เมื่อเวลา10.30น.  วันที่ 2 เม.ย.2567 ที่รัฐสภา นายประพันธ์ คูณมี  สว. กล่าวถึงการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ของสภาผู้แทนราษฎร ว่า ถือเป็นการทำหน้าที่ของ สส.ที่ทำตามหน้าที่และบทบาทตามรัฐธรรมนูญ ถ้าเขาทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง แม้การอภิปรายจะไม่มีการลงมติแต่มีประเด็นสำคัญหลายเรื่องที่ สว. ได้อภิปรายไปแล้ว เช่น 1.ปัญหาที่ดิน ส.ป.ก.4-01 เปลี่ยนเป็นโฉนด การจัดสรรที่ดินให้กับเกษตรกรตามกฎหมายปฏิรูปที่ดินของรัฐบาลชุดปัจจุบัน น่าจะมีปัญหา ทั้งที่ผิดกฎหมาย และส่อไปในทางทุจริตในหลายเรื่อง ซึ่งตนเชื่อว่าข้อมูลที่ตนอภิปรายไปใน มาตรา 153 เป็นการนำล่องไปก่อนแล้ว สส.ก็คงจะได้ไปทำการบ้าานต่อแน่ๆ เพราะมีประเด็นที่ส่อไปในทางที่ไม่สุจริต และมีการออกระเบียบที่ผิดกฎหมาย

นายประพันธ์ กล่าวต่อว่า 2. เรื่องของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) น่าจะเป็นเรื่องร้อง ซึ่งเรื่องนี้ตนคิดว่านายกรัฐมนตรีคงจะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ เพราะเป็นประธานก.ตร. ปัญหาคงไม่จบอยู่แค่เรียกผบ.ตร. และรองผบ.ตร. เข้าไปประจำสำนักนายกฯเท่านั้น เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ส่อไปในทางทุจริต และผิดกฎหมาย ฉะนั้น การรับเงินหรือรับส่วย การไปเกี่ยวข้องกับธุรกิจพนันออนไลน์เป็นเรื่องที่จะต้องดำเนินการตามกฎหมาย จึงอยู่ที่ท่าทีของนายกฯว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่คิดว่าตอนนี้อยู่ที่ว่าฝ่ายค้านถ้าทำงานเข้มแข็ง ก็ต้องเจาะลึกในเรื่องนี้เพื่อชี้ให้ประชาชนเห็นว่าทำให้เกิดความเสียหายในการบริหารราชการบ้านเมืองอย่างไร 

นายประพันธ์ กล่าวว่า 3.เรื่องเงินดิจิทัลวอลเล็ต 4.การเจรจาคืนที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชา หากผู้อภิปรายเชื่อมโยงไปให้เห็นว่าคนในรัฐบาลนี้มีอะไรไปเกี่ยวข้องกับผลประโชชน์ได้เสีย ที่ทำให้ประเทศชาติเสียหาย หรือเสียประโยชน์หรรือไม่ ก็จะเป็นปัญหาใหญ่เพราะพื้นที่ทับซ้อนจริงๆ มีอยู่ไม่กี่กิโลเมตร แต่ถ้าเอาอาณาเขตของเราไปตีความจนกลายเป็นพื้นที่ทับซ้อน และเอาไปเจรจากันก็จะเกิดความเสียหายกับประเทศมหาศาล เพราะพื้นที่นี้เป็นพื้นที่บริเวณเดียวที่มีแหล่งน้ำมันจำนวนมาก ไม่เหมือนอ่าวไทยที่มีแก๊สเป็นหลัก น้ำมันมีน้อย  ส่วนประเด็นอื่นๆในการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งตนคาดหวังว่าการอภิปรายของสส.จะแสดงให้เห็นถึงความมีประสิทธิภาพ และความเอาจริงเอาจังในการอภิปรายเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน จนรัฐบาลต้องนำไปปรับปรุงและแก้ไขปัญหาของประเทศชาติต่อไป

เมื่อถามว่า เชื่อว่าการอภิปรายครั้งนี้จะถึงขั้นล้มรัฐบาลได้หรือไม่ นายประพันธ์ กล่าวว่า คิดว่าถ้า สส.เอาข้อมูลในเชิงลึกมาอภิปรายและชี้ให้เห็นข้อบกพร่องผิดพลาดหรือพฤติกรรมที่ส่อไปในทางที่ผิดของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แม้ว่าจะไม่มีการลงมติไม่ไว้วางใจ แต่ในทางการเมืองคุณก็พ่ายแพ้ทางการเมืองได้ ถ้าประชาชนไม่เชื่อถือ ไม่ศรัทธา และจะกลายเป็นกระแสเผยแพร่ต่อไป รัฐบาลก็ต้องแสดงความรับผิดชอบ และเปลี่ยนวิธีการทำงาน ถ้าสส.สามารถชี้ข้อมูลให้เห็น โดยนำตัวเลขมาแสดง อย่างกรณีที่ดิน ส.ป.ก.4-01  เพราะมีกลุ่มทุนไปถือสิทธิ์ในที่ดินหลายสิบแปลง ซึ่งไม่ใช่หลายร้อยไร่แต่เป็นหลายหมื่นไร่ อยู่ในพื้นที่สวยงามทั้งนั้น  ถ้าสส. เอารายชื่อมาแสดงว่ามีบริษัทไหนบ้าง กลุ่มทุนไหนบ้าง รัฐบาลก็อยู่ไม่ได้ เรื่องการรับส่วยแม้จะเป็นความผิดในวงการตำรวจ แต่เรื่องส.ป.ก.4-01  เป็นความผิดของคนในวงการรัฐบาล

เมื่อถามถึง กรณีที่ฝ่ายรัฐบาลออกมาระบุห้ามฝ่ายค้านอภิปรายถึงนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถือว่าตีตนไปก่อนไข้หรือไม่ นายประพันธ์ กล่าวว่า ประเด็นนี้ตนไม่แน่ใจว่าพรรคก้าวไกล จะอภิปรายจริงจังแค่ไหน แต่ตนเชื่อว่าพรรคประชาธิปัตย์น่าจะทำหน้าที่เรื่องนี้ได้ดีกว่า

“ผมเห็นว่ายิ่งรัฐบาลออกมาปกป้องนายทักษิณ รัฐบาลก็จะเสียเอง เพราะขณะนี้คนก็มองจ้องไปที่รัฐบาลอยู่แล้วว่าเป็นผู้ทำลายหลักนิติธรรมเสียเอง ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่ง เพราะรัฐบาลได้แถลงนโยบายว่าจะปกป้องหลักนิติธรรมเพื่อให้เกิดความเชื่อถือ แต่ความจริงรัฐบาลเป็นไปเช่นนั้นหรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นที่ฝ่ายค้านอาจจะหยิบยกขึ้นมาอภิปรายถ้าลงลึกไปว่ารัฐบาลมีพฤติกรรมไปเอื้อประโยชน์ให้กับคนๆเดียว ก็จะเป็นปัญหาได้” นายประพันธ์ กล่าว.