จากเหตุโศกนาฏกรรม เหยียบกันตายในงานฉลองวันฮัลโลวีน ที่ย่านอิแทวอน ในกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อคืนวันที่ 29 ต.ค. ที่ผ่านมา จนมียอดผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็นอย่างน้อย 149 ราย มีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกอย่างน้อย 76 คน ส่วนใหญ่มีอาการขาดอากาศหายใจ แต่จากจำนวนดังกล่าวอย่างน้อย 19 คน มีอาการสาหัส ตามที่ได้เสนอข่าวไปนั้น
-ย้อนโศกนาฏกรรมเลวร้ายสุดในเกาหลี นาทีชีวิตกระชากอารมณ์ต่างขั้ว!

เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 ต.ค. แฟนเพจชื่อดังที่มักให้ความรู้ทางด้านการแพทย์อย่าง “ห้องฉุกเฉินต้องรู้” ได้ออกมาไขข้อสงสัยถึงเหตุการณ์เหยียบกันตาย โดยทางเพจระบุว่า “ขอแสดงความเสียใจในเหตุเหยียบกันตายที่อิแทวอนครับ” เหตุเหยียบกันตาย คืออะไร? ภาษาอังกฤษเรียก Stampede (สะแต้มฟีด) “สาเหตุการเสียชีวิตไม่ได้จากการเหยียบกันด้วยเท้า แต่คือการขาดอากาศหายใจครับ”

“บริเวณนั้นก็เป็นพื้นที่โล่งมีอากาศไหลผ่าน แล้วขาดอากาศได้อย่างไร? สาเหตุเพราะทรวงอกขยายไม่ได้ครับ” ภาษาแพทย์เรียกว่า Compression Asphyxia Compression คือ การถูกกดทับจากภายนอก Asphyxia (แอส-ฟิก-เซีย) คือ ภาวะขาดอากาศหายใจ

เมื่อฝูงชนเบียดเสียดจำนวนมาก ระยะห่างแต่ละคนน้อยมาก ลำตัวชิดๆกันจน “หน้าอกขยาย” ไม่ได้ คนเราหายใจเข้า-ทรวงอกขยายใช่ไหมครับ? แต่นี่ถูกคนข้างๆกดเบียดเอาไว้ “หายใจเข้าไม่ได้ ก็เลยหมดสติ หากขาดอากาศนานเกิน 3-5 นาที หัวใจก็อาจหยุดเต้นได้ครับ” ร่างล้มทับถมกันเป็นโดมิโน่ จึงมีผู้ประสบเหตุจำนวนมาก หลังจากเคลียร์ฝูงชนในออกจากที่แออัดได้แล้ว ทีมกู้ชีพต้องเริ่มด้วย “ทรีอาช” ไม่ใช่เราจะสุ่มช่วยใครก็ได้ที่เราเจอเป็นคนแรก แต่ทีมต้องคัดแยกความเร่งด่วนของผู้ประสบภัย ที่นอนเรียงรายบนถนน…แบ่งเป็น แดง-เหลือง-เขียว

ผู้ป่วยสีเขียวยังเดินได้ ให้แยกในที่ปลอดภัยไม่ต้องการปฐมพยาบาลอะไรมาก เพื่อให้ทีมทุ่มศักยภาพไปดูแลคนไข้สีเหลือง และสีแดง ให้รอดชีวิตให้ได้ในที่เกิดเหตุ ผู้ป่วยหมดสติ ไม่หายใจ หัวใจหยุดเต้น จัดเป็นสีแดง ต้องรีบช่วยทันที ต้องรีบปั๊มหัวใจและช่วยหายใจ (CPR) ไม่เช่นนั้นโอกาสรอดเท่ากับศูนย์

มีแต่บุคลากรแพทย์เท่านั้นหรือที่ปั๊มหัวใจได้? พึ่งแต่ทีมกู้ภัยอย่างเดียวไม่พอแน่ๆครับ หัวใจหยุดเต้นกันห้าสิบคนพร้อมๆกัน จะต้องใช้ทีมกู้ชีพกี่คน กี่โรงพยาบาลลองนึกดู? แล้วถ้าทีมกู้ชีพไม่พอล่ะ? ก็จะมีคนไข้ที่ไม่ได้รับการช่วยอะไรเลยอีกมาก ในคลิปเห็นไหมครับ ประชาชนพลเมืองดีทั้งนั้นที่กำลังปั๊มหัวใจช่วยเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

“ขอแสดงความเสียใจอีกครั้งกับผู้สูญเสีย แต่เหตุการณ์ครั้งนี้น่าจะสะท้อน…ให้หันมาทบทวนการเรียนปั๊มหัวใจในประเทศของเรา ให้จริงจังมากขึ้นครับ เกาหลีเขาพร้อมจริงๆครับ”..

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก @ห้องฉุกเฉินต้องรู้