จากกรณี นายคณัสชนม์ ศรีเจริญ นายอำเภอปากช่อง จ.นครราชสีมา ได้ร่วมกับ นางสุรัสวดี เรืองจาบ กำนันตำบลโป่งตาลอง อ.ปากช่อง นายกิตติชัย รุ่งไพบูลย์วงศ์ ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานฯ หัวหน้าเขตการจัดการที่ 2 นายสุชิน พูนสวัสดิ์ หัวหน้าหน่วยพิทักษ์อุทยานเขาใหญ่ ขญ.3 ตะเคียนงาม ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 1 และหมู่ 2 กลุ่มอนุรักษ์ อาสาดูแลสัตว์ป่า และชาวบ้านกว่า 20 คน นำรถไถ 2 คัน ขับเข้าจับกระทิงหนุ่ม เพศผู้ อายุประมาณ 16 ปี ตัวขนาดใหญ่ มีน้ำหนักกว่า 1,500 กก. บริเวณสวนมะม่วงในพื้นที่ หมู่ 2 บ้านโป่งตาลอง อ.ปากช่อง ในพื้นที่นอกเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ประมาณ 1 กม. แล้วนำเข้าตู้เหล็กขนย้ายมาดูให้เจ้าหน้าที่ดูแลบริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยาเขาใหญ่ ขญ.2 ผากระดาษ ต.หมูสี อ.ปากช่อง เมื่อวันที่ 17 พ.ย. ที่ผ่านมา โดยนำเชือกมาผูกล่ามไว้ในคอกอยู่ร่วมกับกระทิง เพศเมีย ที่ตาบอด 2 ข้าง ที่จับนำมาดูแลไว้ก่อนหน้านี้แล้วสลัดเชือกผูกขาดพังคอกหนีเข้าป่า

ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจาก นายคำมวน ทองแต้ม หัวหน้าหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ขญ.2 ผากระดาษ ว่า เมื่อช่วงเช้าวันที่ 19 พ.ย. กระทิงหนุ่มตาบอด ได้สลัดเชือกจนขาดและพังคอกไม้หนีเข้าไปในป่าพื้นที่อุทยานฯ หลังหน่วยพิทักษ์ฯ เจ้าหน้าที่ออกติดตามและเร่งช่วยเหลือเพื่อนำมาดูแลเกรงจะขาดน้ำขาดอาหารตาย และถูกฝูงหมาในหรือหมาจิ้งจอกล่าเป็นอาหารเนื่องจากมองไม่เห็น

ความคืบหน้าวันที่ 20 พ.ย. ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากนายชัยยา ห้วยหงษ์ทอง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ว่า ได้สั่งการมอบหมายให้ นายคำมวน ทองแต้ม หัวหน้าหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ขญ.2 ผากระดาษ นำเจ้าหน้าที่ออกติดตามและนำเชือกเข้าไปคล้องคอกระทิงหนุ่มที่ตาข้างซ้ายบอดสนิท และตาข้างขวาบอดมองเห็นรางๆ กลับจากป่าด้านหลังหน่วยพิทักษ์ได้แล้วด้วยความยากลำบาก เนื่องจากเป็นป่าหนาทึบและสัญชาตญาณการระวังตัวของสัตว์ป่ามีความระแวงตลอดเวลา

นายชัยยา หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ กล่าวว่า จากสถิติของอุทยานฯ เขาใหญ่ เพิ่งพบกระทิงตาบอดเป็น 2 ตัวแรกของเขาใหญ่ที่จับมาดูแล สาเหตุการมีปัญหาด้านสายตาน่าจะมี 2 สาเหตุ คือ 1.เกิดจากฉี่หมาใน หรือสุนัขจิ้งจอก ถือเป็นนักล่าตัวฉกาจ 2.จากสาเหตุออกหากินนอกแนวเขตอุทยานฯ พื้นที่เกษตรของชาวบ้านและไปกินหญ้าที่ฉีดยาฆ่าหญ้าก็เป็นไปได้ทั้ง 2 สาเหตุ คงจะดูแลกันต่อไป แต่ปัญหาคือ หญ้าสดในหน้าแล้งหายาก หากผู้ใดมีหญ้าสดก็สามารถนำมาให้กระทิงตาบอดทั้ง 2 ตัว ที่หน่วยพิทักษ์ผากระดาษ เข้าทางหมู่บ้านเลือดแย ต.หมูสี ได้ทุกวัน.