คณะผู้นำจีนและไทยออกแถลงการณ์ร่วม ว่าด้วยการปฏิบัติงานเพื่อมุ่งสู่ประชาคมจีน-ไทย ซึ่งมีอนาคตร่วมกันอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนยิ่งขึ้น หลังจากเสร็จสิ้นการประชุมร่วมกัน เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2565

  1. นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 ในกรุงเทพฯ และเยือนไทยระหว่างวันที่ 17-19 พ.ย. 2565 ตามคำเชิญของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย โดยประธานาธิบดีสีได้หารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ ณ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2565 ซึ่งทั้งสองฝ่ายบรรลุฉันทามติสำคัญฉบับใหม่ ว่าด้วยการสร้างประชาคมจีน-ไทย ที่มีอนาคตร่วมกันอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนยิ่งขึ้น รวมถึงหารือการพัฒนาของความสัมพันธ์ทวิภาคีในปัจจุบันและอนาคต
  2. จีนแสดงความยินดีกับไทยที่ประสบความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 ซึ่งสะท้อนความพยายามร่วมกันของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในการผลักดันวิสัยทัศน์ปุตราจายา 2040 (Putrajaya Vision 2040) แห่งประชาคมเอเชียแปซิฟิก ที่เปิดกว้าง มีพลวัต ยืดหยุ่น และสงบสุข ผ่านความสามัคคีและความร่วมมือเพิ่มขึ้น
    ด้านไทยแสดงความยินดีกับจีนที่การประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน (ซีพีซี) ครั้งที่ 20 ประสบความสำเร็จลุล่วง และประธานาธิบดีสีจิ้นผิงที่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการใหญ่แห่งคณะกรรมการกลางพรรคฯ และประธานคณะกรรมาธิการการทหารส่วนกลาง (ซีเอ็มซี) อีกครั้ง รวมถึงแสดงความเชื่อมั่นว่า จีนจะบรรลุเป้าหมายแห่งศตวรรษประการที่สองของการสร้างจีนเป็นประเทศสังคมนิยมสมัยใหม่อันยิ่งใหญ่ในทุกด้าน และเดินหน้าการฟื้นฟูชาติจีนอย่างรอบด้านผ่านวิถีการสร้างความทันสมัยแบบจีน
  3. ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่าเนื่องในวาระครบรอบ 10 ปี การเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์รอบด้านจีน-ไทย การประกาศการสร้างประชาคมจีน-ไทย ที่มีอนาคตร่วมกันอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนยิ่งขึ้น จะกำหนดทิศทางของความสัมพันธ์ในอนาคต และเน้นย้ำว่า “จีนและไทยมีความใกล้ชิดดังครอบครัวเดียวกัน” ขณะทั้งสองประเทศเตรียมรับรองวาระครบรอบ 50 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตจีน-ไทย ในปี 2568
  4. ทั้งสองฝ่ายยืนยันความมุ่งมั่นขยับขยายความไว้วางใจ ความเข้าใจ และการสนับสนุนซึ่งกันและกันในประเด็นสำคัญต่าง ๆ ของหลักการเกี่ยวกับอธิปไตยของชาติ การรวมชาติ และบูรณภาพแห่งดินแดน โดยฝ่ายจีนเคารพเอกราช อธิปไตย และบูรณภาพแห่งดินแดนของไทย
    ขณะที่ฝ่ายไทยยึดมั่นนโยบายจีนเดียวอย่างแน่วแน่ และถือว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีนที่มิอาจแบ่งแยก รวมถึงรับรองว่ารัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นรัฐบาลตามกฎหมายเพียงหนึ่งเดียวที่เป็นตัวแทนของทั้งจีน โดยฝ่ายไทยสนับสนุนหลักการ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ของจีน
  5. ทั้งสองฝ่ายยกย่องชมเชยความก้าวหน้าของความร่วมมือเชิงปฏิบัติในทุกด้านของความสัมพันธ์จีน-ไทย แม้เผชิญความท้าทายจากการระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ซึ่งพิสูจน์ได้จากการแลกเปลี่ยนระดับสูงและการจัดการประชุมภายใต้กลไกความร่วมมือทวิภาคีอันหลากหลาย
    โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องการเสริมสร้างการสื่อสารเชิงยุทธศาสตร์ และเน้นย้ำความสำคัญของการปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์จีน-ไทย ระหว่างรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย (2565-2569) และแผนความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย ว่าด้วยการร่วมส่งเสริมแถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 ด้วยมุมมองของการเดินหน้าความร่วมมือเชิงปฏิบัติในทุกด้านและการสนับสนุนการสร้างประชาคมจีน-ไทย ที่มีอนาคตร่วมกันอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนยิ่งขึ้น
  6. ทั้งสองฝ่ายยืนยันความมุ่งมั่นบรรลุแผนระเบียงการพัฒนาการเชื่อมต่อจีน-ไทย-ลาว ที่เชื่อมต่อทางรถไฟจีน-ลาว เข้ากับระบบรางของไทย ซึ่งจะขยับขยายเครือข่ายโลจิสติกส์เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุน ตลอดจนการพัฒนาระดับอนุภูมิภาค ขณะเดียวกันทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการประสานงานระหว่างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ของไทย และเขตเศรษฐกิจกว่างตง-ฮ่องกง-มาเก๊า (จีบีเอ) รวมถึงเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี (วายอาร์ดี) ของจีน โดยเฉพาะความร่วมมือทางอุตสาหกรรมในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูงอย่างยานยนต์ไฟฟ้า
  7. ทั้งสองฝ่ายยืนยันความมุ่งมั่นร่วมมือด้านการฟื้นฟูสังคมและเศรษฐกิจในยุคหลังโรคโควิด-19 การบรรเทาผลกระทบจากภาวะขาลงของเศรษฐกิจโลกและการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการรักษาความมั่นคงทางพลังงานและอาหาร ผ่านการขยับขยายปริมาณการค้าทวิภาคีและการอำนวยความสะดวกทางการค้า ซึ่งครอบคลุมผลิตภัณฑ์การเกษตรและอื่น ๆ
    ขณะเดียวกัน ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญกับการขยับขยายความร่วมมือด้านต่าง ๆ อันสนับสนุนการพัฒนาในอนาคต เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล พลังงานสะอาด และเสถียรภาพของห่วงโซ่อุปทาน โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องการขยับขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง อาทิ เศรษฐกิจสีเขียวและปัญญาประดิษฐ์ เพื่อบรรลุการพัฒนาที่มีคุณภาพสูง
  8. ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติอันดีและประสบการณ์การบริหารประเทศ ในด้านที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน เช่น สุขภาพ การบรรเทาความยากจน และการพัฒนาชนบท และเสริมสร้างความร่วมมือของการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะการลักลอบค้ายาเสพติด การพนันออนไลน์ และการหลอกลวงฉ้อโกงทางโทรศัพท์
  9. ทั้งสองฝ่ายยืนยันความสำคัญของการขยับขยายการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนเพื่อส่งเสริมไมตรี มิตรภาพ และความเข้าใจข้ามวัฒนธรรม โดยทั้งสองฝ่ายแสดงความพึงพอใจต่อการกลับมาบริการเที่ยวบินระหว่างประเทศระหว่างจีนและไทย
    ขณะที่ฝ่ายไทยเฝ้ารอต้อนรับนักท่องเที่ยวจากจีนตามการผ่อนปรนมาตรการการเดินทางในจีน และขอบคุณฝ่ายจีนที่อนุญาตนักเรียนนักศึกษาไทยทยอยเดินทางเข้าจีนเพื่อศึกษาเล่าเรียนอย่างต่อเนื่อง โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องจะร่วมมือกันเพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพสูงและขยับขยายความร่วมมือด้านการศึกษา วัฒนธรรม สื่อและสารสนเทศ รวมถึงความร่วมมือระหว่างเมืองพี่เมืองน้องอย่างสอดคล้องกับหลักการของความเท่าเทียม การมีผลประโยชน์ร่วมกัน และความยั่งยืน
  10. ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องจะทำงานอย่างใกล้ชิดเพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือระดับอนุภูมิภาคและส่งเสริมการประสานงานระหว่างยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง ( ACMECS ) และกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ( LMC ) ด้วยมุมมองของการส่งเสริมการบูรณาการระดับอนุภูมิภาค การส่งเสริมการเชื่อมต่อ การค้าและการลงทุน
    ตลอดจนเสริมสร้างความแข็งแกร่งผ่านความร่วมมือด้านสุขภาพ ความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน ทรัพยากรน้ำ และการสร้างความเป็นดิจิทัล ซึ่งไทยยืนยันความพร้อมของการเป็นประธานร่วมของกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ในสมัยหน้า
  11. ทั้งสองฝ่ายจะปฏิบัติตามฉันทามติที่บรรลุ ณ การประชุมสุดยอดจีน-อาเซียน สมัยพิเศษเพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 30 ปี ความสัมพันธ์คู่เจรจาจีน-อาเซียน ตลอดจนยึดมั่นภูมิภาคนิยม และร่วมรักษาความเป็นกลางของอาเซียนในโครงสร้างระดับภูมิภาคที่มีการเปลี่ยนแปลง และเดินหน้าการเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์รอบด้านจีน-อาเซียน ผ่านการสร้างบ้านที่สงบสุข ปลอดภัยและมั่นคง มั่งคั่ง สวยงาม และรักใคร่ปรองดองกัน โดยทั้งสองฝ่ายจะส่งเสริมความร่วมมือที่ได้ประโยชน์ร่วมกันระหว่างแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ( บีอาร์ไอ ) และมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (AOIP) และรับรองการปฏิบัติตามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ( อาร์เซ็ป ) อย่างมีคุณภาพ
  12. ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญยิ่งยวดกับการเสริมสร้างความร่วมมือภายใต้แผนริเริ่มการพัฒนาระดับโลก ( จีดีไอ ) เพื่อเร่งแนวทางการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ( เอสดีจี ) ภายในปี 2573 โดยจีนยกย่องชมเชยเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว ( บีซีจี ) ที่ไทยนำเสนอ และพร้อมแสวงหาการเติบโตที่สมดุล ยั่งยืน และครอบคลุม ร่วมกับไทยโดยอ้างอิงปรัชญาการพัฒนาที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง
  13. ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่าจีนและไทยแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมวงกว้างในหลายด้านเพื่อรักษาสันติภาพและเสถียรภาพระดับภูมิภาคและระดับโลก และจะบุกเบิกความร่วมมือภายใต้กรอบการทำงานของแผนริเริ่มความมั่นคงระดับโลก ( จีเอสไอ ) รวมถึงรักษาการสื่อสารและการประสานงานอย่างใกล้ชิด เพื่อรับมือผลกระทบจากความท้าทายด้านความมั่นคงแบบดั้งเดิมและแบบใหม่ อาทิ การก่อการร้าย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความมั่นคงทางไซเบอร์
  14. ทั้งสองฝ่ายจะดำเนินความพยายามร่วมกันเพื่อส่งเสริมลัทธิพหุภาคีและความร่วมมือระหว่างประเทศในทุกระดับผ่านการเสริมสร้างการประสานงานและความร่วมมือภายใต้กรอบการทำงานของสหประชาชาติและกลไกพหุภาคีอื่น ๆ ด้วยมุมมองของการส่งเสริมสันติภาพ ความมั่นคง ความมั่งคั่ง และการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับทุกคน รวมถึงการรับมือภัยคุกคามและความท้าทายใหม่
  15. มีการลงนามเอกสารความร่วมมือด้านอื่น ๆ เช่น การลงทุน อีคอมเมิร์ซ และวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระหว่างการเดินทางเยือนครั้งนี้.

ข้อมูล : XINHUA

เครดิตภาพ : REUTERS