ประเทศไทยเตรียมเปิดม่านเป็นเจ้าภาพ เปิดการประชุมสุดยอดผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค หรือการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก อย่างเป็นทางการ ในวันที่ 16-19 พ.ย.นี้ แล้ว ซึ่งถือเป็นเวทีใหญ่และสำคัญสูงสุด เพราะมีบรรดาผู้นำหรือตัวแทนจากสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ ทั้งมหาอำนาจอย่าง สหรัฐ รัสเซีย จีน ญี่ปุ่น รวมถึงประเทศกำลังพัฒนา เข้าร่วมเจรจา หาบทสรุป จากการประชุมเวทีต่าง ๆ กว่า 100 ครั้ง ที่เกิดมาตลอดปีนี้

การประชุมครั้งนี้ เจ้าภาพไทย ได้ชูกำหนดหัวข้อ ’การเปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันสู่สมดุล“ หรือ (Open. Connect. Balance.) เป็นหัวใจหลักในการกำหนดกรอบการประชุม

หวังคลี่คลายวิกฤติโลก

แต่หากโฟกัสไปเฉพาะมุมเศรษฐกิจ เอเปคครั้งนี้ถือว่ามีความน่าสนใจไม่น้อย เพราะอยู่ในห้วงที่ทั่วโลก กำลังเข้าสู่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางเศรษฐกิจ ที่แม้เพิ่งคลี่คลายจากวิกฤติโควิดมา แต่กลับต้องเผชิญวิกฤติิเงินเฟ้อ ดอกเบี้ยขาขึ้น น้ำมันแพง ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างชาติตะวันตก ซึ่งสุ่มเสี่ยงจะเกิดภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย  เขย่าบรรยากาศการค้า การลงทุนของโลก และประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญ  ดังนั้น เอเปคจึงถูกคาดหวังว่า…เป็นเวทีสำคัญที่เข้ามาช่วยคลี่คลายปัญหาทางเศรษฐกิจ ทั้งการแก้ไขวิกฤติต่าง ๆ เช่น การฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด ภาวะเงินเฟ้อ การลดอุปสรรคการค้าในชาติสมาชิกที่เป็นรูปธรรม ตลอดจนป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ขึ้นในอนาคต

ศก.เอเปคใหญ่สุดในโลก

เพราะในกลุ่มเอเปคถือว่ามีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อเศรษฐกิจโลก โดยทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี จีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ จีนไทเป ไทย สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม ถือเป็นตลาดใหญ่ที่มีประชากรมากถึง 2,900 ล้านคน คิดเป็น 38% ของประชากรโลก และมีขนาดเศรษฐกิจรวมกัน มูลค่า 52 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.8 พันล้านล้านบาท คิดเป็น 62% หรือ 2 ใน 3 ของจีดีพีโลก

ที่สำคัญเอเปค ยังเป็นตลาดคู่ค้าหลักของไทยด้วย  โดยตัวเลขปี 64 ไทยมีมูลค่าการค้ากับเอเปครวมกันถึง 12.2 ล้านล้านบาท  คิดเป็น 71.52% ของการค้ารวมทั้งหมดของไทย ซึ่งไทยได้ส่งออกไปเอเปค มูลค่า 6.1 ล้านล้านบาท และนำเข้าจากเอเปค มูลค่า 6 ล้านล้านบาท ขณะที่ในช่วง 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย. 65) การค้าระหว่างไทยกับเอเปค มีมูลค่า 10.7 ล้านล้านบาท เติบโต 10.65% ดังนั้น หากการหารือในเวทีเอเปค ออกมาในแง่บวกก็จะส่งแรงกระเพื่อมที่ดีต่อเศรษฐกิจ และประเทศไทยตามไปด้วย

3 หัวข้อเจรจาสำคัญ

สำหรับการประชุมเศรษฐกิจในเวทีเอเปคครั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการต่างประเทศ ฐานะหัวเรือใหญ่ ได้มีวาระผลักดันการเจรจาในหลายเรื่อง โดยหากแบ่งเป็นประเด็นหลักตามธีมงาน 3 หัวข้อ จะได้แก่

1. การเปิดกว้าง เน้นเรื่องการค้าการลงทุน และมีผลลัพธ์คือการขับเคลื่อนวาระเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (เอฟทีเอเอเปค) ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้ขับเคลื่อน มาตั้งแต่การประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปคเมื่อเดือนพ.ค.65 ที่ผ่านมา

2. ความเชื่อมโยง เน้นเรื่องการกลับมาเชื่อมโยงกันและการเดินทางข้ามพรมแดนอย่างปลอดภัย โดยมีเป้าหมาย การขับเคลื่อนการจัดตั้งกลุ่มเฉพาะกิจด้านการเดินทางข้ามพรมแดนอย่างปลอดภัย  

3. ความสมดุล เน้นเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน โดยมีการผลักดันการจัดทำเอกสาร  Bangkok Goals on Bio-Circular-Green (BCG) Economy เพื่อให้มีการรับรองในการประชุม
สุดยอดผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค 

ตั้งไข่เอฟทีเอเอเปค

ส่วนประเด็นหลักทางด้านเศรษฐกิจของไทย คือการตั้งเป้าหมายผลักดันเขตการค้าเสรีเอเชียแปซิฟิก ให้ตั้งไข่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม โดยกระทรวงพาณิชย์ได้เสนอการจัดทำแผนงาน การขับเคลื่อนเขตการค้าเสรีเอเชียแปซิฟิก ระยะ 4 ปี ระหว่างปี 66-69 ให้รัฐมนตรีเอเปคพิจารณา ประกอบด้วย การรวบรวมประเด็นที่สมาชิกเอเปคมีความสนใจร่วมกัน ทั้งด้านการค้าดั้งเดิม การค้าใหม่ และการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังจากการเกิดวิกฤติ ผ่านกลไกการแลกเปลี่ยนข้อมูล และแนวปฏิบัติที่ดีระหว่างสมาชิกเอเปค เพื่อก่อให้เกิดการขยายการค้าการลงทุนภายในภูมิภาค ตลอดจนการลดอุปสรรคการค้าการลงทุนที่ไม่จำเป็น และการลดช่องว่างการพัฒนาทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างกัน 

นอกจากนี้มุ่งการตอบสนองต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ทั้งด้านการค้า การลงทุน นวัตกรรม การเข้าสู่ยุคดิจิทัล และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีความเข้มแข็ง สมดุล ยั่งยืน และครอบคลุม โดยตั้งเป้าหมายว่าจะรับรองในระดับคณะกรรมการว่าด้วยการค้าและการลงทุน และปรากฏในเอกสารถ้อยแถลงร่วมรัฐมนตรีเอเปค และปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคครั้งนี้ด้วย

หากจัดทำแผนงานได้สำเร็จ ถือเป็นกรอบแผนงาน “เอฟทีเอ เอเปค” ที่เป็นรูปธรรมครั้งแรก และมีผลให้ประชุมต่อเนื่องไปอย่างน้อย 4 ปี ตามรายละเอียดที่กำหนดไว้ ท้ายที่สุดถ้าทำสำเร็จจริง เขตการค้าเสรีเอเชียแปซิฟิก เป็นเขตเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่สุดในโลก ซึ่งช่วยให้ไทยขยายโอกาสทางการค้าการลงทุนได้อีกมาก เช่น เดียวกับประเทศคู่ค้าใหม่ที่ไทยยังไม่เคยจัดทำความตกลงการค้าเสรีมาก่อน อาทิ สหรัฐ แคนาดา รัสเซีย และเม็กซิโก เป็นต้น

อย่างไรแล้ว…การเปิดเขตการค้าเสรีเอเปค ได้สำเร็จนั้น ยังมีหนทางอีกยาวไกลไม่น้อย เพราะต้องขึ้นอยู่กับการหารือและความพร้อมของสมาชิก เนื่องจากเอเปคเป็นเวทีที่ยึดหลัก…ฉันทามติ คือต้องเห็นชอบร่วมกันทั้งหมด แต่สมาชิกเอเปคเอง ก็ยังแตกต่างของระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ รวมถึงความสนใจที่หลากหลายด้วย จึงทำให้การจัดทำ เอฟทีเอ เอเปค ยังคงเป็นเป้าหมายระยะไกล ยิ่งเวลานี้ี้เกิดความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับรัสเซีย จนทำให้การประชุมหลายเวที ไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมได้ จึงเป็นเรื่องที่หนักใจไม่น้อยถึงการผลักดันแผนงานเอฟทีเอ เอเปค

ดันบีซีจีวาระแห่งโลก

อีกวาระสำคัญ ที่การขับเคลื่อน ในวงประชุมรอบนี้ คือ โมเดลเศรษฐกิจบีซีจี ประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวสิ่งแวดล้อม ซึ่งไทยประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ และผลักเข้าไปอยู่ในเวทีเอเปค พร้อมกับตั้งเป้าหมายจัดทำเอกสารBangkok Goals on Bio-Circular-Green (BCG) Economy เพื่อให้รับรองในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค  ไทยกำหนดการประชุมในเวทีรัฐมนตรีเอเปค 3 หัวข้อ ได้แก่ “การเติบโตอย่างสมดุล ครอบคลุมและยั่งยืน” ซึ่งมีการหารือเรื่องเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว และการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนและครอบคลุม หัวข้อ “การกลับมาเชื่อมโยงในภูมิภาค” เพื่อหารือแนวทางการฟื้นฟูความเชื่อมโยงระหว่างกัน และหัวข้อ “การค้าและการลงทุนที่เปิดกว้างและยั่งยืน” เพื่อสนับสนุนให้สมาชิกเอเปค แลกเปลี่ยนแนวคิดหรือนโยบายด้านการค้าและการลงทุน ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจการค้าที่เปิดกว้าง 

โอกาสนี้ไทยยังได้เชิญ ผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก บรรยายสรุปทางออนไลน์ เกี่ยวกับผลลัพธ์การประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก สมัยสามัญครั้งที่ 12 และความเห็นเรื่องการค้าโลกและระบบการค้าพหุภาคีด้วย พร้อมปิดให้สมาชิกเอเปคทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจหารือกันในประเด็นการค้าและการพัฒนาอย่างเปิดกว้างและยั่งยืนของเอเปค 

ทวิฯญี่ปุ่นจับมือออสซี่

นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์ ยังได้จัดนิทรรศการ บีซีจี เจอร์นีย์ ตอกย้ำความสำเร็จในการขับเคลื่อนโมเดล บีซีจี ของไทยในสาขาเกษตร อุตสาหกรรม และบริการแก่ชาติสมาชิก รวมถึงการมอบรางวัลผู้ชนะเลิศ APEC Digital Prosperity Award ด้านการพัฒนาโมบาย แอพพลิเคชัน ที่เป็นเครื่องมือด้านนวัตกรรม โดยเฉพาะภาคการเกษตร ขณะเดียวกันยังมี เวทีหารือแบบทวิภาคี ควบคู่ไปด้วย โดย รมว.พาณิชย์ ไทย ได้หารือกับ รมต.การค้าญี่ปุ่น และนัดเอ็มโอยู ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับออสเตรเลีย เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์เศรษฐกิจระหว่างทั้ง 2 ประเทศ อาทิ เกษตรและระบบอาหารยั่งยืนและเทคโนโลยี การท่องเที่ยว สาธารณสุข การศึกษา การค้าดิจิทัล เป็นต้น

ต้องยอมรับว่า…ในเวทีประชุมเอเปคครั้งนี้ ได้เกิดขึ้นในภาวะที่สถานการณ์โลกไม่ปกติ เต็มไปด้วยความขัดแย้งทางการเมืองและเศรษฐกิจของทั่วโลก ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการออกแถลงการณ์ร่วมระหว่างผู้นำประเทศได้ แต่ไม่ว่าผลสรุปจะออกมาอย่างไร สิ่งที่คนไทยและประเทศไทยได้รับแบบจับต้องได้ก็คือ… การได้เป็น “เจ้าภาพ” ที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพความพร้อมของประเทศไทยในทุกด้าน รวมถึงเงินสะพัดที่จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาประชุมอีกหลักหมื่นล้านบาท ส่วนการค้าการลงทุนที่เพิ่มขึ้นคงต้องอาศัยเวลาอีกไม่น้อยทีเดียว!!

ดันข้อตกลงเอฟทีเอ เอเปค

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ “ รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ บอกว่า การประชุมเอเปคในครั้งนี้ควรมุ่งประเด็นไปที่เรื่องของการค้าและเศรษฐกิจเป็นหลัก ซึ่งในเวทีรัฐมนตรีเศรษฐกิจเอเปค เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้ข้อสรุปในส่วนที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและการค้าของกลุ่มเศรษฐกิจมาก เช่น การตั้งเป้าหมายว่าในอนาคตจะปรับรูปแบบจากความร่วมมือทางเศรษฐกิจไปเป็นข้อตกเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก หรือ FTAAP (เอฟทีเอ เอเปค) ซึ่งช่วยให้ความผูกพันทางการค้ามีกฎกติกาชัดเจนเป็นเขตการค้าเสรี ที่จะมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก แทนที่จะเป็นเพียงความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ อาร์เซ็ปได้

นอกจากนี้ เอเปคยังมีส่วนขับเคลื่อนให้องค์การการค้าโลก ปรับกฎเกณฑ์กติกาให้เป็นธรรมกับประเทศทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นประเทศพัฒนาแล้ว กำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนา ขณะที่ไทยตั้งเป้าหมายว่าจะขับเคลื่อน BCG โมเดล ในที่ประชุมเอเปคด้วย โดยเวทีนี้ไม่อยากให้เกี่ยวกับการเมือง แต่เป็นเรื่องของการทำหน้าที่ระหว่างประเทศ ระหว่างขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้า ซึ่งในที่ประชุม รมต.เศรษฐกิจเอเปค ที่ตนเองเป็นประธานก็ประสบผลสำเร็จและได้แถลงผลการประชุมแล้ว และยังเตรียมหารือระดับทวิภาคีกับอีกหลาย ๆ ประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เป็นต้น

เงินสะพัดหลักหมื่นล้านบาท

ธนวรรธน์ พลวิชัย” อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เชื่อมั่นว่า รัฐบาลได้เตรียมความพร้อมจัดประชุมเอเปค 2022 ไว้ทุกด้านแล้ว ซึ่งไทยเน้นนำเสนอนโยบาย BCG โดยเฉพาะการสร้างความสมดุล การเติบโตอย่างยั่งยืนและการผลักดันให้เศรษฐกิจของโลกเติบโตได้ เบื้องต้นคาดว่า การจัดประชุมเอเปคครั้งนี้ จะมีผู้นำและผู้ติดตามจากทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ มาร่วมประชุมไม่น้อยกว่า 2,000 คน ซึ่งย่อมต้องมีการใช้จ่ายสูงประมาณ 40,000-50,000 บาทต่อคน มีผลทำให้มีเงินสะพัดในช่วงเวลาดังกล่าว มากกว่า 10,000-20,000 ล้านบาท

นอกจากนี้หลังจบการประชุมแล้ว ประเทศไทยยังจะได้รับผลพลอยได้จากการท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งจะมีมูลค่ามากกว่าหลายหมื่นล้านบาทแน่นอน เพราะไม่เพียงแค่การใช้จ่ายในช่วงเวลาที่มีการประชุมเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อเนื่อง มีการจัดงาน มีการจับคู่ธุรกิจ เพราะในการประชุมครั้งนี้ยังมีเวทีคู่ขนานในส่วนของภาคเอกชน คือ เวทีเอเปคซีอีโอซัมมิท และยังมีเอแบค คือ เวทีของสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค ควบคู่กันไปด้วย  นั่นหมายความว่า ไม่ใช่มีเพียงแค่เงินสะพัดอย่างเดียวเท่านั้น ยังมีเรื่องของการลงทุนการค้า และต่อเนื่องอีกมาก

ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยโต

เกรียงไกร เธียรนุกุล” ประธานสภาอุตสาห กรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และในฐานะประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค หรือเอแบค ย้ำว่า การที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค 2022 จะเป็นโอกาสดีที่ได้แสดงศักยภาพของการเป็นเมืองท่องเที่ยวบนเวทีระดับนานาชาติ รวมทั้งฟื้นเครื่องยนต์เศรษฐกิจทั้งภาคการส่งออกและการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตภายใต้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจโมเดลบีซีจีที่เป็นวาระแห่งชาติ

ทั้งนี้ การดำเนินโครงการและข้อริเริ่มต่าง ๆ จะทำให้ไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าที่เพิ่มขึ้น และมีการพัฒนาระบบเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า การลดและยกเลิกปัญหาอุปสรรคทางการค้า รวมทั้งการเสริมสร้างศักยภาพทางการแข่งขันของผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อยของไทยให้เข้าสู่ระบบการค้าโลกได้ นำไปสู่การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ซึ่งถือเป็นการดำเนินงานที่สอดรับกับบริบทโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยผลลัพธ์ของการประชุมเอเปคจะช่วยฟื้นฟูและกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยภายหลังโควิด-19 ในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะภาคธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและการค้าดิจิทัล ซึ่งทำให้เกิดการกระจายรายได้และลดความเหลื่อมล้ำอันก่อให้เกิดการพัฒนาที่ครอบคลุมและยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างดีอีกด้วย

…ทีมเศรษฐกิจ…