบวน) อย่างไรก็ตาม คาดว่ารถจักรดีเซลไฟฟ้า QSY อีก 15 คัน จะมาถึงไทยช่วงปลายเดือน ต.ค.65 ก่อนนำมาให้บริการแก่ประชาชนต่อไป

นายพิเชฐ กล่าวต่อว่า สำหรับในช่วงวันหยุดต่อเนื่อง ระหว่างวันที่ 13-15 ต.ค.65 สะสม 3 วัน มีประชาชนใช้บริการระบบรางรวม 2,832,040 คน มากกว่าประมาณการ 298,929 คน หรือสูงกว่าประมาณการ 11.80% (ประมาณการ 2,533,111 คน) ประกอบด้วย รถไฟระหว่างเมืองของ รฟท. มีผู้ใช้บริการรวม 190,828 คน แบ่งเป็น ผู้โดยสารเชิงพาณิชย์ 79,870 คน และเชิงสังคม 110,958 คน โดยมีผู้โดยสารขาออกสะสม 94,951 คน และขาเข้า 95,877 คน ซึ่งพบว่า สายใต้มีผู้ใช้บริการมากสุดถึง 70,030 คน (ขาออก 34,734 คน และขาเข้า 35,296 คน)

รองลงมาคือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ 46,061 คน (ขาออก 22,200 คน และขาเข้า 23,861 คน) สายเหนือ 37,851 คน (ขาออก 19,097 คน ขาเข้า 18,772 คน) สายตะวันออก 25,053 คน (ขาออก 12,968 คน ขาเข้า 12,085 คน) และสายมหาชัย/แม่กลอง 11,833 คน(ขาออก 5,970 คน ขาเข้า 5,863 คน) และระบบรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล (รวมรถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง)) สะสม 3 วัน มีผู้ใช้บริการ 2,641,212 คน ประกอบด้วย แอร์พอร์ตเรลลิงก์ 138,182 คน สายสีแดง 40,599 คน สายฉลองรัชธรรม(สีม่วง) 76,395 คน สายเฉลิมรัชมงคล (สีน้ำเงิน) 788,839 คน และรถไฟฟ้าบีทีเอส (สีเขียวและสีทอง) 1,597,197 คน

นายพิเชฐ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามสำหรับเมื่อวันที่ 15 ต.ค.65 ซึ่งเป็นวันที่ 3 ของวันหยุดต่อเนื่อง มีประชาชนมาใช้บริการระบบราง 948,223 คน มากกว่าประมาณการ 201,290 คน (ประมาณการ 746,933 คน) หรือสูงกว่าประมาณการ 26.95% แบ่งเป็น รถไฟ 61,463 คน และรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล และรถไฟชานเมือง(สายสีแดง) 886,760 คน มีรายละเอียด ดังนี้ 1. รถไฟ ให้บริการ 223 เที่ยววิ่ง มีผู้ใช้บริการ 61,463 คน น้อยกว่าประมาณการ 6,618 คน (ประมาณการ 68,081 คน) หรือต่ำกว่าประมาณการ 9.72% แบ่งเป็น ผู้โดยสารเชิงพาณิชย์ 26,370 คน และเชิงสังคม 35,093 คน มีผู้โดยสารขาออก 29,331 คน และขาเข้า 32,132 คน

โดยพบว่า สายใต้มีผู้ใช้บริการมากสุดถึง 23,587 คน (ขาออก 11,312 คน ขาเข้า 12,275 คน) รองลงมาคือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ 14,048 คน (ขาออก 6,397 คน ขาเข้า 7,651 คน) สายเหนือ 12,166 คน (ขาออก 5,879 คน ขาเข้า 6,287 คน) สายตะวันออก 8,125 คน (ขาออก 4,003 คน ขาเข้า 4,122 คน) และสายมหาชัย/แม่กลอง 3,537 คน (ขาออก 1,740 คน ขาเข้า 1,797 คน) ทั้งนี้ รฟท.ได้เพิ่มตู้โดยสารไปกับรถไฟทางไกลที่มีผู้โดยสารหนาแน่น โดยเมื่อวันที่ 15 ต.ค.65 เป็นวันแรกที่ รฟท. นำรถจักรดีเซลไฟฟ้า QSY มาทำขบวนรถด่วนพิเศษ รวม 6 ขบวน ได้แก่ ขบวนรถด่วนพิเศษที่ 9 กรุงเทพ-เชียงใหม่, ขบวนรถด่วนพิเศษที่ 13 กรุงเทพ-เชียงใหม่, 23 กรุงเทพ-อุบลราชธานี, ขบวนรถด่วนพิเศษที่ 25 กรุงเทพ-หนองคาย, ขบวนรถด่วนพิเศษที่ 31 กรุงเทพ-ชุมทางหาดใหญ่ และ ขบวนรถด่วนพิเศษ 37 กรุงเทพ-สุไหงโก-ลก

2. ระบบรถไฟฟ้า 886,760 คน มากกว่าประมาณการ 207,908 คน (ประมาณการ 678,852 คน) หรือสูงกว่าประมาณการ 30.63% ให้บริการรวม 1,879 เที่ยววิ่ง รองรับได้เพียงพอไม่มีรถวิ่งเสริม ประกอบด้วย รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ให้บริการ 174 เที่ยววิ่ง มีผู้ใช้บริการ 46,164 คน รถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) 230 เที่ยววิ่ง 13,112 คน รถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม (สีม่วง) 216 เที่ยววิ่ง 25,001 คน สายเฉลิมรัชมงคล (สีน้ำเงิน) 322 เที่ยววิ่ง 249,875 คน และรถไฟฟ้าบีทีเอส (สีเขียวและสีทอง) 937 เที่ยววิ่ง 552,608 คน ทั้งนี้ไม่มีเหตุรถไฟฟ้าขัดข้อง และไม่มีเหตุอันตรายต่อการเดินรถไฟ.