รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) วันที่ 20 ต.ค. นี้ จะพิจารณาทบทวนกำหนดราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) ภาคครัวเรือน ที่เดิม กบง. ได้กำหนดแนวทางการตรึงราคาไว้ที่ 408 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม (กก.) มีผล 1-31 ต.ค. นี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อค่าครองชีพประชาชน เบื้องต้นจะมีการเสนอ 2 ทางเลือก คือ คงราคาเดิมต่อไปอีกในเดือน พ.ย. นี้ เพื่อดูทิศทางราคาตลาดโลก หรือปรับขึ้น 1 บาทต่อ กก. เป็นเวลา 3 เดือน (1 พ.ย.-31 ม.ค.66) ตามแนวทางเดิม เพื่อลดภาระการอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง  

“ขณะนี้กองทุนน้ำมันฯ อุดหนุนแอลพีจี อยู่ที่ 6.96 บาทต่อ กก. ส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯบัญชีแอลพีจี ติดลบแล้วถึง 42,564 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมา กบง. ได้พิจารณาแนวทางการปรับขึ้นราคา เพื่อลดภาระการอุดหนุนโดยการปรับขึ้น 1 บาทต่อ กก. เป็นเวลา 3 เดือน เริ่ม เม.ย.-มิ.ย. และต่อมาขยายมาตรการต่ออีก 3 เดือนมีผล 1 ก.ค.-30 ก.ย. รวม 6 บาทต่อ กก. และเดิมจะขยับต่ออีก 3 เดือนคือ ต.ค.-ธ.ค. แต่ด้วยค่าครองชีพประชาชนสูงขึ้น กบง. จึงตรึงราคาในเดือน ต.ค. ไว้ที่ 408 บาทต่อถัง 15 กก.”   

นอกจากนี้ กบง. ยังติดตามผลการดำเนินงานตามมาตรการบริหารจัดการด้านพลังงานในสถานการณ์วิกฤติราคาพลังงาน รวมไปถึงการขยายระยะเวลาการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนส่วนเพิ่ม ภายใต้มาตรการบริหารจัดการด้านพลังงานในสถานการณ์วิกฤติราคาพลังงาน

นายพรชัย จิรกุลไพศาล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) กล่าวว่า การปรับขึ้นราคาแอลพีจีหรือไม่อคงเป็นเรื่องระดับนโยบายจะตัดสินใจแต่หากปรับขึ้นจะช่วยลดภาระกองทุนน้ำมันฯ แต่ กบง. เองต้องคำนึงถึงมิติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยปัจจุบัน ณ วันที่ 16 ต.ค. ฐานะสุทธิกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงยังคงติดลบที่ 125,690 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 84,126 ล้านบาท และบัญชีแอลพีจี ติดลบ 42,564 ล้านบาท  

“กองทุนฯ ยังคงอุดหนุนดีเซล ณ วันที่ 20 ต.ค. อยู่ที่ 3.72 บาทต่อลิตร แอลพีจี 6.96 บาทต่อ กก. โดยขณะนี้ต้องติดตามราคาพลังงานใกล้ชิดที่จะเข้าฤดูหนาวที่ปกติจะมีทิศทางสูงขึ้น แต่ยอมรับว่าการคาดการณ์ค่อนข้างยากเพราะราคาผันผวนค่อนข้างมาก เนื่องจากมีหลายปัจจัยเกี่ยวข้องทั้งภาวะเศรษฐกิจโลกที่อาจถดถอย ก็จะฉุดความต้องการต่ำลง การสู้รบรัสเซีย-ยูเครน” 

สำหรับแผนการกู้เงินตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลัง ค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. …. และการกู้ยืมเงินของ สกนช. วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท โดยเบื้องต้นในงวดแรกจะอยู่ที่ 30,000 ล้านบาทนั้น คาดว่าแผนการกู้เงินดังกล่าวจะออกมาชัดเจนในสัปดาห์หน้า ซึ่งเบื้องต้นมี 2 แนวทาง คือกู้ครั้งเดียว 30,000 ล้านบาท แล้วทยอยเบิกหรือทยอยกู้ครั้งละ 10,000 ล้านบาท