นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า เตรียมเสนอให้ ครม.พิจารณามาตรการของขวัญปีใหม่ โดยใช้เงินจากงบกลางรายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 8,700 ล้านบาท เพื่อดำเนินการโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 5 เพื่อมอบของขวัญปีใหม่ 66 ไม่น้อยกว่า 2 ล้านคืน/ห้อง (ให้เฉพาะค่าห้องและคูปองใช้จ่าย) วงเงิน 7,200 ล้านบาท และอีก 1,500 ล้านบาท เป็นการของบฯมาเพื่อกระตุ้นตลาดท่องเที่ยวในปี 66 แบ่งเป็น ตลาดต่างประเทศ 1,000 ล้านบาท เพื่อให้ได้นักท่องเที่ยวต่างชาติ 20 ล้านคน ตามที่นายกรัฐมนตรีสั่งการและอีก 500 ล้านบาทใช้ส่งเสริมตลาดในประเทศ เพื่อเป้าหมายการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว ในปี 66 ไม่น้อยกว่า 2.4 ล้านล้านบาท คิดเป็น 80% ของรายได้ทางการท่องเที่ยวของไทยในปี  62 ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19

“นายกฯเคยรับปากภาคเอกชนท่องเที่ยวไว้ว่าจะทำโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 5 และเสนอใน ครม.หลายครั้งว่าให้ไปคิดโครงการที่เคยทำแล้วสำเร็จมาก่อน จึงเป็นที่มาที่เสนอโครงการนี้เป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน ส่วนเรื่องของบกระตุ้นการตลาด เพื่อสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวในปี 66 ให้ได้ตามเป้า”

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ความไม่แน่นอน อุปสรรคในปี 66 ที่น่ากังวล ได้แก่ สถานการณ์เศรษฐกิจโลก ราคาพลังงานการปรับขึ้นดอกเบี้ยแพงเพื่อคุมเงินเฟ้อ ที่อาจทำให้ค่าเงินผันผวน ส่วนเรื่องในประเทศ เป็นการกลับมาของภาคการท่องเที่ยวที่รวดเร็วมาก จนปรับตัวตามไม่ทัน เช่นโรงแรมเปิดบริการได้แค่ 70 ห้อง จากจำนวนทั้งหมด 100 ห้อง เนื่องจากพนักงานมีไม่เพียงพอ ทำให้ต้องเร่งดูแลปัญหานี้ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวได้ เพราะไม่ได้ต้องการให้นักท่องเที่ยวเข้ามาแค่ 1 ครั้งแล้วหายไป แต่ต้องการให้กลับเข้ามาเที่ยวใหม่อีกครั้งอย่างต่อเนื่อง

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. กล่าวว่า โครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 5 คาดว่าจะทำให้เกิดมูลค่าเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 18,000 ล้านบาท ซึ่งนอกจากช่วยกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศแล้ว ยังสนับสนุนการฟื้นตัวของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในประเทศด้วย ส่วนงบประมาณที่เสนอขอ 8,700 ล้านบาท พิจารณาจากต้นทุนค่าใช้จ่าย ประมาณ 3,600 บาทต่อคน รวมค่ามูลค่าโรงแรมที่อุดหนุนให้ 40% ไม่เกิน 10 ห้องหรือคืนต่อคน และคูปองอิเล็กทรอนิกส์ที่ 600 บาทต่อวัน โดยครั้งนี้ไม่ช่วยค่าเดินทางเครื่องบินแล้ว มีระยะดำเนินการ 6 เดือน เช่น หากเริ่มในเดือน ม.ค. 66 จะสิ้นสุดที่เดือน มิ.ย. 66 ส่วนงบส่งเสริมการตลาดที่เสนอขอ 1,500 ล้านบาท เพื่อดำเนินมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวทดแทนงบบูสเตอร์ ชอต เดิม ที่เคยเสนอขอผ่านเงินกู้โควิด-19 แต่ไม่ทันกำหนดการอนุมัติใช้เงินกู้ภายในสิ้น ก.ย. 65.