เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 20 ต.ค. ที่ศาลาว่าการ กทม.1 (เสาชิงช้า) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยถึงกรณีรถไฟฟ้าสายสีเขียว เกี่ยวกับการเก็บค่าโดยสารในส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการเก็บค่าโดยสาร ว่า การเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย 2 ช่วงแบริ่ง-เคหะฯ สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-คูคต คาดว่าจะมีรายได้ 1,000 ล้านบาท แต่เนื่องจากยังไม่มีการทำสัญญาจ้างเดินรถระหว่าง กทม. กับ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) และยังไม่ผ่านสภา กทม. ซึ่งก่อนที่จะเก็บค่าโดยสาร 15 บาท ตลอดสาย ต้องแจ้งกับทางสภา กทม. ก่อน เพื่อให้รับรู้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายเดินรถส่วนต่าง ที่ต้องนำเงินงบประมาณประจำปีมาจ่าย ซึ่งทางสภา กทม. มีการรอข้อมูลส่งมาให้ครบถ้วน ก่อนที่จะมีการอภิปรายกัน

“ไม่ใช่ว่าเราเก็บค่าโดยสารไปแล้ว ต้องขอเงินเพื่อมาชดเชยส่วนต่าง สภา กทม. ก็อาจจะถามว่า ทำไมตอนเก็บค่าโดยสารไม่มาบอกก่อน ว่าต้องมีส่วนต่าง ถ้าเขารู้ก่อนเขาอาจจะไม่ให้เก็บ 15 บาทหรอก ถึงแม้ว่าจะเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร แต่เราไม่ปฏิเสธว่า อนาคตต้องเอาเงินของสภามาจ่ายส่วนต่าง”

นายชัชชาติ กล่าวต่ออีกว่า ปัญหาต้นตอทั้งหมดเกิดจากเรื่องต่างๆ ไม่ได้ผ่านสภา กทม. อย่างหนังสือมอบหมายการให้เดินรถส่วนต่อขยายที่ 2 ระหว่าง กทม. กับเคที ก็ไม่ได้ผ่านสภา กทม. เพราะเท่าที่ฟังมาคงไม่ได้คิดว่าจะมีภาระหนี้เกิดขึ้น คิดว่าเก็บค่าโดยสารได้แล้ว สามารถเลี้ยงตัวเองได้ ไม่ต้องพึ่งพาเงินงบประมาณ แต่สุดท้ายเกิดหนี้สินกว่าหมื่นล้านบาท

“สภา กทม. ถือว่ามีอำนาจสูงสุด เพราะเขาเป็นตัวแทนประชาชน เรื่องพวกนี้ต้องไปให้รอบคอบ การให้สภาดูคือการให้ประชาชนดูว่าสถานการณ์เป็นแบบนี้ เรื่องทั้งหมดเราไม่ได้ก่อหรอก เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ เราต้องดูให้รอบคอบ สภาเองคงไม่กล้าอนุมัติอะไรง่ายๆ เงินมันก็เยอะ มีทั้งเรื่องกฎหมาย เรื่องสัญญา”

นายชัชชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า เรื่องนี้มีผู้เกี่ยวข้อง 3 คน คือ กทม. เคที และ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) สัญญาระหว่าง เคที กับ BTSC มีการเซ็นสัญญา ส่วน กทม. กับเคที มีการเซ็นสัญญาในส่วนต่อขยายที่ 1 ซึ่งมีความชัดเจนว่าต้องจ่ายเงินส่วนต่างด้วยเงินงบประมาณ แต่ส่วนต่อขยายที่ 2 เป็นแค่หนังสือมอบหมายงาน ซึ่งสภา กทม. ไม่ได้รับรู้ รวมไปถึงไม่มีการระบุว่า ต้องจ่ายเงินส่วนต่างด้วยเงินงบประมาณ เพราะคิดว่าจะเก็บเงินค่าโดยสารมาจ่ายหักล้างกับค่าจ้างเดินรถได้

แต่พอชีวิตจริงหนังคนละม้วน ก็ใช้เงินจากสภาเยอะเลย กลายเป็นว่าสภายังไม่เห็นแล้วจะไปอนุมัติได้อย่างไง เป็นตัวเงื่อนหลักที่จะเห็นได้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้ผ่านสภา ฝ่ายบริหารต้องทำงานตามสภา เพราะสภาเป็นคนอนุมัติกรอบงบประมาณทั้งหมด ฝ่ายบริหารอาจจะมีไอเดียเยอะแยะเลย แต่สุดท้ายแล้วฝ่ายสภาต้องเป็นคนดู สภาคือตัวแทนประชาชน ที่มาช่วยคัดกลั่นกรอง ต้องทำงานด้วยกันไป ต้องเคารพสภา

สำหรับประเด็นการตอบหนังสือของกระทรวงมหาดไทยซึ่งได้ถามถึงแนวทางการดำเนินการรถไฟฟ้าสายสีเขียวของผู้บริหารและสภากรุงเทพมหานครนั้น นายชัชชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันทางสภา กทม. ได้ขอเอกสารเพิ่มเติม เพื่อศึกษาในรายละเอียดของรถไฟฟ้าสายสีเขียว

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่าจะสามารถนำเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้าสู่สภา กทม. ได้ทันในการประชุมสภาสมัยที่ 4 ซึ่งจะประชุมครั้งสุดท้ายในวันพุธที่ 26 ต.ค.65 นายชัชชาติ กล่าวว่า ขณะนี้ทางวิปของฝ่ายบริหารและสภา กทม. กำลังพูดคุยกันอยู่เพื่อหาแนวทางร่วมกัน อาจจะต้องขยายเวลาการประชุมหรืออื่น ๆ เรื่องนี้จำเป็นต้องเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด เนื่องจากจากจะได้ทราบแนวทางการดำเนินงานต่อไป

ทั้งนี้ สำหรับรถไฟฟ้าสายสีเขียวประกอบด้วย 3 ส่วน คือส่วนสัมปทาน ช่วงหมอชิต-อ่อนนุช ช่วงสนามกีฬา-สะพานตากสิน ซึ่งจะเก็บค่าโดยสารตามสัญญาสัมปทาน ส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง ช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า ปัจจุบันกรุงเทพมหานครจ้างบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด บริหารและจัดการการเดินรถ และกรุงเทพธนาคมได้จ้างเอกชนเดินรถต่อ มีการเก็บค่าโดยสารในอัตรา 15 บาทตลอดสาย

ส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ซึ่งกรุงเทพมหานครได้มอบหมายงานให้กรุงเทพธนาคมเป็นผู้บริหารและจัดการการเดินรถ และกรุงเทพธนาคมได้ว่าจ้างเอกชนอีกทอดหนึ่ง ปัจจุบันยังไม่มีการเก็บค่าโดยสารในส่วนนี้.